เหนือฟ้ายังมีฟ้าแต่ไม่มีอะไรเหนือกฎแห่งกรรม หลวงพ่อจรัญ

เหนือฟ้ายังมีฟ้าแต่ไม่มีอะไรเหนือกฎแห่งกรรม หลวงพ่อจรัญ

เรื่องราว กฎแห่งกรรม หลวงพ่อจรัญ ที่รวบรวมมานี้ อาจจะพอช่วยทำให้คุณไม่กล้าทำบาป ทำกรรมอีกต่อไป

วัดอัมพวันทุกวันนี้มีความสัปปายะเหมาะแก่การปฏิบัติภาวนาเป็นอย่างยิ่ง  ทั้งบรรยากาศที่ร่มรื่น  ศาลาปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่ ลานจอดรถกว้างขวางสะดวกสบาย  และห้องน้ำห้องท่าที่สะอาดสะอ้านถึงกว่า 500 ห้อง  รวมถึงโรงทานที่มีอาหารและน้ำดื่มไว้คอยให้บริการแก่ผู้มาทำบุญและปฏิบัติธรรมไม่เคยขาด

ช่วงสิบโมงเช้าและบ่ายสองโมงของทุกวัน  หลวงพ่อจรัญในวัย 86 ปีจะออกมาให้พรญาติโยมเป็นเวลาสั้น ๆ ก่อนจะกลับเข้ากุฏิเพื่อพักผ่อน  แม้ในวันนี้หลวงพ่อจะชราภาพมากจนไม่สามารถเทศน์โปรดญาติโยมได้เหมือนในอดีต  แต่ทุกคนก็สัมผัสได้ถึงความเมตตากรุณาของท่านที่ส่งผ่านแววตาและสีหน้าที่แจ่มใส  รอยยิ้มน้อย ๆ ของท่านทำให้ผู้พบเห็นเกิดความรู้สึกอบอุ่นและมั่นใจที่จะปฏิบัติตามและก้าวเดินตามท่านในทางสายกลางเส้นนี้

ชีวิตในวัยเยาว์  
หลวงพ่อจรัญมีนามเดิมว่า จรัญ  จรรยารักษ์  เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2471  ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7  ณ ตำบลม่วงหมู่ อำเภอเมืองฯ  จังหวัดสิงห์บุรี  เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวน 10 คน ที่เกิดจาก โยมมารดาเจิม และ โยมบิดาแพ  จรรยารักษ์ ในวัยเยาว์หลวงพ่ออาศัยอยู่กับยายวัย 80 ปีที่บ้านเรือนไทยหลังใหญ่กลางดงไม้ร่มครึ้ม

มีเรื่องเล่าว่า  ยายของหลวงพ่อมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า  และมักจัดให้มีการเทศน์มหาชาติที่บ้าน  แต่ด้วยความที่เด็กชายจรัญชอบวิ่งเล่นซุกซนยายเลยต้องจับล่ามขาไว้กับเสาเรือนให้ฟังเทศน์อยู่เป็นประจำ ทุกวันเวลาตีสี่  ยายจะลุกขึ้นมาสวดมนต์ภาวนาเป็นเวลา 1 ชั่วโมง  ส่วนเด็กชายจรัญจะลุกขึ้นก่อไฟหุงข้าวให้ยายใส่บาตร ครั้นยายให้เอาข้าวไปถวายพระ  เด็กชายจรัญก็มักนำไปกินกับเพื่อนแทน  นอกจากนี้ยังไม่สนใจศึกษาเล่าเรียน  และมักชวนเพื่อน ๆไปยิงนกตกปลาตามประสาเด็กอีกด้วย

หลังเรียนจบชั้น ม. 4  หลวงพ่อจรัญได้ศึกษาวิชาต่าง ๆหลากหลายแขนง  ทั้งวิชาช่างกลจาก อาจารย์เลื่อน  พงษ์โสภณ และวิชาดนตรีดีดสีตีเป่าจาก หลวงประดิษฐ์ไพเราะ  ครั้งหนึ่งท่านเคยเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ  แต่เรียนได้แค่สามเดือนก็ลาออกเพราะเกิดเหตุทะเลาะวิวาทกับรุ่นพี่

