รักษาศีล

10 ขั้นตอน ชวนคนรักให้ รักษาศีล หลักการแสดงความรักที่เป็นรูปธรรม

10 ขั้นตอน ชวนคนรักให้ รักษาศีล

ศีลถือเป็นหนทางแห่งความเจริญหนทางหนึ่ง แต่การจะชวนคนใกล้ชิดหรือคนที่เรารัก ให้มา รักษาศีล นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เราจึงขอแนะนำวิธีการเชิญชวนที่ได้ผล นั่นคือหลักการ 10 ช. เพื่อเชิญชวนคนรักมารักษาศีลกันค่ะ

1 ชวนในขณะที่อีกฝ่ายมีอารมณ์สงบ

การจะเชิญชวนใครให้หันมาประพฤติดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ นั้น ควรชวนในจังหวะที่เขามีอารมณ์สงบ โดยเฉพาะการชวนให้รักษาศีลข้อ 5 ควรชวนตอนที่เขาไม่ดื่มสุรา หรือตอนที่เมาสุราน้อยที่สุด ซึ่งน่าจะเป็นตอนที่มีสติสงบที่สุด เพราะการสื่อสาร ชักชวนในภาวะที่สงบ จะช่วยให้เขาพร้อมที่จะรับฟังด้วยความมีสติ

2 ชวนด้วยน้ำเสียงและท่าทีที่เป็นมิตร

การชวนคนที่เรารักมารักษาศีล ด้วยน้ำเสียงและท่าทีที่เป็นมิตรนั้น จะส่งผลต่อการตอบรับที่ดี เพราะจะทำให้เขารู้สึกว่าได้รับการยอมรับ และให้เกียรติจากเรานั่นเอง กล่าวคือ ควรชวนด้วยระดับเสียงกลางๆ เพราะระดับเสียงกลาง ให้ความรู้สึกที่สุภาพเป็นมิตรมากกว่าเสียงระดับต่ำและระดับสูง และควรพูดให้มีหางเสียง เช่นครับ ค่ะ จ๊ะ จ้ะ เป็นต้น ไม่พูดและแสดงท่าทีข่มขู่ หรือเหน็บแนม เย้ยหยัน และควรมีกริยาท่าทีที่สุภาพตามมารยาททางสังคมด้วย

2

3 ชวนด้วยความห่วงใยและปรารถนาดี

การชวนด้วยความห่วงใยและปรารถนาดีนั้น คือการสื่อสารเพื่อให้เขารับรู้ว่าเราห่วงใยต่อคุณภาพชีวิต และสังคมของเขา และปรารถนาให้เขาพ้นจากวังวนของการไม่รักษาศีล เช่น อาจจับมือเขาด้วยความสุภาพ พร้อมกับสบตาด้วยแววตาที่เป็นมิตร แล้วพูดว่า “ฉันเป็นห่วงคุณมากๆ อยากให้คุณมีสุขภาพสมบูรณ์ และไปเล่นกีฬาด้วยกันเหมือนในอดีต ไม่อยากให้ใครๆ มองคุณด้วยสายตาดูหมิ่น เรามาเริ่มรักษาศีลกันเถอะนะคะ”

4 ชวนให้เห็นคุณค่าของการรักษาศีล

การชวนให้เห็นคุณค่าของการรักษาศีล คือการชวนเขาให้พิจารณาถึงข้อดีของการรักษาศีล ดังเช่นพระกล่าวสรุปตอนท้ายของการให้ศีลว่า การรักษาศีลทำให้มีความสุข (สีเลนะ สุคะติง ยันติ) การรักษาศีลทำให้มีทรัพย์ (สีเลนะ โภคะสัมปะทา) และการรักษาศีลทำให้ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง (สีเลนะ นิพพุติง ยันติ) เพราะฉะนั้นพึงมารักษาศีลกันเถิด (ตัสมา สีลังวิโสธะเย) และหากอธิบายพร้อมยกตัวอย่าง ให้เห็นคุณค่าและข้อดีของการรักษาศีลอย่างเป็นรูปธรรม จากบุคคลที่ประสบความสำเร็จจากการรักษาศีลด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะเป็นแบบอย่างที่ดีที่ทำให้เขาอยากรักษาศีลมากยิ่งขึ้น

5 ชวนสนทนาถึงผลเสียของการไม่รักษาศีล

การชวนผู้ที่ไม่รักษาศีล สนทนาเกี่ยวกับผลเสียของการไม่รักษาศีล ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมนั้น จะช่วยให้เขาตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเองมากขึ้น ยิ่งถ้าชี้ให้เขาเห็นตัวอย่างของความพิการ ตลอดจนบุคลิกภาพและภาพพจน์ที่ไม่ดีของผู้ที่ไม่รักษาศีล ก็ยิ่งจะช่วยให้เขาเห็นถึงผลเสียของการประพฤติผิดศีลชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งการกลัวผลกระทบนี้เองจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

6 ชวนให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะรักษาศีล

การชวนให้เขาเกิดแรงบันดาลใจเพื่อจะรักษาศีลนั้น เป็นวิธีการที่ได้ผลมากและเป็นวิธีที่ยั่งยืน เพราะแรงบันดาลใจจะทำให้เกิดความมุ่งมั่นจริงจังและจริงใจที่จะกระทำ จึงส่งผลให้รักษาศีลได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง แรงบันดาลใจเป็นพลังความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขาและสิ่งอื่นๆ ที่สำคัญและมีคุณค่าต่อตัวเขา เช่น ทำเพื่อพ่อแม่ เพื่อลูกเพื่อถวายแด่สิ่งที่เขาเคารพนับถือ อาทิ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น

