สถานธรรมปลีกวิเวก

สถานธรรมปลีกวิเวก จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งเรียนรู้ธรรมะ ธรรมชาติ และวิถีชีวิต

สถานธรรมปลีกวิเวก อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ 

เส้นทางตัดผ่านภูเขาอันลดเลี้ยวเคี้ยวคด นำทางเราไปยัง สถานธรรมปลีกวิเวก อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่…สถานธรรมที่ตั้งอยู่แสนไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเพื่อนร่วมทางต่างลงความเห็นว่า “ปลีกวิเวก” สมชื่อ

ทันทีที่ก้าวลงจากรถ เราสัมผัสได้ถึงความเป็นธรรมชาติที่ไร้การปรุงแต่งใด ๆ ที่นี่โอบล้อมไปด้วยต้นไม้เขียวขจี โดยมีฉากหลังเป็นภูเขา มองออกไปไม่ไกลมีแปลงนา ที่ถูกเติมเต็มด้วยรวงข้าวสีทองรอการเก็บเกี่ยว และยังมีแปลงปลูกพืชผักที่เก็บกินได้อยู่ทั่วบริเวณ

ห้องพักที่นี่มีความเรียบง่าย สัปปายะ
ทุ่งข้าวสีทองในสถานธรรมปลีกวิเวก

พระดร. ฐาณี ฐิตวิริโย (จองเจน) หรือที่ทุกคนเรียกกันว่า “พระอาจารย์” เดินมาต้อนรับ พร้อมกับเล่าที่มาที่ไปของสถานที่แห่งนี้ให้ฟังว่า สถานธรรมปลีกวิเวกแห่งนี้ เริ่มก่อตั้งโดย พระอาจารย์คมสัน สิริปุญโญ ในตอนแรก ท่านเห็นว่าที่แห่งนี้ห่างไกลความเจริญ มีความสงบ สัปปายะ จึงตั้งใจจะใช้เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติเอง แต่หลังจากนั้น มีลูกศิษย์ลูกหาจากต่างถิ่นเข้ามาเที่ยวชมกันมาก ท่านจึงตัดสินใจพัฒนาสถานที่แห่งนี้ให้เป็นสถานปฏิบัติธรรม และต่อมาได้พัฒนาต่อยอดจนกลายเป็น “ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9” ที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียง นิสิตนักศึกษา หรือใครก็ตามที่สนใจ เข้ามาศึกษาเรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตแบบพอเพียง

คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

พระดร. ฐาณี ฐิตวิริโย (จองเจน) กำลังบรรยายเรื่องที่มาที่ไปของสถานธรรมปลีกวิเวก
พระอาจารย์กำลังบรรยายเรื่องการปลูกฝ้าย

ด้วยเหตุนี้ กิจวัตรของที่นี่จึงแตกต่างจากสถานปฏิบัติธรรมอื่นๆ ที่เราคุ้นเคย เพราะไม่ได้มุ่งเน้นการปฏิบัติธรรมตลอดเวลา แต่มุ่งเน้นการเรียนรู้วิถีชีวิตแบบพอเพียง ผสมผสานกับการเรียนรู้วิธีใช้ชีวิตด้วยหลักธรรมะ เมื่อรู้อย่างนี้ เราจึงไม่แปลกใจเลยว่า เหตุใดผู้มาปฏิบัติธรรมที่นี่จึงมีแต่วัยรุ่นและชาวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่

กิจกรรมสัมผัสวิถีชีวิตแบบพอเพียงที่สถานธรรมปลีกวิเวกนับว่าน่าสนใจไม่น้อย ที่นี่มีการปลูกมันไว้สำหรับเก็บกินเอง และยังให้แขกผู้มาเยือนอย่างเราได้ลงมือขุดมันเองด้วย โดยเรียกกันในชื่อ กิจกรรม “ช่างหัวมัน พลิกมันให้เป็นอาหาร” ซึ่ง “อาหาร” ที่ว่า ก็คือมันเทศปิ้งร้อนๆ เมนูสำหรับคลายความหนาวในยามเช้า

เณรและกลุ่มนักศึกษากำลังเก็บมันเทศ ในกิจกรรม “ช่างหัวมัน พลิกมันให้เป็นอาหาร”
มันเทศที่ถูกขุดขึ้นมา เตรียมนำไปทำความสะอาด แล้วทำเป็นอาหาร

กิจกรรม “กว่าจะมีข้าวก้นบาตร” ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เรียกให้เข้าใจง่าย คือกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าวในแปลงนา ที่ให้ทุกคนลองทำจริง เหนื่อยจริง เพื่อที่จะได้เรียนรู้วิถีชีวิตจริง ๆ

นักศึกษากำลังช่วยกันเก็บเกี่ยวข้าวในแปลงนา

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม “ทำบ้านดิน” ที่ให้เราเรียนรู้ตั้งแต่วิธีการผสมดิน ไปจนถึงการฉาบดินด้วยสองมือ

นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้กำลังเรียนรู้วิธีการฉาบบ้านดิน

แม้ที่นี่จะมุ่งเน้นการศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตแบบพอเพียงเป็นหลัก แต่ก็ใช้ว่าจะทิ้งการปฏิบัติธรรม พระอาจารย์จะสอดแทรกธรรมะเข้าไปในทุก ๆ กิจกรรม จนทำให้เรารับรู้ได้ว่า ธรรมะกับธรรมชาตินั้นไม่สามารถแยกกันได้

การเดินจงกรมท่ามกลางไอหมอกและความหนาวในยามเช้า
กิจกรรมแสงเทียนส่องธรรม ฝึกนั่งสมาธิโดยวางแก้วน้ำไว้บนศีรษะ

ระยะเวลาสามวันสองคืนที่เราอยู่ที่นี่ เราสัมผัสได้ว่า สถานธรรมแห่งนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่เป็นสถานปฏิบัติธรรมเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่เรียนรู้ธรรมะ ธรรมชาติ และวิถีชีวิต ที่รับรองว่า หากใครได้มา ก็จะได้เก็บความทรงจำดี ๆ กลับไปด้วยอย่างแน่นอน


สถานธรรมปลีกวิเวก ตั้งอยู่ที่ 411 หมู่ 2 บ้านกองลม ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ หากต้องการมาปฏิบัติธรรมที่นี่ สามารถโทรติดต่อทางวัดให้ไปรับที่สนามบินได้ โทร. 081 783 0506 Line: tnjong1221

เรื่อง รำไพพรรณ บุญพงษ์ ภาพ ศรายุธ นกแก้ว

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.