บุญแท้

ทำบุญรับปีใหม่ไทย ทำบุญอย่างไรจึงเรียกว่า “ บุญแท้ ”

ทำบุญรับปีใหม่ไทย ทำบุญอย่างไรจึงเรียกว่า “ บุญแท้ ”

ทำบุญแบบมีเงื่อนไขคืออะไร? ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงบุญได้ง่ายที่สุด? และเป็น บุญแท้ ต้องทำบุญกับพระเท่านั้นหรือจึงจะได้บุญ มาเจาะลึกเรื่องบุญๆ แบบถึงแก่นกับบทความนี้กันเลย แล้วคุณจะรู้ว่า การทำบุญที่แท้จริงเป็นเรื่องง่ายขนาดไหน ใครๆ ก็ทำบุญได้แม้แต่อยู่ในบ้าน

บุญ” เรื่องที่คุณเองยังอาจเข้าใจผิด        

ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดสำรวจความคิดเห็นของชาวพุทธทั้งหญิง – ชายในกรุงเทพฯ จำนวน 1,128 คน เมื่อ พ.ศ. 2548 ในหัวข้อ คนไทยกับการทำบุญ พบว่าคนไทยมักทำบุญในวันสำคัญทางศาสนามากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ทำบุญในวันสำคัญของตนเองและคนใกล้ชิด ทำบุญในเทศกาลสำคัญ ทำบุญเมื่อมีความทุกข์ และทำบุญในช่วงวันหวยออก

คนไทยหวังความสบายใจจากการทำบุญมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ ขอให้มีความสุขความเจริญ ขอให้รอดพ้นจากเรื่องร้ายๆ ที่เป็นอยู่ และขอสั่งสมบุญไว้ชาติหน้า

ผลการสำรวจทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ชาวพุทธส่วนมากยัง “ยึดติด” ในกรอบความคิดที่ว่า การทำบุญต้องมีวาระ และต้องได้รับผลตอบแทนตามมา ยิ่งกว่านั้น การทำบุญของใครหลายคนยังเต็มไปด้วยคำถาม “ทำอย่างไรให้ได้บุญมาก” เป็นเหตุให้ “เงื่อนไขแบบโลกทุนนิยม” เข้ามามีบทบาทในการทำบุญ ทำนองว่า ต้องลงทุนเท่าไรจึงจะได้กำไรสูงสุด

เงื่อนไขและแนวคิดดังกล่าวจึงเป็นผลให้เราหันมาใช้ ศรัทธา (ความลุ่มหลง) เป็นตัวนำบุญไป โดยปราศจาก ปัญญา กำกับ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่น่าแปลกเลยว่า เหตุใดเราจึงได้ยินเรื่องราวของการทุ่มเทวัตถุปัจจัยจำนวนมากๆ เพื่อหวังได้บุญขั้นนั้นขั้นนี้อยู่บ่อยๆ บางคนถึงขนาดว่าทำบุญจนเกินตัว หมดเนื้อหมดตัวก็มี

สุดท้ายการทำบุญในโลกทุนนิยมจึงไม่ต่างจากการสะสมแต้มบัตรเครดิต “ยิ่งทำมากยิ่งได้บุญมาก” ยิ่งได้ทำบุญกับพระเถระผู้ใหญ่ เกจิชื่อดัง ยิ่งได้บุญมากเป็นสองเท่า หรือยิ่งทำบุญแล้วคนรู้จักเรามากๆ ก็ยิ่งดี ฯลฯ

รู้จัก “บุญแท้” และหนทางไปสู่บุญ

หลวงปู่ขาว อนาลโย กล่าวไว้ว่า “บุญเป็นเครื่องกรองกิเลสที่เต็มอยู่ในจิตใจออกไปให้เหลือแต่ใจอย่างเดียว เพื่อให้ใจสะอาดปราศจากความรัก โลภ โกรธ หลง”

