เฉลยข้อคาใจ : พระอุ้มลูกสาว…อาบัติหรือไม่?

กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในโลกออนไลน์ หลังจากมีภาพ พระบี้ ธรรศภาคย์ อุ้ม น้องเป่าเปา ลูกสาว เผยแพร่ออกมา…Secret เชื่อว่า หลายคนมีคำถามว่า ตกลงพระสามารถอุ้มลูกสาวได้หรือไม่ เราจึงหาคำตอบมาฝากกัน

รู้จักกับ “อาบัติ” กันก่อน
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า อาบัติ แปลว่า การต้อง การล่วงละเมิด หมายถึงโทษที่เกิดจาการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ ใช้เรียกความผิดทางวินัยของพระภิกษุว่า ต้องอาบัติ

อาบัติ มี 7 อย่าง สามารถจัดรวมประเภทได้หลายแบบ แต่ส่วนมากจัดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  • ครุกาบัติ หมายถึงอาบัติหนัก อาบัติที่มีโทษร้ายแรง มี 2 อย่างคือ อาบัติปาราชิก อาบัติสังฆาทิเสส
  • ลหุกาบัติ หมายถึงอาบัติเบา อาบัติที่ไม่มีโทษร้ายแรงเท่าครุกาบัติ มี 5 อย่าง คือ อาบัติถุลลัจจัย อาบัติปาจิตตีย์ อาบัติปาฏิเทสนียะ อาบัติทุกกฏ อาบัติทุพภาสิต

กรณีพระบี้อุ้มลูกสาว…อาบัติหรือไม่

การที่พระสงฆ์จับแตะต้องตัวสตรี แม้จะเป็นแม่ พี่สาว น้องสาว หรือธิดา ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตามถือเป็นอาบัติทั้งสิ้น เพียงแต่มีความหนักเบาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเจตนา

ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 1 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 1 มหาวิภังค์ ภาค 1 ระบุว่า หากภิกษุจับต้องธิดาด้วยความรักฉันแม่ลูกพี่น้อง ไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส (อาบัติหนักข้อนี้ เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทประเภทครุกาบัติ เช่น พูดเกี้ยวพาราสีสตรี ทำน้ำอสุจิเคลื่อน พูดจาให้สตรีบำเรอกามให้) เพียงแต่ต้อง อาบัติทุกกฏ (อาบัติเบาข้อนี้ เกิดจากการทำไม่ดี ไม่เหมาะสม เช่น ภิกษุสวมเสื้อ สวมหมวก ใช้ผ้าโพกศีรษะ) ดังข้อความนี้

“ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง จับต้องธิดาด้วยความรักฉันธิดา เธอได้มีความรังเกียจว่า
เราต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฏ.”

แต่หากเป็นการจับต้องด้วยความกำหนัด จะถือเป็นอาบัติหนัก หรือ อาบัติสังฆาทิเสส ดังข้อความนี้

“6.2. อนึ่ง ภิกษุใดกำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว ถึงความเคล้าคลึงด้วย
กายกับมาตุคาม คือจับมือก็ตาม จับช้องผมก็ตาม ลูบคลำอวัยวะอันใดอันหนึ่งก็ตาม
เป็นสังฆาทิเสส.”

อาบัติแล้วต้องทำอย่างไร?

ในกรณีของพระบี้ ซึ่งต้องเข้าอาบัติทุกกฏแล้ว สามารถพ้นได้ด้วยวิธี แสดงอาบัติ หรือ ปลงอาบัติ โดยเปิดเผยอาบัติของตนแก่สงฆ์หรือแก่ภิกษุอื่น แสดงความผิดของตนเพื่อเปลื้องโทษทางวินัย  โดยมีตัวอย่างคำแสดงอาบัติตอนหนึ่งดังนี้

 (ผู้แสดงพรรษาอ่อนกว่า)

สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ (ว่า 3 หน) กระผมขอบอกอาบัติทั้งหลายเหล่านั้น

สัพพา คะรุละหุกา อาปัตติโย อาโรเจมิ (ว่า 3 หน) กระผมขอบอกอาบัติทั้งหลายเหล่านั้น

อะหัง ภันเต สัมพะหุลา นานาวัตถุกาโย อาปัตติโย อาปัชชิง ตา ตุมหะมูเล ปะฏิเทเสมิ ท่านผู้เจริญ กระผมต้องอาบัติทั้งหลาย มีวัตถุต่างกันมากมาย กระผมขอแสดงอาบัติทั้งหลายเหล่านั้น ณ แทบเท้าท่าน

(ผู้รับพรรษาแก่กว่า)

ปัสสะสิ อาวุโส ตา อาปัตติโย ผู้มีอายุ ท่านย่อมเห็นอาบัติทั้งหลายเหล่านั้นหรือ?

 (ผู้แสดงพรรษาอ่อนกว่า)

อุกาสะ อามะ ภันเต ปัสสามิ ขอโอกาสขอรับ ท่านผู้เจริญ กระผมเห็น

(ผู้รับพรรษาแก่กว่า)

อายะติง อาวุโส สังวะเรยยาสิ ผู้มีอายุ ต่อไปท่านพึงสำรวมเถิด

 (ผู้แสดงพรรษาอ่อนกว่า)

สาธุ สุฏฐุ ภันเต สังวะริสสามิ ดีแล้ว ท่านผู้เจริญ แต่นี้ไปกระผมจักสำรวมด้วยดี

ทุติยัมปิ สาธุ สุฏฐุ ภันเต สังวะริสสามิ แม้ครั้งที่สอง กระผมจักสำรวมด้วยดี

ตะติยัมปิ สาธุ สุฏฐุ ภันเต สังวะริสสามิ แม้ครั้งที่สาม กระผมจักสำรวมด้วยดี

นะ ปุเนวัง กะริสสามิ กระผมจักไม่ทำอย่างนั้นอีก (ผู้รับว่า) สาธุ ดีแล้ว

นะ ปุเนวัง ภาสิสสามิ กระผมจักไม่กล่าวอย่างนั้นอีก (ผู้รับว่า) สาธุ ดีแล้ว

นะ ปุเนวัง จินตะยิสสามิ กระผมจักไม่คิดอย่างนั้นอีก (ผู้รับว่า) สาธุ ดีแล้ว

ส่วนอาบัติแบบสังฆาทิเสส จะมีวิธีแตกต่างออกไป คือ ภิกษุต้องแจ้งแก่สงฆ์ 4 รูปเพื่อขอประพฤติวัตรที่ชื่อ “มานัต” (แปลว่า ระเบียบปฏิบัติในการออกจากอาบัติหนัก) เมื่อสงฆ์อนุญาตแล้วจึงประพฤติวัตรดังกล่าวเป็นเวลา 6 คืน เมื่อพ้นแล้วจึงขอให้สงฆ์ 20 รูปทำสังฆกรรมสวดอัพภานให้ (การสวดระงับอาบัติ เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการออกจากครุกาบัติ ขั้นสังฆาทิเสส เมื่อสงฆ์สวดอัพภานแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จากอาบัติ) เมื่อพระสงฆ์สวดอัพภานเสร็จสิ้น ถือว่าภิกษุรูปนั้นพ้นจากอาบัติข้อนี้

 

ขอบคุณภาพประกอบจากอินสตาแกรม gggubgib36

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.