ปราสาทรวงข้าว

พาชม “ปราสาทรวงข้าว” ศิลปะแห่งศรัทธาของชาวอีสาน ณ งานบุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูนลาน จ.กาฬสินธุ์

พาชม “ ปราสาทรวงข้าว ” ศิลปะแห่งศรัทธาของชาวอีสาน ณ งานบุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูนลาน จ.กาฬสินธุ์

“เม็ดหนึ่งตักไปทานทุกค่ำเช้าเหลือหลาย เม็ดหนึ่งตักไปซื้อควายตัวเขาซ้อง เม็ดหนึ่งตัดไปซื้อฆ้องเก้ากำ เม็ดหนึ่งตักไปซื้อคำให้ได้เก้าหมื่น เม็ดหนึ่งตักไปซื้อข้าวหมื่นมาเยีย เม็ดหนึ่งไปสู่เมียให้ได้เมียมาอยู่เฮือนขายข้าว เม็ดหนึ่งตักไปเอาผู้เฒ่าให้มาเล่าขายของ มาเยอขวัญเอย เพิ่นตักใส่ด้งอย่าได้บินหนี ให้เจ้ามาเลี้ยงชีวิตอินทรีทั้งโลก บริโภค เลี้ยงพระพุทธศาสนา ทุกค่ำเช้าตราบต่อหน้า ห้าพันเวสาก็ข้าเทอญ”

คำกลอนอันไพเราะนี้ คือตอนหนึ่งของคำบายศรีสู่ขวัญของชาวอีสาน ที่สะท้อนให้เห็นว่า ตั้งแต่สมัยโบราณมา ชาวอีสานถือกันว่า ข้าวเป็นสิ่งวิเศษหรือแก้วสารพัดนึก ที่สามารถนำไปขายหรือแลกซื้ออะไรก็ได้ตามใจปรารถนา ไม่เพียงเท่านั้น ข้าวกับการทำบุญในพระพุทธศาสนายังเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันอย่างไม่มีวันแยกจากกันได้

นี่เองคือเหตุผลให้เราเดินทางมาไกลถึงวัดเศวตวันวนาราม ตำบลเหนือ จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อมาซึมซับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อดังกล่าวของชาวอีสาน ที่งานบุญคูนลาน หรืองานบุญเพื่อรับขวัญข้าว ที่จัดต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย โดยปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

บรรยากาศงานบุญคูนลาน ที่วัดเศวตวันวนาราม ตำบลเหนือ จังหวัดกาฬสินธุ์

ทุก ๆ ปี หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวและขนข้าวขึ้นเล้า (ที่เก็บข้าวชาวนาอีสาน หรือฉางยกพื้นมีใต้ถุนสูง) เสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะมาประชุมนัดวันกัน เพื่อนำข้าวเปลือกไปรวมกันที่วัดในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ทุกหลังคาเรือนจะพร้อมใจกันนำข้าวเปลือกไปเทกองเรียงกันให้สูงในลานที่เตรียมไว้ โดยสมัยก่อนชาวบ้านจะทำลาน ด้วยการกวาดดินให้เตียน นำมูลควายมาผสมกับน้ำ แล้วใช้เท้าเหยียบนวดให้เข้ากัน จากนั้นกวาดกลบหน้าดิน ปล่อยให้แห้ง แล้วจึงนำข้าวเทลงใส่ เพื่อให้เวลาตักข้าวออก ไม่มีดินปะปน หรือที่เรียกกันว่าการทำ “คูนลาน”  พอตกเย็น ชาวบ้านจะทำพิธีสู่ขวัญข้าว เจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล หลังจากนั้นจะมีมหรสพสมโภชตามความเหมาะสม รุ่งเช้าชาวบ้านจะทำบุญร่วมกัน พร้อมถวายข้าวนั้นแด่พระสงฆ์ จากนั้นคณะกรรมการวัดจะนำข้าวไปขาย เพื่อนำเงินมาพัฒนาก่อสร้างเสนาสนะตามแต่เห็นสมควร

ปราสาทรวงข้าว
ข้าวเปลือกไปที่ชาวบ้านตำบลเหนือนำมากองรวมกันที่ “คูนลาน” ในวัดเศวตวันวนาราม

สำหรับงานบุญคูนลานของชาวตำบลเหนือ ได้มีการดัดแปลงบางส่วนจากงานบุญในสมัยก่อนนี้ คือมีการสร้างปราสาทรวงข้าวขึ้นมาอย่างประณีตสวยงาม โดยมีที่มาที่ไปคือ เดิมทีเมื่อถึงงานบุญคูนลาน บางครอบครัวที่ยังนวดข้าวไม่เสร็จ จะนำมัดข้าวที่ยังไม่แยกเมล็ดออกจากฟางมาถวายวัด ชาวบ้านจึงจุดประกายความคิดว่า น่าจะนำมัดข้าวมาสร้างสรรค์เป็นศิลปะให้ดูสวยงาม กระทั่งปี 2537 นายสมนึก บัวแพ ได้นำต้นแบบและแนวคิดการทำปราสาทรวงข้าวมาเป็นแนวทางให้ชาวบ้าน หลังจากชาวบ้านได้ลองทำตาม ก็ปรากฏว่าเป็นที่ประทับใจของทุกคน ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ งานบุญคูนลานของจังหวัดกาฬสินธุ์จึงมีปราสาทรวงข้าวสวยๆ เป็นสัญลักษณ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศให้เดินทางไปเยี่ยมชม

