ปลดทุกข์

Dhamma Daily : ทุกข์เหลือเกิน มีวิธี ” ปลดทุกข์ ” อย่างไร

ทุกข์เหลือเกิน มีวิธี ” ปลดทุกข์ ” อย่างไร

ถาม: ทุกวันนี้ไม่มีความสุขเลย เราจะ ” ปลดทุกข์ ” ไม่ให้ความทุกข์เกาะกินใจได้อย่างไรบ้าง

พระอาจารย์มานพ อุปสโม ศูนย์ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษาราชนครินทร์ (เขาดินหนองแสง) จังหวัดจันทบุรี ตอบปัญหานี้เรื่อง ” ปลดทุกข์ ” นี้ไว้ว่า

ตอบ: วิธี “ปลดทุกข์” ทำได้ด้วยใจของเราเอง แต่ถ้าพูดในภาพรวมความทุกข์เป็นเรื่องที่เราต้องเจอะเจอกันทุกคน ดังคำกล่าวที่ว่า “ชาติปิ ทุกขา ชะราปิ ทุกขา มะระณัมปิ ทุกขัง” ทุกข์เพราะการเกิด ทุกข์เพราะความแก่ ทุกข์เพราะความตาย หรือจะเรียกว่าทุกข์ประจำก็ได้ นอกจากนั้น ความทุกข์ก็ยังมีทุกข์จร เช่น ทุกข์เพราะความเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์เพราะความไม่สบายกายไม่สบายใจ หวังแล้วไม่ได้สิ่งที่หวัง เป็นต้น

แต่ถ้าจะลงรายละเอียด อรรถของทุกข์มี 3 อย่าง เรียกว่าทุกขตา 3 อย่าง คือ

หนึ่ง ทุกขทุกข์ คือสภาพของความทุกข์ได้แก่ ทุกข์ทางกายกับทุกข์ทางใจ

สอง วิปริณามทุกข์ คือเป็นทุกข์ที่เกิดจากความแปรปรวน

และสาม สังขารทุกข์ คือ ความทุกข์เพราะสังขาร ตัวสภาวะของสังขาร กล่าวคือสิ่งทั้งปวง เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายไป ทำให้คงสภาพอยู่ไม่ได้ พร่องอยู่เสมอ และทำให้เกิดทุกข์แก่ ผู้ที่ยึดถือ เช่น หากยังยึดกายก็ทุกข์กาย หากยึดใจก็ยังเป็นทุกข์ทางใจนั่นเอง

ถ้าเรามีธรรมอยู่ในใจก็จะมีภูมิต้านทานในตัวอยู่แล้ว ให้กำหนดดู รู้เท่าทันใจ ฝึกเจริญสติบ่อยๆ โดยอาศัยสติสัมปชัญญะที่เกิดจากการสังเกต 4 สิ่ง คือ กาย เวทนา จิต ธรรม หรือ สติปัฏฐาน 4 นั่นเอง การหมั่นสังเกตทั้งกายและใจอยู่เสมอ จะทำให้จิตใจหนักแน่น ส่งผลให้เราสามารถห้ามใจไม่ให้คิดฟุ้งซ่านได้ ในที่สุดใจก็วางเฉยได้เองและไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ แล้วเราก็จะไม่เป็นทุกข์จนถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย

จริงอยู่ ทุกข์ใจเราดับที่ใจได้ แต่ก็มีคนมากมายที่ดับทุกข์ไม่ทัน ชิงฆ่าตัวตายไปก่อน เราจะเห็นว่าคนที่ฆ่าตัวตายก็เพราะมีความทุกข์ทางใจกันทั้งนั้น ทั้งๆ ที่คนย่อมเห็นชีวิตของตัวเองน่ารักที่สุด น่าหวงแหนที่สุด แต่ความทุกข์ทางใจกลับทำให้คนเรายอมสละชีวิตของตัวเองได้ ที่จริงความทุกข์ทางใจนี่แหละที่เราต้องเข้าไปรู้จักมันให้มากๆ ทางที่ถูกควรจะตีสนิทกับความทุกข์ไปเลย ไปทำความคุ้นเคยกับความทุกข์ ไปอยู่กับความทุกข์แล้วเราจะใช้ทุกข์ดับทุกข์ได้

เวลาใจอยู่กับความทุกข์ ก็จะไม่ไปอยู่กับสิ่งที่ทำให้เราเป็นทุกข์ เวลาคนเราเป็นทุกข์ก็ต้องมีสาเหตุ มีสิ่งที่ทำให้ใจเป็นทุกข์ยกตัวอย่าง ความทุกข์ที่เกิดจากคนรักจากเราไป เวลาคิดถึงคนรักใจก็เป็นทุกข์ใช่ไหม แต่ถ้าเรา “มองใจ” ที่มันเป็นทุกข์ “อยู่กับใจ”ที่เป็นทุกข์ “ดูใจ” ที่เป็นทุกข์ ใจก็จะไม่คิดถึงคนรัก เมื่อไม่คิดถึงใจก็คลายจากความทุกข์ได้เอง