7 ชวนให้รักษาศีลในโอกาสพิเศษ

การชวนให้รักษาศีลในโอกาสพิเศษนั้น หมายถึงการเริ่มต้นและตั้งเป้าหมายที่จะรักษาศีล ในทางจิตวิทยา การตั้งเป้าหมายเป็นหัวใจสำคัญของการเริ่มต้น ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ เช่น รักษาศีลในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของตนเอง หรือรักษาศีลในช่วงเข้าพรรษา รักษาศีลทุกวันพระ รักษาศีลเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เป็นต้น

3

8 ชวนไปพบผู้ทรงศีล

การชวนไปพบผู้ทรงศีล เช่น พระสงฆ์และแม่ชี หรือฆราวาสที่รักษาศีลเคร่งครัด จะช่วยให้เขาเห็นแบบอย่างของผู้รักษาศีลแล้วได้ผลดี ยิ่งผู้ทรงศีลเหล่านั้นอธิบายให้เข้าใจ และชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของการรักษาศีล จะยิ่งจูงใจให้เขาอยากรักษาศีลยิ่งขึ้น นอกจากนั้น การพาไปพบผู้ทรงศีลยังเป็นการไปพบผู้เชี่ยวชาญ ที่จะให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และน่าเชื่อถือในทางปฏิบัติอีกด้วย จะส่งผลให้เข้าใจและรู้จักวิธีการรักษาศีลอย่างเป็นระบบระเบียบ มีวินัยทางใจที่เข้มแข็ง เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ต่อไป

9 ชวนด้วยความพยายาม

การชวนด้วยความพยายามเป็นหัวใจสำคัญยิ่งของการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะผู้ที่พยายามจะรักษาศีลบางคนอาจรู้สึกย่อท้อหรือลังเลใจ ดังนั้นจึงต้องชวนบ่อยๆเขาจึงจะเริ่มต้นรักษาศีล แต่หากเขารักษาศีลได้ระยะหนึ่งแล้วหันกลับไปผิดศีลเช่นเดิม ก็ให้เริ่มเชิญชวนครั้งต่อไปอีก เรียกว่า “ชวนแล้วชวนอีก” ชวนด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวดและอย่าย่อท้อ จนกว่าเขาจะรักษาศีลได้อย่างถาวร ข้อสำคัญคือ ต้องชวนในจังหวะที่เหมาะสมดังที่อธิบายมาแล้ว

10 ชวนได้สำเร็จแล้วต้องชื่นชม

การชื่นชมผู้ที่มีความพยายามจะรักษาศีลนั้นเป็นการสื่อสารเพื่อให้กำลังใจ แม้เขาอาจรักษาศีลได้ระยะหนึ่งก็ให้ชื่นชม เพื่อเขาจะได้พยายามรักษาต่อไปอีกระยะหนึ่ง แล้วต้องพยายามชวนต่อ อย่าตำหนิ ติเตียน หรือเย้ยหยันเขาว่ารักษาศีลได้ช่วงเดียวเท่านั้น เมื่อเขาเริ่มที่จะรักษาศีลอีกก็ชื่นชมอีก และควรค้นหาคุณงามความดีด้านอื่นๆของเขามาชื่นชม เพื่อช่วยให้เขารู้สึกว่าตัวเขามีคุณค่า เป็นปฏิบัติการจิตวิทยาการสื่อสารที่จะช่วยจูงใจและปรับพฤติกรรมได้ดียิ่ง

หลักการสิบข้อในการเชิญชวนคนรักมารักษาศีลตามที่เสนอมานั้นควรทำไปพร้อมๆ กัน หรือทำให้สัมพันธ์กันอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอโดยเรียงลำดับตั้งแต่ข้อ 1 ไปจนถึงข้อ 10 โดยเฉพาะ 3 ข้อแรก คือการชวนในขณะที่เขามีอารมณ์สงบ ชวนด้วยน้ำเสียงและท่าทีที่เป็นมิตรและชวนด้วยความห่วงใยและปรารถนาดีนั้น เป็นหลักการพื้นฐานที่จะช่วยให้การชวนข้อ 4 ถึงข้อ 10 ได้ผลยิ่งขึ้น

อนึ่ง การชวนคนรักมารักษาศีลทั้ง 10 ข้อนี้เป็นทั้งหลักการที่แสดงออกถึงความรักที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนเป็นเครื่องมือชวนคนรักมารักษาศีลที่ได้ผลยิ่ง หากเราทุกคนร่วมกันรักษาศีลและประพฤติดีต่อกันโดยทั่วถึงแล้ว ก็จะเป็นการส่งเสริมสุขภาพทั้งร่างกาย จิตใจสังคม และจิตวิญญาณได้เป็นอย่างดี

การพัฒนาสังคมของเราให้เป็นสังคมแห่งศีลธรรมและสันติสุขก็จะไม่ไกลเกินเอื้อม

 

เรื่อง วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.