ภาพปราสาทรวงข้าวประดับไฟยามค่ำคืน
ชาวบ้านตำบลเหนือร่วมกันตกแต่งปราสาทรวงข้าวอย่างประณีตบรรจง

คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

ชาวบ้านมายืนรอใส่บาตรข้าวเหนียวตั้งแต่ช่วงเช้า

ในวันงาน ชาวตำบลเมืองเหนือและตำบลใกล้เคียงจะเดินทางไปร่วมกันทำบุญที่วัดเศวตวันวนาราม เพื่อเข้าร่วมพิธีกรรมกันตั้งแต่ช่วงเช้า เริ่มจากตักบาตรเข้าเหนียว สวดมนต์ บวงสรวงบูชาพระแม่โพสพ แล้วถวายอาหารพระ จากนั้นรับประทานอาหารร่วมกัน พอตกบ่าย ชาวบ้านและนักเรียน นักศึกษาจากตำบลต่างๆ ก็จะตั้งแถวขบวนแห่ แล้วค่อยๆ รำฟ้อน หรือภาษาอีสานเรียกว่า “ย้อน” กันมาที่วัดอย่างสนุกสนาน โดยจะอันเชิญภาพของพระแม่โพสพที่ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม พานบายศรี และปราสาทข้าวจำลอง มากับขบวนแห่ด้วย เมื่อขบวนแห่ถึงวัดเรียบร้อยแล้ว ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดก็จะมาเปิดงาน พอตกกลางคืนก็จะมีมหรสพสมโภชตลอดคืน และรุ่งเช้า ชาวบ้านก็จะทำบุญตักบาตรถวายปราสาทรวงข้าว ลานข้าวแด่พระสงฆ์

พระกำลังเดินบิณฑบาตรจากญาติโยมที่เดินทางมาใส่บาตร
ชาวบ้านที่นี่นิยมนำข้าวเหนียวมาใส่บาตร ซึ่งถือเป็นประเพณีที่แปลกตาสำหรับนักท่องเที่ยว
ชาวบ้านร่วมกันบวงสรวงบูชาพระแม่โพสพในช่วงเช้าของวันงาน
หลังจากฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว ชาวบ้านก็นั่งล้อมวงกินอาหาร ซึ่งเป็นอาหารที่ญาติโยมนำมาใส่บาตรกัน

คลิกเลข 3 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

รถขบวนแห่ที่ตกแต่งอย่างสวยงามของชาวบ้าน กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่เขตวัด
ชาวบ้านกำลังทำท่าฟ้อนช้อนปลา ซึ่งเป็นท่าฟ้อนรำของชาวภูไทอย่างสนุกสนาน

ตลอดระยะเวลาสองวันที่เราอยู่ที่นี่ ตั้งแต่วันเตรียมงาน จนกระทั่งหลังจบพิธีเปิด เราสัมผัสได้ว่า หัวใจสำคัญของงานบุญคูนลาน ไม่ใช่ความยิ่งใหญ่อลังการของปราสาทรวงข้าว หรือขบวนแห่ที่สนุกครึกครื้น หากแต่เป็นการที่ชาวนาได้มีโอกาสแสดงกตัญญูและความระลึกถึงผู้มีพระคุณที่ทำให้ข้าวกล้าในนาเจริญงอกงาม นั่นก็คือ “พระแม่โพสพ” เทพเจ้าแห่งข้าวที่ทุกคนกราบไหว้บูชา ซึ่งชาวบ้านต่างเชื่อกันว่า หากไม่มีพระแม่โพสพคอยดูแลข้าวกล้า พวกเขาก็คงไม่มีผลผลิตที่งอกงามเกิดดอกออกผลอุดมสมบูรณ์ให้ได้เก็บเกี่ยวกัน

ภาพพระแม่โพสพที่ชาวบ้านนำมาประดับไว้สำหรับบูชาด้วยเครื่องบายศรีที่หน้าปราสาทรวงข้าว

เพราะอย่างนี้ ปราสาทรวงข้าวจึงถือเป็นศิลปะแห่งศรัทธา ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมและความเชื่อของชาวตำบลเหนือได้อย่างงดงาม…หากคุณได้ลองมาสัมผัสเองสักครั้ง ก็ต้องคิดเช่นเดียวกันกับเรา


ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานขอนแก่น

การเดินทางสู่วัดเศวตวันวนาราม : จากตัวเมืองกาฬสินธุ์-อำเภอสมเด็จ จนถึงสี่แยกเลี่ยงเมืองไปจังหวัดร้อยเอ็ด ให้ตรงไปทางอำเภอสมเด็จประมาณ 1 กิโลเมตร ถึงสี่แยกทุ่งมนแล้วเลี้ยวขวาไปทางชุมชนทุ่งมน เข้าสู่ถนนทางหลวงชนบท ตรงไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร จะผ่านสำนักงานเทศบาลตำบลเหนือก่อนถึงวัดเศวตวันวนาราม ทางเลี้ยวเข้าวัดอยู่ด้านซ้ายมือ

เรื่อง รำไพพรรณ บุญพงษ์ ภาพ ศรายุธ นกแก้ว

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.