บุญก็ไม่เอา

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: คำว่า “บุญก็ไม่เอา บาปก็ไม่เอา” หมายความว่าอย่างไร

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: คำว่า “บุญก็ไม่เอา บาปก็ไม่เอา” หมายความว่าอย่างไร

ถาม : คำว่า “บุญก็ไม่เอา บาปก็ไม่เอา” หมายความว่าอย่างไรคะ แล้วคนที่ทำบุญจะนิพพานได้อย่างไรคะ

ดร.พระมหาบวรวิทย์ รตนโชโตตอบปัญหานี้ไว้ว่า

ตอบ : ผู้ที่บุญก็ไม่เอา บาปก็ไม่เอา มีความหมาย 2 ประเภทกล่าวคือ ประเภทแรก เป็นผู้ที่ไม่ทำทั้งบุญ ไม่ทำทั้งบาป คือไม่ทำอะไรทั้งสิ้นในทางกายและคำพูดที่แสดงให้เห็นได้ แต่ในทางจิตใจแล้วก็ไม่แน่ เพราะตัวมโนกรรมมันเกิดขึ้นได้ง่ายอาจคิดดี คิดไม่ดีก็เป็นได้ ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ย่อมมีโอกาสเพลี่ยงพล้ำได้ บางทีถึงกับเข้าใจผิดโดยเข้าข้างตัวเองว่าเดินทางสายกลาง พฤติกรรมแบบนี้เป็นลักษณะของผู้มีชีวิตประมาท หากไม่ได้รับการฝึกฝนจิตมาดีพอ ไม่ได้ฝึกสติปัญญามาดีพอ เมื่อมีอารมณ์เข้ากระทบก็ย่อมจะควบคุมอารมณ์ไม่อยู่

ส่วนประเภทที่สองนั้นเป็นลักษณะของพระอรหันต์ที่ท่านมีจิตมั่นคงแข็งแกร่ง อาจหาญ มีสติปัญญามั่นคงแจ่มชัด พิจารณาเห็นสังขารและสภาพธรรมทั้งหลายล้วนตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง  อนัตตา ล้วนเกิดขึ้นแล้วดับไปทั้งสิ้น จึงไม่มีความกังวลห่วงหาอาลัยอาวรณ์มีจิตที่ผ่องใสบริสุทธิ์ อานิสงส์แห่งการทำคุณงามความดีของท่านที่ก่อให้เกิดเป็นบุญ  จึงไม่มีผลทำให้ใจของท่านพองโตและชื่นชมยินดีกับผลบุญนั้น คือท่านวางได้ ละได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นบุญเหล่านั้น ส่วนบาปนั้นก็ไม่ต้องพูดถึงเพราะท่านไม่ยึดมั่นถือมั่นมานานแล้ว

ดังนั้นผู้ฉลาดพึงทำบุญนั้นบ่อย ๆ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สุโขปุญญัสสะ อุจจะโย การสั่งสมซึ่งบุญ นำความสุขมาให้ ไม่ละเลยในบุญคราใดที่รู้ตัวก็รีบทำบุญนั้นทันที เพราะหากไม่รีบทำแล้ว เดี๋ยวจิตฝ่ายต่ำก็จะมาแทนที่ เลยหมดโอกาสทำบุญกันไป เราเกิดมาหลายภพหลายชาติ และจะเกิดอีกไม่รู้กี่ชาติ เพราะเราไม่รู้นี่เองจึงต้องแสวงหาเสบียงในการเดินทางข้ามภพข้ามชาติ พระพุทธองค์ตอนเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ก็ตามพระอริยสาวกที่บรรลุนิพพานก็ตาม ล้วนทำบุญมาทั้งสิ้น บุญไม่ขวางพระนิพพานแน่นอน กลับกันจะช่วยสนับสนุนให้มีปฏิปทาในการทำพระนิพพานให้แจ้งด้วย และคำว่าบุญก็กว้างมาก พระองค์ตรัสถึงทางมาแห่งบุญไว้ถึง 10 ประการด้วยกัน คือ

