การดำเนินชีวิต

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: ความรู้สึก ของเวทนา จิต ธรรมเป็นอย่างไร

เวทนา จิต ธรรม หมายความว่าอย่างไร รบกวนพระอาจารย์ช่วยอธิบายด้วยค่ะ

พระอาจารย์มานพ อุปสโม : พระวิปัสสนาจารย์ จากศูนย์ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาราชนครินทร์ (เขาดินหนองแสง) ตอบคำถามธรรมะเรื่อง เวทนา จิต ธรรม นี้ว่า

เวทนา เป็นความรู้สึก 3 อย่าง คือ สบาย ไม่สบาย และเฉย ๆ เมื่อมองเข้าไปในจิต เราจะเห็นความรู้สึกอย่างใด
อย่างหนึ่ง รู้สึกสบาย คือ สุขเวทนา ไม่สบาย คือ ทุกขเวทนา ส่วนเฉย ๆ คือ อุเบกขาเวทนา

จิต คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นในทวารทั้ง 6 คือ รับรู้ผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้สึกในความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึงบนร่างกาย การนึกคิดโดยตรง ก็เป็นจิต เมื่อดูความรู้สึกตรงนี้ ก็จะเห็นความเป็นจริง เรียกว่า วิปัสสนา ทำให้เกิดปัญญา

ส่วน ธรรม คือ อารมณ์ต่าง ๆ ของความรู้สึกที่มาปรากฏให้รู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อธิบายง่าย ๆ ว่า ความรู้สึกที่นอกเหนือจากเวทนากับจิตนั้นจัดเป็นธรรม

แล้ว เวทนา จิต ธรรม มีประโยชน์อะไรกับชีวิตประจำวัน?

เราทุกคนจำเป็นต้องมี “สติ” เป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินชีวิตประจำวัน และเวทนา จิต ธรรม นี้เองก็เป็นฐานของสติปัฏฐาน เมื่อพิจารณาบ่อยๆ ควบคู่กับฐานกายแล้ว ก็จะทำให้เห็นสิ่งทั้งหลายตกอยู่ใต้กฎอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ กล่าวไว้ว่า การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันควรปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน กล่าวคือ เมื่อมีสิ่งใดมากระทบหรือมีสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายใจ ก็ให้รู้ตัว (สติ สมาธิ) มีความเข้าใจว่าไม่เที่ยง เป็นเช่นนั้นเอง (ปัญญา) วางใจให้เป็นอุเบกขา เพื่อฝึกใจให้คลายความยึดมั่นที่ต้องการให้ได้ดังใจ แม้จะยังไม่บรรลุธรรม แต่ก็เบาบางจากความทุกข์ ช่วยให้ใจร่มเย็นเป็นสุขได้

หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่ นิตยสาร Secret คอลัมน์ Dhamma Daily หรือ dhammadaily2015@gmail.com


บทความน่าสนใจ

ภูมิคุ้มกันความทุกข์: พระไพศาล วิสาโล

ปฏิบัติธรรมตามจริต | จริตแบบนี้ปฏิบัติธรรมแบบไหนดีนะ

“โยคะสมาธิ” ศาสตร์แห่งการฝึกสติให้อยู่กับลมหายใจ

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.