สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานคติธรรมวันเด็ก 2561

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานคติธรรมวันเด็ก 2561

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้ประทานคติธรรมเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ พ.ศ.2561 เพื่อจัดพิมพ์ในหนังสือวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2561 ใจความว่า

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนวิธีทำให้บุคคลได้ชื่อว่าเป็นคนดี เป็นที่รักของผู้คนทั่วไปไว้วิธีหนึ่งเรียกว่า “อัตถจริยา” หมายถึง การบำเพ็ญประโยชน์ การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ช่วยเหลือ ทำงาน สร้างสรรค์ ด้วยความตั้งใจอย่างดีเลิศ ส่งเสริมให้เพื่อนสมาชิกในสังคมประพฤติดีงาม และมีสติปัญญาอัตถจริยาดังกล่าวนี้ ปัจจุบันนิยมเรียกว่า “จิตอาสา” ซึ่งถ้าพิจารณาอย่างผิวเผิน อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่า จิตอาสากำลังจำต้องเหน็ดเหนื่อย หรือเผชิญทุกข์กว่าคนที่ไม่เป็นจิตอาสา แต่ถ้าพิเคราะห์ในแง่มุมกลับกัน แท้จริงแล้วคนทำงานจิตอาสาที่แท้จริงแล้ว คนทำงานจิตอาสาด้วยใจจริงย่อมมีความรู้สึกเบิกบาน ยิ่งกว่าคนที่ไม่ทำงานจิตอาสา เพราะจิตอาสาที่แท้จริงจะไม่คิดว่าตนกำลังสูญเสีย พละกำลังหรือประโยชน์ใดๆ โดยไร้ค่า หากกลับเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์ คือ ได้ความสุขใจ ชื่นใจที่เห็นความสุขของผู้อื่น และได้ภาคภูมิใจว่าเป็นผู้สร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม

เด็กและเยาวชนเป็นกำลังสำคัญที่จะพาบ้านเมืองไทยให้รุ่งเรืองสืบไป จึงขอให้ผู้ใหญ่เร่งปลูกฝังและสร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชน เป็นผู้หนักแน่นในคุณธรรม ข้ออัตถจริยา และขอให้เด็กๆ รู้สึกสนุกสนาน เบิกบานทุกครั้ง ที่ได้ทำประโยชน์ จงอย่ายอมแพ้แก่ความรู้สึกเหน็ดเหนื่อย หรือยากลำบากขอให้ระลึกไว้เสมอว่า กำลังเล็กๆของเด็กๆ อย่างเรานี้แล มีอานุภาพสูงยิ่งที่จะช่วยสร้างสรรค์ประเทศชาติ ให้เจริญก้าวหน้าอย่ามัวรั้งรอ ผัดผ่อน ให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่เสียก่อน ค่อยเริ่มทำความดี เพราะเมื่อนั้นเด็กๆจะเผชิญกับการทำความชั่วจนกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวและไม่รู้วิธีทำตนเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ในที่สุด

ขอให้เด็กและเยาวชนทุกคนมีกำลังใจที่จะบำเพ็ญประโยชน์ด้วยความสุขใจนับแต่บัดนี้ เป็นต้นไป ขอจงรักษาคุณลักษณะจิตอาสาอย่างสมบูรณ์ไว้ตลอดกาล เพื่ออนาคตของตนเองและสังคมไทยของเราทุกคน

คลิกเลข 2 เพื่ออ่าน 10 เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20

 

10 เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20

1. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช สิริอายุ 89 ปี พรรษา 68 ทรงมีพระนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2470 พระองค์เป็นชาวราชบุรีโดยกำเนิด

2.พระองค์ศึกษาจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ต.โคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี และมาศึกษาต่อจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  ที่โรงเรียนประชาบาลวัดพเนินพลู  จนเมื่อพระชันษาครบ 10 ปี (พ.ศ.2480) ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดสัตตนารถปริวัตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นันโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้นท่านย้ายไปจำพรรษาที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย จ.ราชบุรี เพื่อเรียนพระปริยัติธรรม

3. พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพและสนพระทัยศึกษาพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยสอบได้ตามลำดับดังนี้ เมื่อพ.ศ.2483 ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ.2484 ทรงสอบได้นักธรรมชั้นโท พ.ศ.2486 ทรงสอบได้นักธรรมชั้นเอกและได้เปรียญธรรม 3 ประโยค และเมื่อพ.ศ. 2488 ทรงสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค

4.จากนั้นในปีพ.ศ.2490 ทรงได้ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตากโร) และได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2491 ณ มหาพัทธสีมาวัดราชบพิธฯ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตากโร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

5.หลังอุปสมบทแล้ว ทรงได้ศึกษาพระปริยัติธรรมที่สำนักเรียนวัดราชบพิตรฯ และสามารถสอบได้เปรียญธรรม 5     ประโยคเมื่อพ.ศ.2491 และสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยคเมื่อพ.ศ.2493 ต่อมาทรงเข้าศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 และเรียนจบปริญญาตรี สาขาศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปีพ.ศ. 2500

6. พ.ศ.2509 ทรงเข้าอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศรุ่นแรก ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย

7. ในปีพ.ศ.2516 ทรงเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย นับเป็นพระธรรมทูตรุ่นแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุต ที่เดินทางไปวางรากฐานพระพุทธศาสนาในประเทศนี้

8. ในปี พ.ศ.2551 พระองค์ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม

9.พระองค์ทรงเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ฝั้น อาจาโรที่มีสมณศักดิ์สูงสุดในปัจจุบัน คือเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ทรงเคารพศรัทธาหลวงปู่ฝั้นมาก

10. ความสมถะ ใจดี และมีเมตตาสูงของพระองค์ท่าน ทำให้ลูกศิษย์ใกล้ชิดกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “ท่านเป็นพระที่กราบได้ อย่างสนิทใจ ท่านเจ้าระเบียบ และมักกำชับพระเณรอยู่เสมอว่า ให้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ไม่ให้รับเงิน ไม่ให้เอาเงินใส่ย่าม ห้ามไปไหนมาไหนรูปเดียว และให้ระมัดระวังกิริยามารยาท” แม้จะเป็นพระผู้ใหญ่ แต่ก็ไม่เคยถือพระองค์กับญาติโยมที่มาทำบุญเลย ทรงมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย กุฏิที่อยู่เป็นเพียงห้องเล็กๆ ทรงตรัสเสมอว่า เป็นสมเด็จฯก็นั่งรถแท็กซี่หรือนั่งรถตุ๊กๆได้

ข้อมูลอ้างอิง
มติชนออนไลน์ www.matichon.co.th
ไทยรัฐออนไลน์ www.thairath.co.th
สำนักข่าวไทย อสมท.
เนชั่นทีวี
อมรินทร์ทีวี

แหล่งที่มา : นิตยสาร Secret
เรียบเรียง ธันยาภัทร์ รัตนกุล ภาพ พีระพันธุ์ วิจิตรไกรวิน


บทความน่าสนใจ

พระปุจฉา – วิสัชนาธรรม ระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวัฑฺฒโน)

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า อดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.