ควรเลี้ยงลูก

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: ควรเลี้ยงลูก อย่างไรให้อยู่ในทางสายกลาง

ควรเลี้ยงลูก อย่างไรให้อยู่ในทางสายกลาง

ถาม: ดิฉันมีลูกอายุ 2 ขวบเศษ ควรเลี้ยงลูก อย่างไรให้อยู่ในทางสายกลางคะ

พระดร.นิตินัย อุดมกัน ตอบปัญหาธรรมนี้ไว้ว่า

ตอบ:ลูก 2 ขวบถือว่าเล็กไป แต่ก็สามารถฝึกหัดปฏิบัติได้ โดยการค่อย ๆ พาเขาไปวัด หัดให้รู้จักศีลธรรม สิ่งดีงาม และสอนให้รู้จักความประหยัดมัธยัสถ์ ให้ฝึกจนเป็นนิสัย แล้วเขาจะรู้จักคำว่าพอเพียง ซึ่งก็หมายถึง ทางสายกลาง นั่นเอง

เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยธรรมะและการใช้ชีวิตให้อยู่ในทางสายกลางนี้ มีประสบการณ์จริงของ คุณธนันรดา ธนานาถ มาร่วมแชร์ เธอเล่าให้ฟังว่า

ตั้งแต่เด็กฉันชอบความสมบูรณ์แบบ ชอบการแข่งขันและต้องเป็นที่หนึ่งให้ได้ จึงทุ่มเททำงานอย่างหนักจนเจ็บป่วยด้วยอาการสมองไม่ทำงานตามปกติ ต้องกินยาปรับสมดุลสารเคมีในสมอง แต่ก็ยังรู้สึกไม่มีความสุข เพื่อนจึงแนะนำให้ไปปฏิบัติธรรมที่ยุวพุทธิกสมาคมฯ 8 วัน 7 คืนที่ได้ปฏิบัติธรรม

ฉันค้นพบว่า ที่ผ่านมาใช้ชีวิตสุดโต่งเกินไปจนลืมรักตัวเองในทางที่ถูกต้อง หลังจากนั้นฉันจึงไปปฏิบัติธรรมทุก 3 เดือน นอกจากจะช่วยให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ความเครียดจากการทำงานก็ลดลงด้วย

เมื่อตั้งใจจะมีลูก ฉันตั้งจิตภาวนาขณะปฏิบัติธรรมที่เสถียรธรรมสถานว่า

“หากมีลูก ขอให้ได้ลูกที่มีจิตใจธรรมะ มาปฏิบัติธรรมและมุ่งสู่นิพพานเหมือนกัน”

หลังจากนั้นไม่นานก็ตั้งท้อง เมื่อคลอดลูก ฉันตั้งใจแน่วแน่ว่าจะ เลี้ยงลูก ด้วยธรรมะ เพราะธรรมะสอนให้ดำเนินชีวิตบนทางสายกลาง ไม่ตึงและไม่หย่อนจนเกินไป นอกจากน้ั้น ฉันเล่านิทานธรรมะ ทั้งนิทานเซน นิทานสีขาวให้ลูกฟังก่อนนอนทุกคืน และยังสอนให้ลูกสวดมนต์ นั่งสมาธิก่อนเริ่มทำการบ้านทุกครั้ง

คลิกเลข 2 ด้านล่างเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

เมื่อลูก อายุ 3 ขวบ ฉันพาลูก และสามีเข้าร่วมกิจกรรม“จิตประภัสสรตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์” ของเสถียรธรรมสถาน
ต่อมาก็ชวนเขาไปปฏิบัติธรรมด้วยกัน ปัจจุบันลูกอายุ 9 ขวบแล้ว เขาเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียนและรับผิดชอบงานที่มอบหมายอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง รวมทั้งช่วยเหลือกิจกรรมของโรงเรียนด้วยดี จนคุณครูต่างพากันชื่นชม

วันเกิดทุกปี ลูกไม่เคยเรียกร้องงานวันเกิดหรือของขวัญใด ๆ แต่กลับตั้งใจออมเงินส่วนตัวเพื่อชวนแม่ไปทำบุญ ฉันภูมิใจมากที่ลูกอายุเพียงเท่านี้ก็เข้าใจแล้วว่า สิ่งใดคือเปลือก สิ่งใดที่สำคัญต่อชีวิตของเขาจริง ๆ

ต้องขอบคุณความเจ็บป่วย เพราะหากไม่เจ็บป่วยในครั้งนั้น ฉันคงเลี้ยงลูกด้วยความเครียดและความกดดันให้เป็นไปอย่างที่ต้องการ ไม่ได้เติบโตเป็นเด็กที่มีธรรมะ ช่วยนำทางชีวิตอย่างทุกวันนี้

ไหนๆ ก็พูดกันถึงเรื่อง ทางสายกลาง แล้ว เพื่อให้เห็นภาพชัดของคำว่า ทางสายกลาง ขอยกตัวอย่าง ทางสายกลาง ในเรื่องของปัญญาและศรัทธา โดยเฉพาะเรื่องของพระพุทธศาสนากับไสยศาสตร์ ซึ่งพระไพศาล วิสาโล ได้ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในบทความ พุทธกับไสย : แค่ไหนจึงควร ว่า

…ในยามเป็นทุกข์ อย่างน้อยบางครั้งบางเวลาคนเราก็ต้องการ สิ่งปลอบประโลมใจยิ่งกว่าเหตุผล การรู้จักใช้ไสยศาสตร์ให้เป็น โดยมีธรรมะเป็นตัวนำ ย่อมช่วยให้เขาเกิดความอบอุ่นใจ สามารถตั้งหลักใหม่เพื่อแก้ปัญหาของตัวด้วยวิธีการที่ถูกทำนองคลองธรรม ขณะเดียวกันก็เป็นการให้กำลังใจแก่คนที่เพียรพยายามสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่ชีวิต ที่สำคัญคือ ไสยศาสตร์หากใช้ให้ถูกก็สามารถควบคุมกิเลสตัณหาของผู้คนให้อยู่ในขอบเขต เพื่อให้การแสวงหาโชคลาภและความสำเร็จแบบโลก ๆ เป็นไปในทางที่เหมาะสมไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น

…การเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นที่ยอมรับได้ในพุทธศาสนาหากว่าไม่ขัดต่อหลักการใหญ่ ๆ 3 ประการคือ

1.หลักกรรม กล่าวคือ ความเชื่อนั้นไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมให้เกิดความเพียรพยายามเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ
ด้วยการกระทำของตนเอง

2.หลักสิกขา กล่าวคือ ความเชื่อนั้นสามารถถูกชักนำไปสู่การฝึกฝนพัฒนาตนให้เจริญก้าวหน้า ไม่ติดจมอยู่กับสิ่งปลอบใจภายนอก

3.ความหมายที่แท้จริงของความศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ เห็นว่าความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงนั้นอยู่ที่คุณธรรมและปัญญา มิใช่ควบคู่ไปกับกิเลส หรือโลภะ โทสะ โมหะ

ทางสายกลาง ใช้ให้ถูก ใช้ให้เป็น เห็นผลดีในชีวิตอย่างแน่นอน


หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่นิตยสาร Secret คอลัมน์ Dhamma Daily หรือ dhammadaily2015@gmail.com


บทความน่าสนใจ

7 เคล็ดลับเพิ่มความ“สมานฉันท์”ในครอบครัว (ฉบับคุณลูกฝากถึงคุณพ่อคุณแม่)

ถอดรหัสวิธีเลี้ยงลูก แบบทดสอบวัดการเลี้ยงลูกสุดแม่นยำ!

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.