1. ทานมัย บุญที่สำเร็จด้วยการสละสิ่งของภายนอกให้เป็นทาน เป็นการสลัดความตระหนี่และสร้างเมตตาและกรุณาธรรมขึ้นในจิตใจให้มีสภาพอ่อนโยน อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ไม่เบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบ ประหัตประหารซึ่งกันและกัน เป็นบุญอย่างเดียวเท่านั้นที่ต้องสละทรัพย์สินเงินทอง

2. สีลมัย บุญที่สำเร็จด้วยการรักษาศีล ผู้รักษาศีลย่อมมีชีวิตที่หนักแน่นมั่นคง สงบเยือกเย็น

3. ภาวนามัย บุญที่สำเร็จด้วยการพัฒนาจิตใจให้มีสติปัญญาเจริญก้าวหน้า รู้เท่าทันสภาพธรรมทั้งหลายทั้งปวงจนกระทั่งถอนรากถอนโคนในตัณหาทั้งหมดทั้งมวล จะได้ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์เหล่านั้น

4. อปจายนมัย บุญที่สำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนไม่เย่อหยิ่งจองหอง เคารพความคิดของคนอื่น

5. เวยยาวัจจมัย บุญที่สำเร็จด้วยการขวนขวายช่วยเหลือกิจการงานเท่าที่เรามีกำลัง ไม่ว่าจะกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญา ไม่นิ่งเฉยเมื่อเรามีโอกาส

6. ปัตติทานมัย บุญที่สำเร็จด้วยการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ผู้มีพระคุณและสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นการตอบแทนบุญคุณที่บรรพชนได้คิดค้นบุกเบิกสิ่งต่าง ๆ จนทำให้เราได้เสพเสวยสุขในปัจจุบัน ถือเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ดูเป็นแบบอย่าง

7. ปัตตานุโมทนามัย บุญที่สำเร็จด้วยการชื่นชมยินดีความสำเร็จสมหวังของผู้อื่น เป็นการสลัดความอิจฉาริษยาซึ่งเป็นอุปกิเลส อันเป็นมลทินให้ใจเศร้าหมองออกจากใจ

8. ธัมมัสสวนมัย บุญที่สำเร็จด้วยการฟังธรรม หากฟังธรรมบ่อยจะทำให้มีความกระจ่างในสาระธรรมมากขึ้นจนบรรเทาความสงสัย จนก่อให้เกิดสติปัญญาในการแก้ปัญหาและอุปสรรค จนสามารถเอาชนะกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้

9. ธัมมเทสนามัย บุญที่สำเร็จด้วยการแสดง บอกกล่าว และประกาศธรรม เมื่อมีความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งในปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธแล้ว จึงได้แบ่งปันบอกกล่าวในสาระธรรมให้ผู้อื่นมีความเข้าใจและได้รับประโยชน์จากการฟังธรรมนั้น ๆ

10. ทิฏฐุชุกัมม์ บุญที่สำเร็จด้วยการทำความเห็นให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่มีอคติใด ๆ เข้ามาแฝง กล่าวคือมีความเห็น มีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องบาป บุญ คุณโทษ สิ่งใดเป็นสาระ สิ่งใดไม่เป็นสาระ ตลอดจนกระทำตนให้พ้นจากวัฏสงสาร บรรลุมรรคผลนิพพาน

 


บทความที่น่าสนใจ

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: เพราะเหตุใดคนเราจึงมักกังวลเรื่อง ความตาย อยู่ตลอดเวลา

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: เคย บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไว้ แต่จำไม่ได้ ควรทำอย่างไร

ช่างไม้ใจบุญออมเงิน 3 ล้านเหรียญ ช่วยให้เด็ก 33 คนได้เข้าเรียนวิทยาลัย

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.