ดิฉันปฏิบัติธรรม

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: ดิฉันปฏิบัติธรรม จนไม่อยากวุ่นวายทางโลก ทำอย่างไรดี

ดิฉันปฏิบัติธรรม จนไม่อยากวุ่นวายทางโลก ทำอย่างไรดี

ดิฉันปฏิบัติธรรม แล้วรู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไป ไม่อยากวุ่นวายกับเรื่องทางโลก แต่ดิฉันก็มีครอบครัวและลูก ที่ยังต้องเลี้ยงดู ภาระงานบ้าน และหนี้สินที่มีอยู่มากมาย ทำให้ดิฉันไม่มีความรู้สึกทางเพศกับสามีเลย ถือเป็นความผิดของดิฉันไหมคะ แต่เรื่องงานบ้านและลูกดิฉันมั่นใจว่าดูแลได้ไม่ขาดตกบกพร่อง ดิฉันเพิ่งอายุ 41 ปี พอพูดกับสามีเขาก็กระแนะกระแหนว่าดิฉันคงจะบรรลุธรรมแล้ว รักน่ะยังรักอยู่ แต่ดิฉันอยากให้สามีเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงนี้

ทุกคืนดิฉันได้แต่สวดมนต์ภาวนา ให้สามีพบหนทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หนุนนำการทำงานของเขาอยู่เสมอ โปรดให้คำแนะนำดิฉันด้วยค่ะว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

ท่าน ว.วชิรเมธี ตอบปัญหานี้ไว้ว่า

ปัญหาของคุณคือ

  1. ดิฉันก็มีครอบครัวและลูกที่ยังต้องเลี้ยงดู”
  2. ภาระงานบ้านและหนี้สินมากมายที่มีอยู่”
  3. “…ดิฉันไม่มีความรู้สึกทางเพศกับสามีเลย”
  4. ดิฉันอยากให้สามีเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงนี้”

ข้อ 1 และ 2 ถือเป็นปัญหาพื้นฐานที่ไม่ซับซ้อนอะไร ใคร ๆ เขาก็มีปัญหานี้กัน ถือเป็นเรื่องธรรมดา ทางแก้ก็ไม่พิสดารมากนัก คือใช้ปัญญาสามัญอย่างปุถุชนทั่วไปแก้ไขได้ ขอแต่เพียงไม่ท้อ ไม่เลิกสู้ วันหนึ่งก็อาจจะผ่านไปได้

แต่ปัญหาที่ว่า “ดิฉันไม่มีความรู้สึกทางเพศเลย” นี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่ ปัญหานี้น่าจะมาจากสองสาเหตุ

หนึ่ง คือ การมีภาระหนี้สินมากมาย ทำให้เครียดและคิดมาก จนส่งผลให้ไม่มีความต้องการทางเพศ หรือความต้องการทางเพศลดลง ถ้าสาเหตุมาจากเรื่องนี้ ลองถอนตัวออกมาจากปัญหาหนี้สิน เปลี่ยนสถานที่พักผ่อน ความรู้สึกทางกามารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชนก็อาจหวนคืนมาอีก – – นี่เป็นเรื่องธรรมดา

สอง หากความรู้สึกทางเพศลดลงจนกลายเป็นความเฉยเมยต่อเพศสัมพันธ์ และเกิดการปล่อยวางมากขึ้น จนเห็นเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นส่วนเกินของชีวิตไป มีความรู้สึก “จืดจางห่างเหิน” ต่อเพศสัมพันธ์ นี่อาจเป็นไปได้ว่าเป็นผลโดยตรงของการปฏิบัติธรรม

ประการหนึ่ง อาจเป็นเพราะจิตเสพคุ้นกับ “สมาธิสุข” คือ สุขจากสมาธิ ซึ่งประณีตกว่าโลกิยสุข ทำให้จิตถอนตัวจากสุขแบบโลกีย์หรือกามารมณ์โดยอัตโนมัติ ในกรณีเช่นนี้ หากเลิก หรือ ถอนตัวจากสมาธิกามารมณ์ หรือความต้องการทางเพศสัมพันธ์ก็อาจกลับมาได้อีก

ประการหนึ่ง เป็นเพราะจิตอยู่กับ “ปัจจุบันขณะ” ด้วยอานิสงส์ของ “สัมมาสติ” คือการตื่นรู้อยู่กับปัจจุบัน ทำให้ไม่มีการ “ปรุงแต่ง” ในเชิงกามารมณ์

