สมถภาวนา

5 ขั้นตอนเตรียมตัวสำหรับปฏิบัติการเพ่งจิตลงลึกในสมถภาวนา

สมถภาวนา เป็นคำสมาสระหว่างคำ 2 คำคือ สมถ (สงบ) + ภาวนา (การอบรม, การเจริญ) มีความหมายถึงการอบรมจิตให้สงบจากกิเลส ซึ่งเป็นการเจริญสัมมาสมาธิในแบบที่เรียกว่า “อารัมมณูปนิชฌาน” กล่าวคือเป็นการเพ่งอารมณ์แบบดิ่งลึก

ผู้ที่เจริญสมถภาวนาจึงต้องมีสติสัมปชัญญะ รู้ความต่างกันของจิตที่สงบและจิตที่ไม่สงบ เพื่อที่จะได้สามารถอบรมจิตให้สงบยิ่งขึ้น ซึ่งขบวนการที่ช่วยให้จิตใจสงบอย่างลึกซึ้งนี้มีไว้ก็เพื่อช่วยให้จิตใจมีความเข้มแข็ง เพราะเมื่อจิตใจเข้มแข็งก็จะช่วยให้จิตใจเอาชนะรากเหง้าของปัญหาได้ ทั้งยังช่วยให้เราตื่นและเพิ่มพลังในด้านความจำอีกด้วย

และนี่คือ 5 ขั้นตอนเตรียมตัวสำหรับปฏิบัติตาม สมถภาวนา ที่ Secret อยากแชร์ให้ผู้อ่านได้รู้ เผื่อจะนำไปปฏิบัติกันค่ะ

 

1. สถานที่

เพื่อการปฏิบัติที่ได้ผล คุณจำเป็นต้องออกจากความวุ่นวายของชีวิตประจำวันแบบเด็ดขาด ด้วยการกำหนดเวลาให้ชัดเจนสำหรับการปฏิบัติเป็นประจำทุก ๆ วัน ที่สำคัญการภาวนาตามวิธีนี้ควรอยู่คนเดียวในที่ที่สงบเงียบ ห่างไกลจากผู้คน เพราะเสียงเป็นหนามที่สกัดกั้นมิให้การมุ่งไปให้ใจเป็นหนึ่งเดียวสัมฤทธิ์ผล

 

2.อาหาร

สมถภาวนา

ควรเลือกประเภทมังสวิรัติสำหรับผู้ที่ถือศีลเพื่อเข้าสู่โมกษะ ตามคัมภีร์ของฝ่ายมหายานนั้น สาเหตุของการห้ามกินเนื้อสัตว์ เป็นเพราะหัวใจของฝ่ายมหายานมุ่งสวัสดิภาพของสรรพสัตว์ อนึ่งการกินมากเกินไปก็ไม่ดี จึงควรที่จะบริโภคให้น้อยและงดสุราเมรัยทุกชนิดด้วย

 

3. การนอน

สมถภาวนา

ควรนอนให้พอเหมาะกับความต้องการของร่างกาย นอนมากเกินไปทำให้ไม่แจ่มใส นอนน้อยเกินไปก็ทำให้ง่วง จึงควรดูตัวเองว่าควรนอนมากน้อยเพียงใด

 

4. ท่านั่ง

สมถภาวนา

นับว่าสำคัญมากสำหรับการภาวนา โดยเฉพาะในตอนแรกเริ่ม ถ้าเป็นไปได้ควรนั่งขัดสมาธิเพชร (เอาขาไขว้กัน) หรือขัดสมาธิธรรมดา ใช้หมอน 2 ใบ ใบหนึ่งไว้พิงช่วงหลัง ให้หลังสูงกว่าหัวเข่า จำไว้ว่าถ้านั่งถูกท่า แม้จะภาวนานานเท่าไหร่ก็ไม่เหนื่อย

ข้อสำคัญคือกระดูกสันหลังต้องตั้งตรงเหมือนลูกศร ค้อมศีรษะลงเล็กน้อย ให้ตาอยู่เหนือดั้งจมูก ใช้ลิ้นดันเพดานบนไว้ ปล่อยปากและริมฝีปากไว้ตามธรรมชาติ ปล่อยแขนไว้หลวมๆ อย่าให้แขนรัดตัว ในส่วนมือนั้นให้เอามือขวาทับมือซ้ายหงายมือทั้งสองข้าง แล้วเอานิ้วโป้งจรดถึงกันเป็นรูปสามเหลี่ยม

 

5. เพ่งสมาธิ

โดยเพ่งไปที่พระพุทธรูป เพ่งไปจนรูปมาปรากฏอยู่ภายในใจ ตอนแรกอาจจะยากอยู่สักหน่อยที่จะให้วัตถุที่เพ่งมาอยู่ในใจเราอย่างชัดเจน ข้อนี้ต้องอาศัยการฝึกฝนภาวนาบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้เบื่อหน่ายควรภาวนาครั้งละ 5 นาที ไม่ควรใช้เวลานานมากแต่ควรทำเป็นประจำวันละ 4 – 16 ครั้งเมื่อมีเวลา

ในตอนแรก ๆ เราต้องบังคับใจให้เพ่งไปที่วัตถุแห่งการภาวนาโดยใช้พลังอย่างมาก แล้วเพิ่มพลังขึ้นเรื่อย ๆ เป็นครั้งคราว จนเข้าสู่สภาวะผ่อนคลายสบายแล้วหลังจากนั้นก็ไม่จำเป็นต้องใช้พลังอะไรมาสกัดกั้น

ถ้าภาวนาแน่นิ่งอยู่กับวัตถุได้อย่างต่อเนื่อง ย่อมเข้าถึงพื้นฐานแห่งความมั่นคงทางสมาธิ สภาวะอันไม่พึงประสงค์ก็จะหายไปจากร่างกายและจิตใจ

จำไว้ว่าการเข้าถึงปีติสุขทั้งทางกายและทางใจ เท่ากับการเข้าถึงเป้าหมายแห่งสมถภาวนาอย่างแท้จริง

 

Image by Dean Moriarty from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความที่น่าสนใจ

ตอบข้อสงสัย มือใหม่หัดภาวนา

ภาวนาให้ใจอยู่ในพุทโธ หลวงตามหาบัว

“อานาปานสติ” กรรมฐานที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.