หลังจากนั้นหลวงพ่อจรัญจึงเดินทางกลับมายังบ้านเกิดที่สิงห์บุรี  และนำวิชาดนตรีที่ได้ร่ำเรียนมาประกอบอาชีพอยู่ที่อำเภอพรหมบุรี  โดยออกงานดนตรีกับ คณะจรรยารักษ์ ซึ่งมีอยู่เดิม  จนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่ว  นอกจากมีฝืมือทางด้านดนตรีแล้ว  หลวงพ่อจรัญยังมีฝีมือทางการเขียนหนังสือ  สามารถประพันธ์เรื่อง นางอรพิมกับท้าวปาจิตต์  จนมีคณะลิเกมาขอลอกบทเพื่อนำไปแสดงเป็นลิเกหลายคณะสู่ร่มกาสาวพัสตร์

ในวัยหนุ่มอาจกล่าวได้ว่าหลวงพ่อจรัญท่านไม่มีความสนใจในพระพุทธศาสนาเลยแม้แต่น้อย  ออกจะไม่ชอบเสียด้วยซ้ำ เพราะครั้งหนึ่งช่วงที่เป็นนักดนตรี  ท่านเคยไปเล่นดนตรีที่วัดโตนด แต่พระวัดนี้กลับพาศิษย์วัดกว่า 10 คนมารุมทำร้าย  เนื่องจากท่านเคยด่าว่าพระว่าอาศัยผ้าเหลืองหากิน  ไม่ปฏิบัติตามพระวินัย  ทำให้ท่านเกือบถูกแทงตายและถูกรุมทำร้ายจนสะบักสะบอม  โชคดีที่มีคนมาช่วยไว้ทัน  ตั้งแต่นั้นท่านจึงไม่ชอบพระ

จนกระทั่งเมื่อท่านอายุได้ 20 ปี  โยมแม่ท่านล้มป่วยลง  ท่านจึงคิดจะบวชเพื่อตอบแทนพระคุณแม่สักหนึ่งพรรษา  แต่ปรากฏว่าการบวชครั้งนั้นเกิดสิ่งอัศจรรย์ขึ้นกับท่านจนไม่อาจลาสิกขาได้

เรื่องมีอยู่ว่า  วันที่จะสึก  หลวงพ่อจรัญเกิดรู้สึกง่วงเหงาหาวนอนขึ้นมา  แล้วท่านก็ได้ยินเสียงประหลาดดังขึ้นว่า “คุณบวชแบบนี้ดีแล้ว  จะสึกก็ไม่เป็นไร  แต่นะโมยังไม่ได้  ได้นะโมแล้วค่อยสึก”  ขณะที่ท่านกำลังนึกสงสัยว่าเป็นเสียงใคร  ก็ได้ยินเสียงดังตามมาอีกว่า  “คุณสึกก็ไม่เป็นไร  ไม่ยากอะไรนักหนา  แต่ขอถามว่าพุทธคุณได้หรือยัง  ธรรมคุณได้หรือยัง  สังฆคุณได้หรือยัง”  ซึ่งเป็นเพราะเสียงประหลาดนี้เองที่ทำให้หลวงพ่อจรัญยังครองเพศบรรพชิตมาจนถึงบัดนี้

หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม

ธุดงค์เพื่อแสวงหาความรู้ 
เมื่อบวชเป็นพระแล้ว  หลวงพ่อจรัญได้ธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร  เพื่อแสวงหาความรู้และประสบการณ์ทั้งทางสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน  ทั้งยังได้ฝากตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์หลายท่าน เริ่มจากเมื่อสอบนักธรรมโทได้แล้ว  ในปี 2493  หลวงพ่อจรัญได้พบ หลวงพ่อเดิม  หรือ พระครูนิวาสธรรมขันธ์  อายุ 105 ปี  แห่งวัดหนองโพธิ์  จังหวัดนครสวรรค์  หลวงพ่อเดิมเป็นผู้ที่รอบรู้ตำราพิชัยสงคราม  เชี่ยวชาญวิชาการรบในสมัยโบราณ

