วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร

ชมสถาปัตยกรรมสมัย ร.4 ที่ วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร

ชมสถาปัตยกรรมสมัย ร.4 ที่ วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร

วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สถาปนาเป็นพุทธสถานสำหรับพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสีหรือวัดป่า มุ่งเน้นการปฏิบัติวิปัสสนาธุระ เคียงคู่กับวัดบวรนิเวศวิหารที่เป็นฝ่ายคามวาสีหรือวัดในเมือง มุ่งศึกษาและเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า

 

กว่าจะเป็นวัดบรมนิวาส

เดิมวัดบรมนิวาสมีนามว่า วัดบรมสุขไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างแน่ชัด มีเพียงตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ผู้สร้างพระอารามน่าจะเป็นขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์และราชทินนามว่า “พระอินทรเดชะ” นามว่า “อาด” หรือ “อาจ” ท่านถึงแก่กรรมในสงครามเขมรทายาทจึงน้อมเกล้าฯถวายวัดไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ของรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งยังทรงพระผนวชและประทับจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาพระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ก่อสร้างสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ตามมาสันนิษฐานว่าอาจเริ่มก่อสร้างวัดบรมนิวาสอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2377

วัดบรมนิวาสได้ชื่อว่าเป็นวัดคู่กับวัดบวรนิเวศวิหาร เนื่องจากภาพจิตรกรรมบริเวณผนังภายในพระอุโบสถของวัดทั้งสองแห่งนั้นมีเนื้อหาและรูปแบบใกล้เคียงกัน จึงสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4 ที่จะทรงสถาปนาวัดบรมนิวาสเป็นพระอารามฝ่ายอรัญวาสี (เนื่องจากตั้งอยู่ในบริเวณที่เงียบสงบเหมาะสำหรับเจริญกรรมฐาน) คู่กับวัดบวรนิเวศวิหารที่เป็นพระอารามฝ่ายคามวาสี และหากรัชกาลที่ 4 เสด็จฯไปถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระภิกษุที่วัดบรมนิวาสก็จะได้รับภัตตาหารนั้นเช่นเดียวกัน

 

วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร

 

 

ปริศนาธรรมบนฝาผนัง

จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถของวัดบรมนิวาสมาจากฝีมือของจิตรกรชั้นครูอย่าง “ขรัวอินโข่ง” ผู้บุกเบิกการเขียนภาพตามแบบตะวันตก คือ เน้นวาดภาพเหมือนจริง (Realistic Art) มีระยะใกล้ไกล ต่างจากจิตรกรรมไทยแบบเดิมที่ไม่คำนึงถึงสัดส่วนหรือมิติ แต่เน้นความงามเป็นสำคัญ

หากลองสังเกตภาพบุคคลที่ปรากฏบนฝาผนังวัดบรมนิวาสจะพบว่าล้วนมีลักษณะคล้ายชาวตะวันตก รวมทั้งอาคารบ้านเรือนก็เป็นรูปแบบตะวันตกเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 ชาวตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในสยามประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ทุกภาพภายในพระอุโบสถยังแฝงไปด้วยปริศนาธรรมมากมาย ภาพที่โดดเด่นคือ ภาพผู้คนยืนล้อมรอบดอกบัวกลางสระน้ำ ตีความได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงเหมือนดอกบัวที่มีกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วสารทิศ กลิ่นของดอกบัวเหมือนพระธรรม ส่วนผู้คนและหมู่แมลงที่มาชมดอกบัวเปรียบดั่งพระอริยเจ้าซึ่งได้มรรคผล

อีกภาพหนึ่งคือ ภาพเรือสำเภาที่โลดแล่นอยู่กลางทะเล ตีความได้ว่า นิพพานเหมือนฟากฝั่งน้ำที่ปราศจากภัย แต่ว่ายไปถึงได้ยากเพราะมีมหาสมุทรกั้นอยู่และมีอันตรายหลายประการ พระพุทธเจ้าทรงเหมือนผู้สร้างเรือ ขนคนข้ามไปถึงฝั่ง เรือเปรียบดั่งข้อปฏิบัติส่วนผู้ที่ลงเรือข้ามฝั่งสำเร็จเหมือนพระอริยเจ้าซึ่งได้มรรคผล

