ฝนหลวง ขององค์พระภูมินทร์

ฝนหลวง ขององค์พระภูมินทร์

ฝนหลวง ขององค์พระภูมินทร์

“เงยหน้าดูท้องฟ้ามีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ลงมาให้ได้ ก็เคยได้ยินเรื่องทาฝน ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทาได้ มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือ ทำได้…”  

                                                 พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

จากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จเยี่ยมราษฏรในทุกภูมิภาค ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาความแห้งแล้ง การขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ในการทำการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูกาลเพาะปลูก   เกษตรกรจะประสบความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกล และพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสังเกตเห็นว่ามีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้าแต่ไม่สามารถก่อตัวรวมกัน จนเกิดเป็นฝนได้ เป็นเหตุให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระยะยาว ทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงฤดูฝน พระองค์ทรงคิดว่าน่าจะมีมาตรการทางวิทยาศาสตร์ ทรงเชื่อมั่นว่า ด้วยลักษณะของกาลอากาศ ภูมิอากาศ และภูมิประเทศของประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน อยู่ในอิทธิพลของฤดูมรสุมของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นฤดูฝน  และเป็นฤดูเพาะปลูกประจำปีของประเทศไทย สามารถดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดเป็นฝนตกได้

ในปี พ.ศ.2498 จึงทรงพระราชดำริค้นหาวิธีการที่จะทำให้เกิดฝนตก นอกเหนือที่จะได้รับจากธรรมชาติ  ดังนั้นในปี พ.ศ. 2499 จึงทรงพระราชทานแนวทางการทำฝนหลวง ให้หม่อมราชวงศ์ เทพฤทธิ์  เทวกุล รับไปดำเนินการศึกษาวิจัย  และการพัฒนากรรมวิธีการทำฝนหลวงให้บังเกิดผลโดยเร็ว

จากการวิจัยค้นคว้าทดลอง ก็ได้วิธีที่เหมาะสมในการปฏิบัติการทำฝนหลวง ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำริเพื่อให้นำไปทดสอบ ทดลองหลายประการจนสามารถนำไปใช้ได้ดี การทำฝนเทียมหรือฝนหลวงที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนี้ใช้วิธีการโปรยสารเคมีทางเครื่องบินตามสภาวะต่างๆ ขั้นแรกเพื่อรวบรวมไอน้ำในบรรยากาศให้รวมตัวกันเป็นเมฆ  จากนั้นจึงสร้างเมฆ  หรือเลี้ยงให้เจริญเติบโต และขั้นสุดท้ายจึงเป็นการโจมตีกลุ่มเมฆเหล่านั้น ให้ตกเป็นฝน ในบริเวณพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งวิธีในการทำฝนตามขั้นตอนดังกล่าวนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานขั้นตอนในการทำฝนไว้ว่า ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน โจมตี

ฝนหลวงจึงถือได้ว่าเป็นการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของราษฎรอย่างแท้จริง

เรียบเรียงโดย : chalita

ภาพโดย : tnews, welovethaiking

บทความที่น่าสนใจ

 

ฝนหลวง หยาดน้ำพระราชหฤทัยจากฟ้าสู่ผืนดิน

ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ : พระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.