ตอนแรกหลวงพ่อจรัญตั้งใจจะเรียนวิชาคาถามหานิยมกับท่าน  เพราะคิดว่าหากลาสิกขาไปประกอบอาชีพทางโลกจะได้นำไปใช้  แต่หลวงพ่อเดิมกลับให้วิชาเลี้ยงช้าง  ต่อช้างป่า  และวิชาจับช้างตกมันแทนหลังจากนั้นด้วยความเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน  หลวงพ่อจรัญจึงเดินทางไปศึกษาวิชากรรมฐานกับ หลวงพ่อลี และ ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร  จังหวัดขอนแก่น  โดยท่านศึกษาวิชาทำเครื่องรางของขลัง  น้ำมันมนต์  กับ หลวงพ่อจง  วัดหน้าต่าง  จังหวัดอยุธยาศึกษาวิชาสมถวิปัสสนากับ พระมงคลเทพมุนี (สด  จนฺทสโร)  หรือหลวงพ่อสด  วัดปากน้ำ  รวมถึงศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับ พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก  ญาณสิทฺธิ)  วัดมหาธาตุ

นอกจากนั้นท่านก็ยังศึกษาพระอภิธรรมกับ พระอาจารย์เตชิน(ชาวพม่า) ที่วัดระฆัง  ศึกษาการพยากรณ์จาก สมเด็จพระสังฆราช(อยู่  ญาโณทโย)  วัดสระเกศฯ  และศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิทยาศาสตร์ทางจิตกับ อาจารย์ พ.อ.ชม  สุคันธรัต ด้วย

 

เผชิญกฎแห่งกรรม
ในระหว่างที่บวชเป็นพระนี้  หลวงพ่อจรัญต้องรับผลกรรมที่ทำไว้ในวัยเด็กครั้งแล้วครั้งเล่า  บางครั้งก็หนักหนาสาหัสจนแทบเอาชีวิตไม่รอดเลยทีเดียว

เรื่องมีอยู่ว่า  ครั้งหนึ่งมีคนขี้เหล้าจ้างท่านด้วยเงิน 1 บาท  ให้นำเต่า 7 ตัวไปต้มเพื่อเป็นกับแกล้ม  ท่านจึงนำเต่าทั้งหมดไปต้มในหม้อน้ำที่น้ำกำลังเดือดพล่าน  แต่คงเพราะหม้อดินเผาที่ใช้ต้มคงเก่ามากแล้ว  เมื่อเต่าพากันดิ้นขลุกขลักอยู่ในหม้อ  หม้อจึงแตกออกเป็นสองเสี่ยง  เต่าทั้งหมดหลุดออกมาได้และยังไม่ตาย  จึงพยายามตะเกียกตะกายหนีสุดชีวิตเข้าไปซุกตัวอยู่ใกล้กอไผ่  เมื่อเด็กชายจรัญวิ่งตามเพื่อจะจับมาต้มอีก  เขาก็ต้องตกตะลึงกับภาพที่เห็นเพราะเต่าใช้สองขาหน้าปาดน้ำตาที่ไหลพราก ๆ ออกมา  เหมือนสำนวนไทยที่ว่า “ร้องไห้น้ำตาเป็นเผาเต่า” ไม่มีผิด  ด้วยความสงสารเขาจึงปล่อยเต่าทั้งหมดไป