 

วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร

 

 

ระบบสุริยจักรวาลภาพแรกของประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระอัจฉริยภาพในหลายด้าน รวมถึงทรงเชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ และภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถของวัดบรมนิวาสก็ได้สะท้อนพระอัจฉริยภาพด้านดังกล่าวของพระองค์ไว้ด้วย

หากมองไปด้านหลังพระประธานในพระอุโบสถจะเห็นภาพของระบบสุริยจักรวาล สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นภาพแรกในประเทศไทย ภาพที่โดดเด่นคือ ภาพของดวงอาทิตย์ที่มีรัศมีเปลวเพลิงสีส้มเจิดจ้าเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ต่างจากคติความเชื่อเดิมที่ระบุไว้ว่า ศูนย์กลางของจักรวาลคือเขาพระสุเมรุ แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในเวลานั้น

พระครูปลัดวินัยวัฒน์ (กิตติ ธีรวีโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส เล่าว่านอกเหนือจากดวงอาทิตย์ธรรมดาที่ปรากฏด้านหลังพระประธานแล้ว หากมองเลยขึ้นไปจะพบกับดวงอาทิตย์อีกดวงหนึ่งที่กำลังเกิดสุริยุปราคา ภาพนี้ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงความรู้ทางดาราศาสตร์เท่านั้น ยังมีคติธรรมซ่อนไว้เช่นกัน

“ดวงอาทิตย์เปรียบเสมือนจิตของมนุษย์ที่สว่างไสวงดงาม ขณะที่เงามืดของสุริยุปราคาเปรียบเสมือนกิเลสที่เข้ามาครอบงำจิตใจของมนุษย์ แม้จะมีกิเลสมาครอบงำมากหรือนานเท่าใด แต่แก่นแท้แห่งความสว่างไสวก็ยังคงอยู่ หากใครสามารถกะเทาะเปลือกของกิเลสนั้นได้ก็จะกลับมามีจิตใจที่งดงามและสว่างไสวได้อีกครั้ง”

ศิลปะที่ปรากฏในวัดบรมนิวาสไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความประณีตของช่างศิลป์โบราณเท่านั้น แต่ยังแฝงไปด้วยคติธรรมที่แยบคาย ทำให้รู้ว่าบรรพบุรุษของเราได้ฝากคำสอนอันทรงคุณค่าไว้มากมายแม้พวกเขาจะจากไปแล้ว แต่ชนรุ่นหลังก็ยังสามารถเรียนรู้ความดีงามเหล่านั้นได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

หากเดินไปยังพระเจดีย์จะพบบานประตูประดับมุก ฝีมือช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ 4 บานประดับมุกนี้แม้มีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่นับว่ามีความสำคัญมาก เพราะมีสัญลักษณ์ประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระอัครมเหสีพระองค์แรก คือ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีปรากฏอยู่ นับเป็นงานศิลป์ชิ้นสำคัญที่หาชมได้ยากยิ่งในปัจจุบัน

 

วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร

 

 


วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร

2 พระราม 6 ซอย 1 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

ข้อมูลเพิ่มเติม 0-2214-0708

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์


ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  Pitchaya

ภาพ  วรวุฒิ วิชาธร

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความที่น่าสนใจ

เที่ยว “เมืองคอน” ชมความแน่นแฟ้นวัฒนธรรมเก่าแก่ และมนต์เสน่ห์แห่ง 3 อำเภอ

ศึกษาธรรมชาติ เที่ยวตามรอยพ่อหลวง ร.9 ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี

ขัดห้องน้ำวัด งานปิดทองหลังพระ ที่มีเรื่องราวมากกว่าคุณคิด

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.