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี กล่าวไว้ว่า “บุญเป็นสิ่งที่ดี ทำลงไปแล้วใจสะอาด จิตใจผ่องใสและเบิกบาน ให้สังเกตอย่างนี้ อย่าเอาใจตนเป็นเครื่องวัด เอาคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องวัด สิ่งใดที่ทำด้วยกายหรือวาจา หรือนึกคิดด้วยใจ ถ้าหากไม่เบียดเบียนตนและคนอื่น อันนั้นแหละเรียกว่า ‘บุญ’ ”

หัวใจสำคัญของบุญจึงอยู่ที่การ “ลด ละ เลิก กิเลสตัณหาในใจให้ได้ ด้วยกระบวนการทางปัญญา เพื่อยังประโยชน์ให้เกิดทั้งในใจตนและผู้อื่น”

ทานและวัด” ไม่ใช่ทางออกหนึ่งเดียวของบุญ

หลายคนมักเข้าใจว่า ทำบุญกับทำทานมีความหมายเดียวกัน แท้ที่จริงแล้ว ทาน เป็นเพียงพื้นฐานของการทำบุญที่หยาบที่สุดและทำได้ง่ายที่สุดก็ว่าได้ ทำทานเพื่อลดความตระหนี่ถี่เหนียว การยึดติดในใจ

เราสามารถทำบุญได้ทั้งแรงกาย แรงใจ เวลา หรือวัตถุปัจจัย และสามารถทำบุญได้โดยไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำเป็นว่าต้องทำบุญที่วัดหรือทำบุญกับภิกษุสงฆ์เท่านั้น ดังความที่ปรากฏในพระไตรปิฎกว่า

“ชนเหล่าใดปลูกป่า สร้างสะพาน จัดหาเรือข้ามฟาก จัดที่บริการน้ำดื่ม ขุดบ่อน้ำ สร้างที่พักอาศัย บุญของชนเหล่านั้นย่อมงอกงามทุกทิวาราตรีกาล ชนเหล่านั้นเป็นผู้มีคุณธรรม มีศีลอยู่ในทางแห่งความดีงาม”

หากขยายความให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เรายังสามารถทำบุญได้ถึง 3 ประเภทด้วยกัน คือ

ทำบุญกับผู้อื่น อ่อนน้อมถ่อมตน ให้เกียรติคนรอบข้าง มีน้ำใจให้กันและกัน ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล ตอบแทนผู้มีพระคุณ ให้อภัย (อภัยทาน) ให้ความรู้ คำแนะนำแก่ผู้ไม่รู้ (วิทยาทานและธรรมทาน)

ทำบุญกับสังคม ปฏิบัติตามกฎหมาย รักษาสาธารณสมบัติ สืบสานวัฒนธรรมประเพณี ต่อต้านการคดโกง การเอารัดเอาเปรียบชาติบ้านเมือง เป็นหูเป็นตาให้สังคม

ทำบุญกับธรรมชาติ ตระหนักในประโยชน์ที่ได้รับจากป่าไม้ สายน้ำ ผืนดิน ท้องฟ้า เช่น ลดการใช้พลาสติกและโฟม ไม่ทิ้งขยะ ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลอง ไม่ทำลายป่าหรือล่าสัตว์ป่า และปลูกป่าทดแทน

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ให้ข้อคิดถึงเรื่องความนิยมในการเขียนชื่อ – นามสกุลลงบนข้าวของที่ถวายให้แก่วัดว่า แม้จะเป็นการสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมจริง แต่การทำบุญแบบนี้ถือว่ายังมีเยื่อใยในทานที่ถวาย เพราะมุ่งหวังให้คนรับรู้ว่าใครเป็นผู้ถวายทานนั้นหรือหวังให้คนชื่นชม การทำบุญอย่างนี้จึงไม่ได้ละความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนเลย แต่เป็นการประกาศตัวตนอีกแบบหนึ่งนั่นเอง

 

คลิกเลข 2 เพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.