พระมหากรุณาธิคุณ

เนื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ต่อการสาธารณสุขไทย “ยามเย็น”

เนื่องด้วย พระมหากรุณาธิคุณ ต่อการสาธารณสุขไทย

เนื่องด้วย พระมหากรุณาธิคุณ

ผมเคยทำงานที่คลินิกรักษาผู้ป่วยวัณโรคปอดอยู่ระยะหนึ่ง ทั้งนี้ยังเคยนำเรื่องราวความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย มาเขียนไว้ในบทความหลายครั้ง เพราะต้องการให้กำลังใจผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นพิเศษ

การทำงานรักษาผู้ป่วยวัณโรคจัดเป็นงานหนัก เพราะวัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรังและรุนแรง ต้องรักษานานหลายเดือนถึงเป็นปี นอกจากนี้ยาที่ใช้ในการรักษาวัณโรคก็รับประทานยากเพราะมีหลายชนิด แต่ละชนิดต้องรับประทานหลายเม็ด ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดการรักษาอีกด้วย ทำให้บุคลากรทางการแพทย์รวมถึงตัวผู้ป่วยมักท้อแท้จนล้มเลิกกระบวนการรักษาไปหลายคน อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าการต่อสู้กับโรคร้ายชนิดนี้ของประเทศไทยก้าวหน้าไปไกล เราหวังผลการรักษาได้ถึงขั้นที่ผู้ป่วยทุกรายที่ได้รับยาต้องหายขาดทุกคนและไม่แพร่เชื้ออีก

พวกเราหลายคนอาจลืมไปแล้วว่าเบื้องหลังความสำเร็จในการรักษาโรคนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบทเพลงเพลงหนึ่งซึ่งนับเป็นตัวจุดชนวนให้ทุกคนเห็นความสำคัญในการรักษาวัณโรค เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่เราคุ้นหูกันดี เพลงนี้ขึ้นต้นว่า “แดดรอนรอนเมื่อทินกรจะลับเหลี่ยมเมฆา ทอแสงเรืองอร่ามช่างงามตา ในนภาสลับจับอัมพร” ใช่แล้วครับ เพลงนี้มีชื่อว่า “ยามเย็น” นั่นเอง มีบทความที่น่าสนใจที่ได้กล่าวถึงที่มาและจุดประสงค์ของเพลงนี้ รวมถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชต่อการรักษาวัณโรคของประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจมาก ผมขออนุญาตนำมาเผยแพร่เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ไว้ดังนี้

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระ-ราชหฤทัยและมีบทบาทสำคัญยิ่งต่องานสาธารณสุขของชาติ รวมทั้งงานป้องกันและรักษาโรคปอดมาเป็นเวลานานกว่า 50 ปี พระองค์ท่านทรงทราบว่าชาวไทยเป็นวัณโรคกันมาก อีกทั้งไม่มีความรู้ในการดูแลรักษา สุขภาพอนามัยและขาดแคลนยารักษาโรค จึงพระราชทานพระบรมราชาอนุญาตให้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ ‘ยามเย็น’ ซึ่งเป็นเพลงแรกที่พระราชทานให้วงดนตรีนำไปบรรเลงในงานแสดงดนตรีการกุศลเพื่อหารายได้สมทบทุนช่วยเหลือโครงการรณรงค์ต่อต้านวัณโรคแห่งชาติของสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์…เพื่อนำรายได้สมทบทุนในการต่อต้านโรคร้ายดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2489และได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือกิจกรรมต่อต้านวัณโรคเสมอมา

“ในปี พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกมหิดลวงศานุสรณ์พระราชทานให้สภากาชาดไทยเพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการในการผลิตวัคซีนบีซีจีป้องกันวัณโรค ซึ่งต่อมาองค์การอนามัยโลกรับรองคุณภาพวัคซีนบีซีจีที่ผลิตในประเทศไทย พร้อมกันนี้กองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ยังได้นำวัคซีนดังกล่าวไปใช้ในต่างประเทศอีกด้วย

“ขณะเสด็จฯไปประทับในสวิตเซอร์แลนด์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสวงหาตัวยาใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคโดยทรงสั่งซื้อยาพาราแอมมิไนซาลิไซลิกแอซิดหรือพีเอเอส ซึ่งเป็นยารักษาวัณโรคขนานที่สอง แต่ในขณะนั้นยังไม่แพร่หลายนัก และทรงส่งยาดังกล่าวมารักษาผู้ป่วยในประเทศไทยในเวลาต่อมาค้นพบว่า เมื่อนำยาขนานนี้ไปใช้ร่วมกับยาสเตร็พโตมัยซินซึ่งเป็นยารักษาโรคขนานแรกที่ค้นพบก็สามารถช่วยป้องกันหรือชะลอการดื้อยาของเชื้อวัณโรคได้”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสอนเสมอว่า สิ่งหนึ่งที่จะทำให้การทำงานก้าวหน้าไปได้ไกลโดยผู้ปฏิบัติงานไม่ท้อถอยก็คือ การมีจิตใจเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง ดังพระบรมราโชวาทที่ว่า “ผู้ที่มีจิตใจเมตตากรุณา หมายถึงการที่จะมีจิตใจเห็นใจผู้อื่น มีจิตใจที่จะเห็นถึงความเดือดร้อนที่เราจะต้องช่วยเหลือ จิตใจนี้ก็เป็นจิตใจที่มีกำลังมาก ทั้งอ่อนโยนมาก จิตใจนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้งานการทุกอย่างก้าวหน้าได้”

“แดดรอนรอน หากทินกรจะลาโลกไปไกล ความรักเราคงอยู่คู่กันไป ในหัวใจคงอยู่คู่เชยชม” ผมมักแนะนำให้เพื่อนบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยวัณโรคลองเปิดเพลงนี้ฟังและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านอยู่บ่อย ๆ

เพราะนอกจากจะทำให้มีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคร้ายโดยไม่ท้อถอย แล้วเนื้อความในบทเพลงยังบอกเราเสมอด้วยนะครับว่า แม้พระอาทิตย์จะลาจากโลกใบนี้ไปไกลแล้ว แต่ความรักและความเมตตาที่มีให้กันนั้นยังคงอยู่คู่กันไปมิรู้ลืม

ขอขอบคุณ บทความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานป้องกันและรักษาโรคปอด ตีพิมพ์ในวารสารวัณโรคและโรคทรวงอก ในปี พ.ศ.2539 ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร-มหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี โดยสงคราม ทรัพย์เจริญพ.บ., พ.ด. (กิตติมศักดิ์)

เรื่อง นายแพทย์ชวโรจน์ เกียรติกำพล


บทความน่าสนใจ

“ประมงรำลึก สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ครั้งที่ 6

หน่วยทันตกรรมพระราชทาน น้ำพระราชหฤทัยของในหลวงรัชกาลที่ 9

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.