วัดราชาธิวาส

วัดราชาธิวาส วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา

วัดราชาธิวาส วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา

วัดราชาธิวาส เป็นวัดฝ่ายอรัญวาสีหรือวัดป่านอกจากมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามและมีเอกลักษณ์แล้วยังสำคัญต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยและพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง เพราะเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ประทับจำพรรษา และเป็นวัดต้นกำเนิดของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย

วัดราชาธิวาส เดิมมีชื่อว่าวัดสมอราย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1820 คู่กับวัดสมอแครงหรือวัดเทวราชกุญชร ไม่ปรากฏนามว่าใครเป็นผู้สร้าง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า-จุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ครั้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์พระราชทานนามใหม่ว่าวัดราชาธิวาส หมายถึง “วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา” เพราะเป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระอิสริยยศของรัชกาลที่ 2 ในขณะนั้น) ประทับจำพรรษา และรัชกาลที่ 4 ก็ประทับจำพรรษา ณ วัดแห่งนี้นานถึง 10 พรรษา

ในอดีตวัดราชาธิวาสมีสภาพเป็นป่า มีต้นไม้น้อยใหญ่ให้ความร่มรื่น เหมาะสำหรับการเจริญภาวนา รัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้น โดยพระสงฆ์ทุกรูปเคร่งครัดในพระธรรมวินัย เจริญภาวนามิได้ขาด

พระครูสุนทรธรรมพิทักษ์ พระวิทยากรประจำพระอุโบสถเล่าว่า เดิมพระอุโบสถของวัดราชาธิวาสมีรูปลักษณ์เหมือนพระอุโบสถทั่วไป แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 4 โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นผู้ออกแบบ เนื่องจากรัชกาลที่ 4 โปรดสถาปัตยกรรมทรงขอม รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างตามรูปแบบดังกล่าว โดยมีต้นแบบคือนครวัดของประเทศกัมพูชา

เดิมพระอุโบสถหลังนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระสัมพุทธพรรณี ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงออกแบบและสร้างไว้ ต่อมาพระองค์ทรงลาพระผนวชและเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวไปประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระครูสุนทรธรรมพิทักษ์อธิบายเพิ่มเติมว่า พระสัมพุทธพรรณีที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถหลังปัจจุบันเป็นองค์จำลองที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น แต่เนื่องจากพระอุโบสถนี้มีพระประธานองค์เดิมอยู่แล้ว พระองค์จึงมีพระราชดำริให้แบ่งพระอุโบสถเป็น 2 ส่วนส่วนหน้ามีพระสัมพุทธพรรณีจำลองเป็นพระประธาน ส่วนหลังเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานองค์เดิม ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานนามว่า พระสัมพุทธวัฒโนภาส

ด้านหลังพระสัมพุทธพรรณีจำลองก่อเป็นซุ้ม มีตราพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 1 - 5 ปรากฏอยู่ ส่วนใต้พุทธ-บัลลังก์บรรจุพระสรีรังคารของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หรือพระมเหสีในรัชกาลที่ 5 ส่วนใต้พุทธบัลลังก์ของพระสัมพุทธวัฒโนภาสบรรจุพระสรีรังคารของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

ภายในพระอุโบสถแสดงจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวส-สันดรชาดก 13 กัณฑ์ โดยผู้ร่างภาพคือ สมเด็จพระเจ้าบรม-วงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และผู้เขียนลงผนังคือ ศาสตราจารย์คาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) จิตรกรชาวอิตาลี (ผู้เขียนภาพเพดานโดมในพระที่นั่งอนันตสมาคม)โดยใช้เทคนิคการวาดภาพบนผนังปูนเปียก (Fresco) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ต้องใช้ความชำนาญมาก เพราะไม่สามารถลบหรือแก้ไขได้ แต่ข้อดีคือภาพจะคงทนอยู่ได้นับร้อย ๆ ปี

นอกจากพระอุโบสถแล้ว ยังมีสถานที่สำคัญอีก 3 แห่ง คือ พิพิธภัณฑ์มหาราชานุสรณ์ ร.4 ภายในแบ่งเป็น 5 ห้องได้แก่ อามิสบูชา จัดแสดงเครื่องเจียระไนและงานผ้าชิ้นสำคัญที่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ถวายแด่วัดราชาธิวาส ศรัทธามหาชน จัดแสดงเครื่องเคลือบ - ปั้นชาที่ผู้มีจิตศรัทธานำมาถวาย บรมวงศ์ทรงประเคน แสดงเครื่องถมปัดและพระรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ เครื่องสังเค็ดแสดงของที่ระลึกในงานพระเมรุของสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา หรือเจ้าจอมมารดาเปี่ยม สุดท้าย คัมภีร์ใบลาน แสดงคัมภีร์โบราณที่ยังคงสภาพเกือบสมบูรณ์แบบ

อีกแห่งคือ พระตำหนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 4 ครั้งประทับจำพรรษา ณ วัดแห่งนี้ สุดท้าย ศาลาการเปรียญ สร้างจากไม้สักทองทั้งหลังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

วัดราชาธิวาส นับเป็นวัดต้นแบบที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย เป็นมรดกอันทรงคุณค่าที่ชนรุ่นหลังควรรักษาไว้อย่างยิ่ง 


วัดราชาธิวาส

เลขที่ 3 ถนนสามเสน 9 แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ

 โทร. 0-2241-4679


บทความที่น่าสนใจ

วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม ธรรมะ ธรรมชาติ และความเรียบง่าย

ตำนานพระแท่นศิลาอาสน์ ณ วัดพระแท่นศิลาอาสน์แห่งเมืองลับแล

วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดสุดท้ายในรัชกาลที่ 4

ชาวไทยประทับใจ!!! แองเจลีนาไหว้พระ ที่วัดไทย พร้อมลูกๆ

วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.