ขณะที่บวชเป็นพระ  หลวงพ่อรู้ล่วงหน้าว่าท่านต้องรับผลกรรมครั้งนั้น  วันหนึ่งคนที่ท่านรู้จักที่บางปะอินไม่สบาย  ท่านจึงตั้งใจไปเยี่ยม  โดยจ้างรถปิ๊กอัพไปกับคนขับสองคน  ระหว่างทางกลับฝนตกหนักมาก  ถนนลื่น  รถยนต์เสียหลักพลิกคว่ำแปดตลบหลวงพ่อดิ้นขลุกขลักอยู่ในรถ  เพราะประตูรถล็อกหมด  ศีรษะถูกกระแทกทั้งบนและล่าง  รถพังหมดทั้งคัน  พอดีมีคนผ่านมาช่วยไว้จึงรอดชีวิตมาได้  แต่ท่านก็ต้องปวดแสบปวดร้อน  ผิวหนังถลอกอยู่นานนับเดือน

อย่างไรก็ตาม  แม้หลวงพ่อจรัญจะเจริญกรรมฐานแผ่เมตตาขออโหสิกรรมแก่เต่า  แต่กรรมเวรที่ทำไว้ยังไม่หมดแค่นั้น  แถมครั้งที่สองยังหนักหนากว่าครั้งแรก  คราวนี้ท่านประสบอุบัติเหตุอีกครั้ง  โดยรถที่ท่านนั่งมาประสานงากับรถทัวร์อย่างแรง  จนร่างของท่านพุ่งทะลุกระจกรถกระเด็นออกไปหลายวา  แล้วตกลงมาหน้าบ้านของเจ้าของโรงงานทำอิฐในสภาพคอหักพับมาอยู่ที่หน้าอกหนังศีรษะเปิดจากหน้าผากไปถึงท้ายทอย  เลือดเต็มปากเต็มคอ

โชคดีที่มีคนมาพบเข้า  จึงอุ้มหลวงพ่อจรัญใส่รถขนอิฐแล้วนำไปส่งโรงพยาบาล  แต่บังเอิญว่ารถไม่มีเบาะ  หม้อน้ำรถก็ไม่มีฝาปิดต้องใช้ผ้าอุดแทน  ซึ่งอยู่ในตำแหน่งก้นของหลวงพ่อจรัญพอดิบพอดี  ระหว่างทางที่จะไปโรงพยาบาล  ท่านได้ยินเสียงเต่า  พร้อมเห็นภาพเต่าโผล่ออกมาแล้วพูดว่า “สมน้ำหน้า  เดี๋ยวกูจะซ้ำมึง ๆ” พอขาดคำ  น้ำในหม้อน้ำก็พุ่งขึ้นมาลวกใส่หลวงพ่อจรัญตั้งแต่หัวไปตลอดตัว  ท่านต้องทนทุกข์ทรมานไปตลอดทาง  และเมื่อไปถึงโรงพยาบาลสิงห์บุรี  หมอก็บอกกับญาติโยมว่าท่านเสียชีวิตแล้ว  ให้นำไปวัด  เตรียมจัดงานศพได้เลย ทว่าขณะที่บุรุษพยาบาลกำลังเข็นหลวงพ่อไปเย็บแผลล้างเลือดเตรียมเข้าห้องดับจิตนั้น  หลวงพ่อได้ฟื้นคืนสติ  จึงตั้งอธิษฐานจิตว่า  “ด้วยเดชะบุญกุศล  ท้าวเวสสุวัณ  เจ้ากรรมนายเวรของข้าพเจ้า  ถ้าข้าพเจ้าใช้หนี้กรรมในโลกมนุษย์หมดแล้วก็ยินดีจะไป  แต่ถ้าข้าพเจ้ายังใช้หนี้กรรมไม่หมด  ข้าพเจ้าขอสาบานต่อท้าวเวสสุวัณว่า  ขอให้ข้าพเจ้ากลับมาแก้ตัว  สร้างกรรมดีใช้หนี้ให้หมด  ถ้าหมดแล้วข้าพเจ้าจะไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก”

