นาเฮียใช้

เรียนรู้ชีวิต ซึมซับจิตวิญญาณชาวนาไทย ที่ศูนย์เรียนรู้ฯ นาเฮียใช้ สุพรรณบุรี

เรียนรู้ชีวิต ซึมซับจิตวิญญาณชาวนาไทย ที่ศูนย์เรียนรู้ฯ นาเฮียใช้ สุพรรณบุรี

ท้องทุ่ง ไอดิน กลิ่นโคลนสาบควาย และบ้านเรือนไทยโบราณ คือสิ่งที่เชื้อเชิญให้เราเข้ามาเยี่ยมเยือนศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย ( นาเฮียใช้ ) จังหวัดสุพรรณบุรี แห่งนี้

เฮียใช้ หรือ คุณพิชัย เจริญธรรมรักษา เป็นลูกชายของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ที่หนีภาวะฝนแล้งในซัวเถา นั่งเรือเข้ามาอาศัยอยู่ใต้พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)โดยมาตั้งรกรากอยู่ที่ตำบลสวนแตง จังหวัดสุพรรณบุรี

เมื่อเฮียใช้อายุประมาณ 1 ขวบ ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านอู่ยา ขณะนั้นมารดาประกอบอาชีพหาบของแลกข้าวเปลือก ขายข้าวแกง ร้านกาแฟ และร้านขายของชำ ตามลำดับ เมื่อเฮียใช้เติบโตขึ้น ได้เข้ามาช่วยครอบครัวรับซื้อข้าวเปลือกและรับจ้างบรรทุกของ กระทั่งในปี พ.ศ. 2540 ครอบครัวได้ตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพ จากรับซื้อข้าวเปลือกมาเป็นการรวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อการค้าโดยมีลูก ๆ คอยช่วยดูแล ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เฮียใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว”

01
รถบริการนำนักท่องเที่ยวชมความเขียวขจีของทุ่งนา

เพื่อเป็นการตอบแทนข้าวและชาวนาผู้มีพระคุณ แผ่นดินที่มีพระคุณ และพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ครอบครัวเจริญธรรมรักษา จึงตัดสินใจสร้างศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย (นาเฮียใช้) ขึ้นมา โดยจัดแสดงบ้านเรือนไทยของภาคกลางที่มีอายุประมาณ 100 ปี พร้อมอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ในการดำเนินชีวิตของคนไทยในครั้งอดีต นอกจากนี้ยังถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องข้าวให้ชาวนาและผู้ที่สนใจทั่วไปเข้ามาศึกษา โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเป็นประธานในพิธีเปิด เมื่อปี พ.ศ.2558

02
ภาพแปลงปลูกข้าว มองจากด้านบนหอเตือนภัยชาวนา

ติดตามอ่านต่อหน้า 2 

ภายในศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ มีสิ่งที่น่าสนใจหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น

เรือนศูนย์รวมดวงใจไทยทั้งชาติ ภายในจัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง พระบรมสาทิสลักษณ์ราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 และรูปภาพบุคคลสำคัญ ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการพัฒนาวงการข้าวไทย

05
มุมอ่านหนังสือ สำหรับผู้สนใจศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกข้าว
2
โต๊ะเสวยพระกระยาหารเมื่อครั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเป็นประธานในพิธีเปิด

เรือนพระแม่โพสพ ภายในมีรูปหล่อพระแม่โพสพในยุคต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และ พระแม่โพสพ “รุ่น 25 ศตวรรษ” หรือพระแม่โพสพที่หล่อในปี 2500 ซึ่งได้จัดพิธีพุทธาภิเษกที่ท้องสนามหลวง พร้อมทั้งมีพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวนาให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมที่สืบต่อกันมา

ยุ้งเก็บข้าว จัดแสดงอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เครื่องมือทำนา เครื่องมือดักจับปลา และเครื่องมือสำหรับใช้ในงานไม้ นอกจากนี้ยังมีคอกควาย ซึ่งเป็นอีกจุดไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวนิยมเข้ามาถ่ายภาพ

04

08
เรือนวิถีชีวิตชาวนาไทยในอดีต

เรือนวิถีชีวิตชาวนาไทยในอดีต ประกอบด้วยเรือนไทย 3 หลัง คือ เรือนไทยหลังใหญ่ เรือนลูกซ้าย เรือนลูกขวา และครัวไฟ อันเป็นสถานที่ประกอบอาหารในอดีต ภายในจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้แบบโบราณที่หาชมได้ยาก

07
เรือนไทยทั้ง 3 หลัง
09
ข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนสมัยโบราณที่หาชมได้ยาก

เรือนหนังสือพระราชกรณียกิจและเรือนหนังสือข้าว เป็นการจำลองเรือนไทยให้เหมือนโรงเรียนในสมัยอดีต ภายในเก็บรวบรวมหนังสือเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของในหลวง และหนังสือข้าว เพื่อให้ชาวนาหรือผู้สนใจเข้ามาศึกษาหาความรู้

ร้านโชห่วย จัดจำลองร้านค้าในสมัยอดีตมีทั้งชั้นวางสินค้า โต๊ะ เก้าอี้ รวมทั้งสินค้าหายากที่เคยจำหน่ายในร้านโชห่วยสมัยก่อน

แปลงนาสาธิต แปลงข้าวเขียวขจีที่จัดสาธิตการปลูกข้าวในระยะต่าง ๆ ให้คนที่สนใจเข้ามาศึกษา โดยจะจัดสาธิตการปักดำข้าวทุกวันที่ 1 ของเดือน

03
แปลงสาธิตการปลูกข้าวพันธุ์ต่าง ๆ

หอเตือนภัยชาวนา หอคอยไม้ 3 ชั้น ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมทุ่งข้าวเขียวขจี และทัศนียภาพรอบ ๆ ศูนย์เรียนรู้ฯ

na
หอเตือนภัยชาวนา จุดชมทัศนียภาพที่ไม่ควรพลาด

นอกจากนี้ ก่อนกลับอย่าลืมแวะ ศูนย์จำหน่ายอาหารและของฝาก ภายในมีข้าวจำหน่ายหลายชนิดพันธุ์ เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวทับทิมชุมแพ ข้าวเหลืองอ่อน ข้าวเหนียวลืมผัว นอกจากนี้ยังมีผักต่างๆที่ปลูกในโรงเรือนปลอดสารเคมี เสื้อที่ระลึกของศูนย์เรียนรู้ฯ

สถานที่แห่งนี้ นอกจากจะชวนให้หวนนึกถึงวิถีชาวไทยเมื่อครั้งอดีตแล้ว ยังทำให้เราได้สำนึกในบุญคุณพ่อหลวงของแผ่นดินที่มีต่อชาวไทยอีกด้วย…ซีเคร็ตอยากชวนคุณลองมาสัมผัสเองสักครั้ง

เวลาเปิด-ปิด : เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น. ผู้ที่สนใจเยี่ยมชมทั่วไป ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย 

ที่อยู่ : เลขที่ 150/6 หมู่ 8 ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

โทรศัพท์ : 0 3544 6955 หรือสนใจติดต่อดูงานเป็นหมู่คณะ โทรศัพท์ 09 2626 1515

E-mail : H.chai_riceseed@hotmail.com

เว็บไซต์ : herechai.com, เฟซบุ๊ก ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย – นาเฮียใช้


เรื่อง รำไพพรรณ บุญพงษ์ ภาพ ศรายุธ นกแก้ว

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.