พระพุทธองค์ตรัสไว้ชัดเจนว่า “กาม” หรือความปรารถนาทางเพศนั้น เกิดจาก “ความคิด” มากกว่าความต้องการทางกาย ดังนั้นถ้าเราตื่นรู้อยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่ตกเป็นทาสของความคิด คือไม่คิดถึงกามารมณ์เลย ความรู้สึกถวิลหากามก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าถอนตนออกมา จากการตื่นรู้อยู่ในปัจจุบันขณะ (คือเลิกตามดูอารมณ์ปัจจุบันปล่อยจิตไหลไปตามความคิดปกติ)  กามารมณ์ก็อาจกลับมาได้อีก

ประการหนึ่ง เป็นเพราะจิตพัฒนามาถึงขึ้นอนาคามิผล ซึ่งเป็นสภาวะจิตของคนที่บรรลุมรรคผล ระดับอนาคามี (อีกขั้นเดียวก็เป็นพระอรหันต์) ถ้าถึงขั้นนี้แล้ว จิตจะสำรอกกามารมณ์ทิ้งอย่างสิ้นเชิง ความรู้สึกต่อกามารมณ์จะเหลือเพียงความว่างเปล่า เหมือนคนมาพบ  “รสจืดของความจริง” หลังจากนั้น จิตจะเย็นชาต่อการปรุงแต่งทุกรูปแบบ จิตของพระอนาคามีนั้นอยู่เหนือกาม ถึงขั้นสามารถทิ้งกามได้อย่างไม่ไยดี เหมือนคนถ่มน้ำลายจากปาก แล้วไม่นึกเสียดายอีกเลย

ในกรณีของคุณนั้น ไม่แน่ใจว่าจิตเกิดจากสภาวะใด ที่บอกว่าไม่แน่ใจ เพราะผลของการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นเรื่อง“ปัจจัตตัง” คือรู้ได้เฉพาะตนจริง ๆ 

คุณคงต้องถามตัวเองพร้อมทั้งสังเกตตัวเองไปด้วยว่า ที่จิตถอนจากกามารมณ์นั้นเป็นเพราะสาเหตุใด

ความเครียด           (ทุกข์มากเกินไปจนไม่สนใจกามารมณ์)

สมาธิสุข               (พบสุขขั้นประณีต จิตจึงวางโลกิยสุข)

สัมมาสติ               (จิตตื่น จึงไม่ปรุงแต่งถึงกามารมณ์อีก)

อนาคามิผล            (จิตพ้นไปจากกามารมณ์)

ถ้าเป็นเพราะสาเหตุที่ 1 – 3 นั้น สักวันหนึ่งกามารมณ์จะกลับมาได้อีก แต่ถ้าเป็นเพราะสาเหตุที่ 4 นั้น คุณจะไม่กลับมาหากามารมณ์อีก (อนาคามี = ผู้ไม่กลับมาหากามสุข, กามารมณ์) แล้ว ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงต้องชี้แจงสามีไปตามความจริง ทางของคุณจะไม่ใช่ทางของชีวิตคู่อีกแล้ว แต่จะเป็นทางของนักบวช คือถึงไม่บวชเป็นสมณะ คุณก็จะครองตนแบบนักบวชอยู่ในครอบครัว คือกายอยู่ในบ้าน แต่จิตอยู่ในวัด คือไม่ผูกพันชีวิตตัวเองไว้กับความสุขแบบชาวบ้านอีกแล้ว

ในชั้นนี้เมื่อเรายังไม่สามารถฟันธงได้ว่า สภาวะจิตหน่ายกามของคุณ  เป็นเพราะสาเหตุใดแน่ ทางที่ดี คุณก็ควรจะสื่อสารกับสามีให้มากขึ้น  เพื่อร่วมกันรับผิดชอบปัญหาเฉพาะหน้า ให้ผ่านไปอย่างดีที่สุดไม่ใช่คุณมุ่งไปสู่ความสุขเพียงคนเดียว แล้วปล่อยให้สามีแบกภาระอยู่ฝ่ายเดียว

ชีวิตคู่นั้นคือ “สัญญาประชาคม” ที่คนสองคนให้ต่อกันและกัน ดังนั้นไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรก็ต้องร่วมกันแก้ไขอย่างดีที่สุด

 

พระเมธีวชิโรดม : พระอาจารย์ผู้ไขปัญหาธรรม

Image by Free-Photos from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

ปฏิบัติธรรมตามจริต | จริตแบบนี้ปฏิบัติธรรมแบบไหนดีนะ

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: ชวนพ่อปฏิบัติธรรม ยากจัง เป็นเพราะอะไร

Q: พ่อแม่ไม่เห็นด้วยที่ไปปฏิบัติธรรม ดิฉันควรปรับใจอย่างไรดีคะ

หัวใจของการปฏิบัติธรรมอยู่ที่การเจริญกุศล โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

เคล็ดลับของการปฏิบัติธรรมให้มีชีวิตชีวา โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ


 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.