เมื่อสิ้นคำอธิษฐาน  ปรากฏว่าบุรุษพยาบาลเข็นรถไปตกร่องประตูเหล็ก  และจากแรงกระแทกนี่เองทำให้กระดูกคอของหลวงพ่อซึ่งขาดอยู่เกิดติดกันขึ้นมา  หลวงพ่อจรัญกลับฟื้นคืนสติ  ทางโรงพยาบาลจึงส่งตัวท่านไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลเลิดสิน  กรุงเทพฯ  เมื่อพ้นระยะวิกฤติแล้ว  จึงส่งตัวท่านกลับมารักษาต่อที่โรงพยาบาลสิงห์บุรี ระหว่างนี้ท่านต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสเป็นเวลากว่า 50 วัน  หิวน้ำก็ไม่สามารถดื่มได้  ต้องหยอดด้วยหลอดกาแฟ  เวลาฉันข้าวก็ต้องใส่เข้าไปข้าง ๆ ปากทีละน้อย  ขบฉันอาหารเลือดก็ไหลตลอดเวลา  ในช่วงเวลาที่ต้องรับผลกรรมนี่เอง  หลวงพ่อจรัญจึงนึกถึงกรรมที่เคยทำกับนกขึ้นมาได้อีกเรื่องหนึ่ง…

เรื่องมีอยู่ว่า…ในวัยเด็กท่านชอบยิงนกตกปลา  ครั้งหนึ่งท่านยิงนกจนปีกหัก  ตกลงบนคันนา  มันพยายามวิ่งหนีสุดชีวิต  แต่เด็กชายจรัญกลับวิ่งไล่ตามแล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น  เจ้านกตัวนั้นตกใจหันมาจิกมือท่านเต็มแรงจนเลือดพุ่งกระฉูด  ด้วยความเจ็บแค้น  เด็กชายจรัญจึงจับนกหักคอ  ถลกหนังหัว  โดยไม่สนใจว่าเจ้านกตัวนั้นจะร้องลั่นและสิ้นชีวิตด้วยความเจ็บปวดทรมาน  และผลกรรมในวันนั้นก็ตามมาให้ผลกับท่านอย่างที่ปรากฏอยู่ในขณะนั้นเอง

เรื่องราวการให้ผลของกรรมของหลวงพ่อจรัญนั้นมีมากมายหลายเรื่อง  สำหรับคนที่ชอบโกหกสบถสาบาน  หลวงพ่อเล่าว่า ในวัยเด็กท่านมักจะขโมยเงินของยายบ่อย ๆ  เมื่อถูกจับได้ก็ไม่ยอมรับ  พร้อมทั้งสาบานว่า “ถ้าขโมยจริงขอให้ฟ้าผ่า (แต่ไม่ตาย)”ผลกรรมในครั้งนั้นส่งผลให้วันหนึ่งขณะที่หลวงพ่อกำลังเทศน์โปรดญาติโยมอยู่ที่กุฏิหลังปัจจุบัน  ตอนบ่ายสี่โมงเย็นได้เกิดฟ้าผ่าลงมาที่ตัวของหลวงพ่อจนจีวรไหม้  แต่เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่ร่างกายของหลวงพ่อไม่ได้รับอันตรายใด ๆ  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ให้หลวงพ่อย้อนคิดถึงคำสาบานที่ให้ไว้กับยาย  และมักยกตัวอย่างเรื่องนี้มาสอนญาติโยมให้ปฏิบัติตัวอยู่ในศีลในธรรมเสมอ

ในเรื่องกฎแห่งกรรมนี้  หลวงพ่อจรัญได้ชี้แนะแนวทางสำหรับคนที่อยากหมดเวรหมดกรรมไว้ว่า
“อย่าไปสร้างเวรสร้างกรรมต่อไป  แค่นี้ก็พอแล้ว  ค่อยทยอยใช้  ไม่นานก็หมดไปเอง  กรรมเราเป็นคนทำ  เราก็ต้องเป็นคนแก้จะไปให้คนอื่นแก้ไม่ได้  การเจริญกรรมฐานทำให้รู้กฎแห่งกรรมว่าเคยทำอะไรไว้  จะได้แก้กรรม (ชดใช้กรรม) ของตัวเอง  แล้วแผ่ส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร  ที่ร้ายจะกลายเป็นดี  ลูกหลานจะมั่งมีศรีสุข  ประกอบอาชีพการงานมีเงินไหลนอง  ทองไหลมา”