ถ้าถามว่าความทุกข์ดีหรือไม่ ก็คงต้องตอบว่าไม่ดี ใครๆ ก็ไม่อยากได้ แต่ถ้าเราสามารถเข้าไป “มองดูรู้ทัน” ความทุกข์นั้นก็มีประโยชน์ เอาทุกข์มาดู มาเป็นมุมมองจนรู้เท่าทัน ก็ทำให้ใจเราพ้นจากความทุกข์ได้

ในอริยสัจ 4 เริ่มด้วยทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค การบรรลุในอริยสัจธรรมก็คือ เข้าไปรู้ เข้าไปเห็น เข้าไปแจ้งในอริยสัจ 4ประการ ถ้าไปดูเรื่องการปฏิบัติธรรม เราจะเห็นว่าต้องนำตัวทุกข์ซึ่งก็คือตัวกายตัวใจของเรามาเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เห็นทุกข์ละสมุทัย แจ้งนิโรธ มรรคเกิดขึ้นครบบริบูรณ์ นั่นคือหนทางแก้ทุกข์ที่ได้ผลอย่างแท้จริง

วิธี ” ปลดทุกข์ ” อีกอย่างหนึ่งก็คือ อริยสัจ 4 หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่

ทุกข์ สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์)

นิโรธ (ความดับทุกข์)

มรรค (หนทางแห่งการดับทุกข์)

เราจะดับทุกข์ได้ก็ต่อเมื่อได้ทำหน้าที่อันพึงทำต่ออริยสัจ 4

ที่มนุษย์หลายคนยืนยันว่าในชีวิตเขาไม่เคยมีความทุกข์ นั่นเป็นเพราะเขาไม่รู้จักความทุกข์ ถ้าเขารู้จักความทุกข์ เขาจะเข้าใจว่าชีวิตเป็นทุกข์ ใครบ้างไม่เคยเจ็บป่วย ใครบ้างไม่เคยผิดหวัง ใครบ้างไม่เคยรู้สึกขัดใจ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นทุกข์หรือถ้าจะดูอาการยืน เดิน นั่ง นอน ใครบ้างเดินแล้วไม่เมื่อย ใครบ้างนั่งแล้วไม่เมื่อย หรือต่อให้นอนก็ไปดูเถอะว่า นอนไม่กี่ชั่วโมงยังพอไหว แต่ถ้าให้นอนสักสองวัน คงไม่มีใครทนได้ การเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือความทุกข์ แม้แต่คนที่ร่ำรวยมากๆ บางคนก็อาจจะทุกข์ยิ่งกว่าคนธรรมดาด้วยซ้ำไป เพราะคนไม่มีสตางค์จะมีความอดทนเป็นธรรมดา แต่คนมีสตางค์มีคนคอยเอาใจ อยู่ตลอดจะรู้สึกขัดใจง่าย อะไรนิดอะไรหน่อยก็ขัดใจ หงุดหงิด รำคาญ ฟุ้งซ่าน ขัดเคือง ใจยังเร่าร้อน ยังทุรนทุราย ยัง กวัดแกว่ง และยังหนีความทุกข์ไม่พ้นเหมือนกัน

บางคนอาจรู้สึกว่าทุกข์กายทนได้ยากกว่าทุกข์ใจ อันที่จริงทุกข์ทางกายยังพอทนได้ แต่ทุกข์ทางใจเวลาเจอจังๆ มันหมดเลยนะ ต่อให้มีสมบัติร้อยล้านพันล้านก็ไม่อยากจะครอง สมบัติร้อยล้านพันล้านนั้น ต่อให้เป็นพระราชามหากษัตริย์ถ้าลองผิดหวังขึ้นมาละก็ อาจจะไม่อยากอยู่ในพระราชบัลลังก์อีกต่อไป


ธรรมะจากพระอาจารย์มานพ อุปสโม : พระอาจารย์ผู้ไขปัญหา

หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่

Secret Magazine (Thailand)

ขอบคุณรุปภาพจาก คุณSam Austin www.unsplash.com


บทความน่าสนใจ

Q : ดิฉันควรจะทำอย่างไรจึงจะหลุดพ้นจากความทุกข์ โดยไม่เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์อีกคะ

ลาออกจากความทุกข์ | กำพล ทองบุญนุ่ม

อยู่กับทุกข์ให้เป็น ก็ไม่เป็นทุกข์ พระไพศาล วิสาโล

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.