ล้อเลียน

ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : การพูดจาหรือแสดงท่าที ล้อเลียน บุคคลอื่นถือว่าผิดศีลธรรมหรือไม่

ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : การพูดจาหรือแสดงท่าที ล้อเลียน บุคคลอื่นถือว่าผิดศีลธรรมหรือไม่

ถาม:

อยากเรียนถามว่า การพูดจาหรือแสดงท่าที ล้อเลียน บุคคลอื่น เช่น การตั้งฉายา ล้อเลียน นักการเมือง หรือพูดกระทบกระเทียบเปรียบเปรย ถือเป็นมิจฉาวาจาหรือเป็นการเบียดเบียน ผิดศีลธรรมหรือไม่

พระวิชิต ธมฺมชิโต ผู้ตอบปัญหาเรื่อง การพูดจาหรือแสดงท่าที ล้อเลียน บุคคลอื่นถือว่าผิดศีลธรรมหรือไม่ ได้ตอบไว้ว่า

ตอบ:

กรรมในพระพุทธศาสนานั้น องค์ประกอบสำคัญอยู่ที่เจตนา ในส่วนของการพูด (รวมถึงการเขียนหรือสื่อถึงผู้อื่นให้เข้าใจความหมายของตน) พระพุทธองค์ทรงเน้นว่าให้พูดความจริงในสิ่งที่เป็นประโยชน์ รู้กาลที่เหมาะสม เป็นคำที่ไพเราะ สมานไมตรี ไม่พูดเท็จ พูดบิดเบือนให้เข้าใจผิด พูดคำหยาบให้ผู้อื่นเจ็บช้ำใจ และพูดไร้สาระ การพูดล้อเลียนบุคคล พูดกระทบกระเทียบเปรียบเปรยนั้น แม้ทำโดยเจตนาบริสุทธิ์ แต่ก็มักทำให้ผู้ถูกพูดถึงเจ็บช้ำน้ำใจ เสียหาย ซ้ำร้ายอาจกระทบไปถึงลูกหลาน คนในครอบครัวที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

ดังนั้น ควรหาวิธีการบอกเตือนที่นุ่มนวลด้วยปิยวาจาจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม การเปรียบเปรยล้อเลียนก็อาจพอทำได้ หากมีเจตนามุ่งสะท้อนมุมมองให้คนคนนั้นเห็น หรือให้สังคมได้คิดย้อนกลับมาทบทวนตนเอง หรือยืนยันในหลักการความถูกต้องบางอย่างผ่านความขบขัน สนุกสนาน แต่ควรทำพอประมาณ และใคร่ครวญให้ดีถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้น และพร้อมรับผิดชอบต่อผลการกระทำของตนด้วย

ส่วนการทำด้วยเจตนาใส่ร้าย ต้องการให้คนเข้าใจผิด แต่แฝงแกล้งทำเป็นล้อเลียนถือเป็นมิจฉาวาจาแน่นอน เป็นสิ่งผิดศีลธรรม ไม่ควรทำ ไม่ควรสนับสนุน ส่วนนักการเมือง ดารา หรือผู้มีหน้ามีตาในสังคมที่มักตกเป็นเป้าในการวิจารณ์ก็ต้องหนักแน่น เตรียมใจไว้ในเบื้องต้นว่าตัวเองเป็นบุคคลสาธารณะ มีโอกาสถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนได้เสมอ

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.