หลวงพ่อจรัญ

ปณิธานของหลวงพ่อจรัญ
หลังจากรอดตายจากอุบัติเหตุที่ทำให้หลวงพ่อจรัญเกือบจบชีวิตในครั้งนั้น  ท่านได้ตั้งปณิธานอันแรงกล้าว่าจะ “ใช้หนี้โลกมนุษย์ด้วยการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า”ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับภิกษุสามเณร  ทั้งยังได้เปิดสำนักวิปัสสนากรรมฐานสำหรับฆราวาส  โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ  เชื้อชาติหรือศาสนา  ศิษยานุศิษย์ของท่านมีทั้งที่นับถือศาสนาพุทธ  คริสต์  และอิสลาม  ผลงานของหลวงพ่อจรัญเป็นที่ประจักษ์  ไม่เฉพาะในหมู่ประชาชนคนไทยเท่านั้น  แต่ชาวต่างประเทศก็ยอมรับนับถือท่าน  ปีหนึ่ง ๆ มีผู้เข้ามาปฏิบัติธรรมทั้งที่เป็นพระภิกษุ  สามเณร  แม่ชี  และประชาชนทั่วไปนับหมื่น ๆ คน

นอกจากนั้นหลวงพ่อจรัญยังได้รับการยกย่องว่าเป็นภิกษุที่มีความสามารถอย่างเอกอุ  คือเป็นทั้งนักพัฒนาที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้พระพุทธศาสนา  นักเทศน์ที่เข้าถึงจิตใจของคนทุกวัย และนักวิปัสสนากรรมฐานผู้มีความมาดมั่น  ท่านกล่าวว่า  “อาตมาไม่เคยสอนใครไปสู่สวรรค์  นิพพาน  แต่สอนกรรมฐานให้ระลึกบุญคุณคน  นึกถึงพ่อแม่  นึกถึงตนเอง  และสงสารตัวเอง  แค่นี้พอ…”

ตลอดเวลาที่ผ่านมา  หลวงพ่อจรัญได้เรียบเรียงหนังสือธรรมะที่มีคุณค่ายิ่งไว้เป็นจำนวนมาก  แต่ละปีท่านแจกหนังสือเป็นธรรมะวิทยาทานประมาณมากกว่า 1 แสนห้าหมื่นเล่ม ด้วยคุณงามความดีนี้ทำให้ท่านได้รับการถวายเกียรติคุณมากมาย  แต่เหนืออื่นใด  หลวงพ่อจรัญทำให้คนไทยหลายแสนหลายล้านคนเข้าถึงธรรมะที่แท้ของพระพุทธเจ้า  และทำให้คนไทยเข้าใจ “กฎแห่งกรรม” ดังที่ท่านกล่าวว่า

“ผู้เป็นชาวพุทธทุกคนควรเชื่อและพยายามศึกษาทำความเข้าใจในกฎแห่งกรรม  อาตมาอยากจะกล่าวว่า  ชาวพุทธที่ไม่เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมนั้น  หาใช่ชาวพุทธไม่…เพราะที่สุดแล้วต่อให้เหนือฟ้ายังมีฟ้า  แต่ไม่มีอะไรเหนือกฎแห่งกรรม”

งานวันกตัญญู
วันที่ 15 เมษายนของทุกปี  หลวงพ่อจรัญจะจัดงานสำคัญคือ  “งานวันกตัญญูต่อบรรพบุรุษ”  หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “งานวันกตัญญู”  โดยมีจุดประสงค์ให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้ความหมายของความกตัญญู  และเพื่อสืบสานวัฒนธรรมที่ดีงามต่อไปวันงาน  หลวงพ่อจะนิมนต์พระภิกษุมาเจริญพระพุทธมนต์และแจกเสื้อผ้าให้กับคนเฒ่าคนแก่และผู้มีพระคุณของท่าน  และทุกครั้งหลวงพ่อจะเชิญโยมมารดาของท่านคือ คุณย่าเจิม จรรยารักษ์ มาร่วมบำเพ็ญกุศลด้วย  ในวันนี้บรรดาศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อจะหลั่งไหลกันมาร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก  เพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป  รวมทั้งสรงน้ำหลวงพ่อจรัญ  เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระคุณของท่านที่ได้สั่งสอนอบรม  ให้แนวทางที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิตให้มีความสุข

