พระโพธิสัตว์เดินดิน (2)

ตามเรื่องที่เคยเล่ามาหลายครั้งแล้วตำนานหนึ่งเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงจีนประชวรหนัก ไม่มีแพทย์หลวงหรือแพทย์ราษฎร์ที่ไหนจะรักษาได้ ก็ร้อนถึงพระอวโลกิเตศวรกวนอิม ก็เลยต้องแปลงร่างเป็นสตรี แล้วเข้าไปรักษาพระราชธิดาพระเจ้ากรุงจีนให้หาย เสร็จแล้วแปลงร่างกลับไม่ได้ เลยกลายเป็นหญิงสืบมา

ปราชญ์สันนิษฐานว่า คติพระโพธิ-สัตว์อวโลกิเตศวรหรือกวนอิมนี้เข้าจีนไปราว พ.ศ. ๖๐๐ ซึ่งเป็นระยะแรก ๆ ของการเกิดคติพระโพธิสัตว์แบบมหายาน

“น่าสังเกตว่า พระโพธิสัตว์ พระองค์ต่าง ๆ ของมหายานนี้พัฒนาขึ้นในระยะเดียวกับที่ พระศิวะ (อิศวร) และ พระวิษณุ(นารายณ์) กำลังเริ่มปรากฏองค์เด่นขึ้นมาในศาสนาฮินดู (พระพรหมด้อยลง) และเป็นยุคเดียวกันกับที่ศาสนาคริสต์กำลังเกิดขึ้นด้วย

“แต่รวมแล้ว ก็เป็นคติที่แข่งกับฮินดูซึ่งมีการอ้อนวอนขอผล ถ้าเราไม่ระวังรักษาหลักการให้ดี พระพุทธศาสนาก็จะโน้มเอียงไปทางศาสนาฮินดู เมื่อมหายานมาเป็นอย่างนี้ก็ต้องถือว่าเสียหลัก และการที่เสียหลักนี้ก็น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กลืนกับศาสนาฮินดูได้ต่อมา

“การที่ เสียหลัก ก็คือ ย้ายจุดเน้นจากการที่ใช้ความเพียรพยายามทำกรรมดีต่าง ๆ ด้วยฉันทะ วิริยะ อุตสาหะไปเป็นลัทธิอ้อนวอนขอผลอะไรต่าง ๆ ก็เลยใกล้กับศาสนาฮินดู…”

[จาริกบุญ จารึกธรรม :พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตฺโต) หน้า 470 - 475]

ประวัติและพัฒนาการของพระโพธิสัตว์ที่กล่าวมา พอจะสรุปได้ว่า การนับถือพระโพธิสัตว์ที่ถูกต้องนั้นก็คือ การเจริญรอยตามพระโพธิสัตว์ในแง่ที่ว่าเราควรดูท่านเป็นตัวอย่างในการเสียสละอุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์เพื่อคนอื่นอย่างไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และการช่วยเหลือคนอื่นของพระโพธิสัตว์นั้น สามารถช่วยอย่างถึงที่สุดถึงขั้นสละชีวิตให้เป็นทานก็ยังได้ แต่ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาคติพระโพธิสัตว์แบบมหายานขึ้นมาใหม่นั้น การนับถือพระโพธิสัตว์แบบเดิมเริ่มผิดเพี้ยนไป กลายเป็นว่าเรามีพระโพธิสัตว์ไว้เพื่อ “ขอ” ให้ท่านมาช่วยเรา เราอยากได้อะไรก็ขอให้ท่านช่วยให้สมปรารถนา แทนที่จะเจริญรอยตามท่าน (แบบหินยาน / เถรวาท) คือ การช่วยคนอื่นให้พ้นทุกข์ด้วยตัวเรา ก็เลยเพี้ยนเป็นขอให้ท่านมาช่วยเราให้พ้นทุกข์ไปเลย

ไป ๆ มา ๆ เวลานี้ผู้ที่นับถือพระโพธิสัตว์กวนอิม (เช่น ปางพันเนตร พันกร) ก็เลยขอให้ท่านมาช่วยตนเองสารพัด

แต่ท่ามกลางคติการนับถือพระโพธิสัตว์ที่นับวันกำลังผิดเพี้ยนไปนี้ ก็ยังโชคดีอยู่บ้างที่ยังพอมีผู้ที่ “ไม่หลงประเด็น” หลงเหลืออยู่ไม่น้อย อย่างน้อยก็ที่ประเทศไต้หวันซึ่งเวลานี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีพระโพธิสัตว์เดินดินมากมายที่สุดในโลกก็ว่าได้

พระโพธิสัตว์เดินดินที่ว่านี้หมายถึงท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยน ภิกษุณีผู้ก่อตั้งมูลนิธิพุทธฉือจี้ องค์กรการกุศลที่ใหญ่ด้วยคุณภาพและปริมาณสมาชิกอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก มูลนิธิแห่งนี้คือแรงบันดาลใจให้สังคมไทยได้ยินคำว่า “จิตอาสา” บ่อยขึ้นและกำลังเริ่มจุดติดในสังคมไทยในรอบหลายปีมานี้

ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนมีชีวิตที่น่าสนใจมาก ซึ่งหากมีเวลาจะทยอยเล่าสู่กันฟังต่อไป ฉบับนี้ขอเล่าแนวคิดเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ให้อ่านกันก่อน ท่านธรรมาจารย์ได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งในสายตาของศิษยานุศิษย์นับล้าน โดยท่านนำปรัชญาของพระโพธิสัตว์มาประยุกต์เป็นแนวทางในการทำงาน ปรัชญาที่ว่าก็คือ “จะยินดีช่วยเหลือคนไปจนกว่าจะไม่มีคนชั่วเหลืออยู่ในนรกอีกเลย” และ

“ใต้หล้านี้ ไม่มีใครที่ฉันไม่รัก

ใต้หล้านี้ ไม่มีใครที่ฉันไม่เชื่อใจ

ใต้หล้านี้ ไม่มีใครที่ฉันไม่ให้อภัย”

ด้วยปรัชญานี้ ท่านจึงมุ่งมั่นทำงานด้วยการ “มอบความรักอันยิ่งใหญ่ให้แก่มนุษยชาติ” ผ่านการก่อตั้งมูลนิธิพุทธฉือจี้และมุ่งมั่นทำการกุศลถึงขนาดกล่าวกันว่าหากเกิดภัยพิบัติขึ้นมาในโลก ภายใน 15 นาที คนของฉือจี้ก็สามารถออกไปช่วยเหลือได้แล้ว และในการช่วยเหลือนั้น ท่านคำนึงถึง “ความเป็นมนุษย์” ก่อนเรื่องอื่นใด เช่น ในกรณีที่ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่มีภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ท่านก็ส่งคนเข้าไปช่วยในเหตุการณ์นี้ ทำให้ชาวไต้หวันจำนวนมากไม่พอใจ แต่ท่านก็ไม่เคยหวั่นไหวท่านบอกว่า ยินดีเป็นจำเลยของคนไต้หวันทั้งประเทศ ยังดีกว่ามองเห็นเพื่อนมนุษย์ตกทุกข์ได้ยากแล้วอยู่เฉย ๆ นอกจากนี้ท่านยังกล่าวอีกว่า “ใครจะวิพากษ์วิจารณ์ก็ว่ากันไป หน้าที่ของฉันคือการช่วยเหลือคน”

นี่คือความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือคนของพระโพธิสัตว์ที่ต่อให้มีคนเข้าใจผิดนับล้านก็ไม่อาจสั่นคลอนปณิธานในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ของท่านได้

ท่านธรรมาจารย์เป็นผู้ตีความพระโพธิสัตว์กวนอิมปางพันเนตร พันกรด้วยมุมมองที่ถูกต้อง (ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อของคนทั่วไปที่มักเชื่ออย่างผิด ๆ) ว่า

“เวลาที่เรากราบพระโพธิสัตว์กวนอิมปางพันเนตร พันกรนั้น เราไม่ได้กราบเพื่อขอให้ท่านใช้ตาตั้งพัน ใช้มือตั้งพันมาช่วยให้เราสมปรารถนา แต่เรากราบท่านเพื่อขอให้ตัวเราเองมีมือสักพันข้าง มีตาสักพันดวง ทั้งนี้เพื่อที่จะได้มองเห็นคนที่กำลังตกทุกข์ได้ยากจากทั่วโลก เพื่อที่จะได้หยิบยื่นความช่วยเหลือให้มวลมนุษยชาติอย่างทั่วถึง…”

ด้วยการตีความที่ถูกต้องตามคติพระโพธิสัตว์แบบเดิมแท้นี่เอง ท่านจึงใช้ชีวิตสุดสมถะ ทรัพย์สินบรรดามีที่มีผู้น้อมถวายแก่ตัวท่าน ท่านยกให้เป็นของมูลนิธิทั้งสิ้นว่ากันว่า คราวหนึ่งมีลูกศิษย์เห็นว่าผ้าห่มของท่านที่ใช้อยู่เป็นประจำนั้นเก่ามาก จึงไปหยิบผ้าห่มใหม่มาวางไว้แทน ทันทีที่ท่านกลับเข้าห้องมา พอเห็นผ้าห่มผืนใหม่ท่านแสดงอาการดีใจมาก แต่ไม่ได้ดีใจที่จะได้นำมาใช้ ท่านดีใจว่าจะได้นำไปแจกต่างหาก

            พระโพธิสัตว์เห็นประโยชน์สุขของคนอื่นมาก่อนประโยชน์ส่วนตัวเสมอ และในใจนั้นก็ปรารถนาแต่จะให้คนอื่นดีกว่าตัวเองอยู่ร่ำไป 

<<คลิกที่นี่เพื่อย้อนกลับไปหน้าแรก

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.