วัดมกุฏกษัตริยาราม

วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดสุดท้ายในรัชกาลที่ 4

วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดสุดท้ายในรัชกาลที่ 4

วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นพระอารามสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2411 ก่อนเสด็จสวรรคตเพียง 99 วัน

วัดมกุฏกษัตริยาราม มีชื่อเต็มว่า วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งพระราชหฤทัยให้วัดนี้เป็นวัดส่วนพระองค์ จึงพระราชทานชื่อว่า มกุฏกษัตริยาราม แปลว่า พระอารามของกษัตริย์ที่มีพระนามว่า “มงกุฎ” (พระนามเดิมของรัชกาลที่ 4 คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ) เพื่อเคียงคู่กับวัดโสมนัสวิหารซึ่งเป็นวัดที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างเพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสีพระองค์แรกของพระองค์

 

วัดมกุฏกษัตริยาราม

 

พระปลัดเอกสิษฐ์มงคล มหาวีโร พระอาจารย์ประจำวัดมกุฏกษัตริยารามกล่าวว่าเนื่องจากสมัยก่อนชาวบ้านไม่ค่อยกล้าเรียกชื่อของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเท่าไรนักช่วงแรกพระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ใช้ชื่อว่าวัดพระนามบัญญัติเป็นการชั่วคราวเมื่อสิ้นรัชกาลจึงใช้ชื่อว่าวัดมกุฏกษัตริยาราม”

ทั้งนี้สถาปัตยกรรมภายในวัด เช่น ซุ้มประตู หน้าต่าง ซุ้มเรือนแก้ว จะปรากฏตราสัญลักษณ์คือ พระมหาพิชัยมงกุฎ อันหมายถึงเป็นพระอารามที่ทรงสร้างแทนรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งไม่เจาะจงว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ใด นอกจากนี้บริเวณใกล้กับพระอุโบสถยังมีพระเจดีย์ทรงลังกา ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ยอดพระเจดีย์ครอบด้วยพระมหาพิชัยมงกุฎจำลองขนาดใหญ่กว่าองค์จริง 3 เท่า ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของวัดแห่งนี้

 

 

พระปลัดเอกสิษฐ์มงคลกล่าวต่อว่า สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นอีกอย่างคือ ช่อฟ้ามีลักษณะเป็นพญานาคปากนกแก้ว สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเดิมล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ทรงต้องการให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระนามเดิมคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ) พระราชโอรสในพระองค์ครองวัดแห่งนี้ จึงใช้พญานาคเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ แต่ก็มีเหตุให้ไม่เป็นดังที่คาดเพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารพระองค์ก่อนสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสจึงต้องครองวัดบวรนิเวศวิหารแทน นอกจากนี้บริเวณผนังระหว่างกรอบหน้าต่างภายในพระอุโบสถยังปรากฏภาพเขียนประวัติของพุทธสาวิกา 9 องค์ เช่นพระปฏาจาราเถรี พระอุบลวรรณาเถรี เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาอีกด้วย”

นอกจากวัดมกุฏกษัตริยารามจะมีความสำคัญและมีสถาปัตยกรรมที่งดงามแล้ววัดแห่งนี้ยังมีโครงการเผยแผ่ธรรม ปลูกฝังศีลธรรมอันดีสู่เยาวชนในชุมชนใกล้เคียงอีกด้วย

 

วัดมกุฏกษัตริยาราม

 

พระครูวิมลสุตวัฒน์ (ณรงค์ ชยาลังกาโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามกล่าวว่า วัดมกุฏกษัตริยารามเริ่มจัดโครงการเผยแผ่ธรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นหลัก เนื่องจากชุมชนใกล้เคียงเป็นชุมชนแออัด เด็กและเยาวชนบางคนประสบปัญหาครอบครัวหรือพัวพันกับยาเสพติด จึงต้องการดึงเยาวชนเข้าวัดเพื่อจะได้มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ วัดจึงร่วมมือกับโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริยารามและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จัดกิจกรรมปลูกฝังศีลธรรมให้เยาวชน

กิจกรรมที่จัดเป็นประจำมี 3 กิจกรรม คือ หนึ่งการนำนักเรียนมาสวดมนต์ทำวัตรเย็น พูดคุยและฟังธรรมจากพระอาจารย์ สอง การจัดค่ายพุทธบุตรปฏิบัติธรรม 2 คืน 3 วัน และสามการให้พระสงฆ์เข้าไปสอนนักเรียนในวิชาธรรมศึกษา 1 สัปดาห์ต่อ 1 คาบ ต่อ 1 ห้องเรียน โดยทั้ง 3 กิจกรรมนี้เน้นการสร้างความคุ้นเคยกับเยาวชน เพื่อให้พวกเขาเปิดใจบอกเล่าเรื่องราวชีวิตที่เขาเผชิญ เพราะเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ต้องการคนเข้าใจ ฉะนั้นเราก็ต้องเปิดใจรับฟังเขาก่อน และสุดท้ายเขาก็จะเปิดใจรับฟังเราเช่นกัน เมื่อต่างคนต่างเปิดใจแล้ว เราจึงสอดแทรกหลักธรรมเข้าไปปลูกฝังศีลธรรมให้พวกเขา

โดยการจัดกิจกรรมลักษณะนี้ อกจากจะได้เยาวชนที่ดีกลับคืนสู่สังคมแล้ว เรายังได้ศาสนทายาทเพิ่มเติม เพราะทางวัดเน้นให้พระหนุ่ม เณรน้อยเป็นผู้คิดและจัดกิจกรรมเท่ากับว่าเราได้ฝึกพวกเขาไปในตัว

เราจัดโครงการเผยแผ่ทั้งหมดก็หวังแค่ให้เยาวชนได้รับสิ่งดี และมีความสุขแค่ได้เห็นรอยยิ้มของเด็ก เด็กดีมีศีลธรรมเพียงเท่านี้ก็พอแล้ว”

 

วัดมกุฏกษัตริยาราม

 

วัดมกุฏกษัตริยารามนอกจากจะเป็นศาสนสถานสำคัญที่บอกเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ด้วยสถาปัตยกรรมอันงดงามและทรงคุณค่าแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางพัฒนาจิตใจคนในชุมชนอีกด้วย จึงนับได้ว่าวัดแห่งนี้คือ “มรดกทางธรรม” ที่รัชกาลที่ 4 พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง

 

วัดมกุฏกษัตริยาราม ถนนกรุงเกษม แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

 

ที่มาและภาพ : นิตยสารซีเคร็ต


บทความน่าสนใจ

วัดโสมนัสวิหารราชวรวิหาร แหล่งปฏิบัติธรรม ชำระจิตใจ กลางกรุง

กิจกรรม ไหว้พระ 11 วัด รอบ เกาะรัตนโกสินทร์ สายบุญ ห้ามพลาด!!!

วัดระฆัง วัดสมเด็จโต พรหมรังสี – วัดที่ใครๆ ก็อยากไป

ชมสถาปัตยกรรมสมัย ร.4 ที่ วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร

“ขัดห้องน้ำวัด” งานปิดทองหลังพระ ที่มีเรื่องราวมากกว่าคุณคิด

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.