คุณอนันต์ของพาหุงมหากาฯ

ครั้งหนึ่งหลวงพ่อจรัญฝันว่าได้พบกับ สมเด็จพระพนรัตน์  วัดป่าแก้วแห่งกรุงศรีอยุธยา  โดยในฝันท่านแนะให้หลวงพ่อจรัญเดินทางไปยังวัดใหญ่ชัยมงคล  เมื่อตื่นขึ้นหลวงพ่อจรัญจึงไปยังวัดนี้  และได้พบบทสวดมนต์ที่สมเด็จพระพนรัตน์ถวายให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชสวดเป็นประจำคือ“พาหุงมหาการุณิโก”  ซึ่งเป็นบทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ  พระธรรมคุณและพระสังฆคุณ  ตั้งแต่นั้นหลวงพ่อจรัญก็สอนการสวดพาหุงมหากาฯให้แก่ญาติโยมเรื่อยมา

“พาหุงมหากาฯเป็นบทสวดมนต์ที่มีค่าที่สุด  มีผลดีที่สุด เพราะเป็นชัยชนะอย่างสูงสุดของพระบรมศาสดาจากพญามาร  และด้วยอำนาจแห่งบารมีธรรมโดยแท้  ผู้ใดได้สวดเป็นประจำทุกวันจะมีชัยชนะ  มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดกาลนาน  มีสติระลึกได้  จะตายก็ไปสู่สุคติภูมิ  ต้องสวดพาหุงมหากาฯก่อนแล้วจึงมาถึงชินบัญชร  ให้จดจำกันเอาไว้  นั่นแหละมงคลในชีวิต”

 

สมุนไพรสูตรหลวงพ่อจรัญ
นอกจากจะให้ยารักษาใจแล้ว  เวลาญาติโยมเจ็บป่วยไปหา  หลวงพ่อจรัญก็มักจะแนะนำให้กินสมุนไพรเพื่อรักษาโรคทางกายด้วย  เช่น
- โรคกระเพาะ  ให้นำกล้วยน้ำว้าดิบฝานบาง ๆตากแดดให้แห้งสนิทแล้วป่นจนเป็นแป้ง  นำมากินครั้งละหนึ่งช้อน  แล้วดื่มน้ำตาม
- ปวดกระดูก  ปวดหลัง  นำต้นตะไคร้มาหั่นตากแดดให้แห้งสนิทแล้วนำมาคั่วให้เหลือง  เก็บไว้ชงหรือต้มกินน้ำเหมือนกินน้ำชา
- ยาอายุวัฒนะ  นำเกลือเม็ด 3 ส่วน  บอระเพ็ด5 ส่วน  มะขามเปียก 7 ส่วน  มาบดรวมกัน  กินเช้า - เย็นหรือก่อนนอน  ครั้งละก้อนเท่าหัวแม่มือ

ข้อมูลอ้างอิง
ชีวิต  การงาน  หลักธรรม  หลวงพ่อจรัญ  ฐิตธัมโม  สำนักพิมพ์ธรรมสภา อริยธรรม  ของพระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ  ฐิตธัมโม) บทสวดพุทธคุณ มหัศจรรย์จากการปฏิบัติธรรม  พระธรรมเทศนาของพระราชสุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ  ฐิตธัมโม) อนุสาสนีปาฏิหาริย์ของพระราชสุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ  ฐิตธัมโม)
เรื่อง เสาวลักษณ์  ศรีสุวรรณ  ภาพ วรวุฒิ  วิชาธร  

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.