หลวงพ่อชา

หลวงพ่อแสดงละคร…เรื่องเล่ายิ้มๆ ของหลวงพ่อชา สุภัทโท

หลวงพ่อแสดงละคร…เรื่องเล่ายิ้มๆ ของ หลวงพ่อชา  สุภัทโท

เรื่องเล่า หลวงพ่อชา เล่าโดย ปิยสีโลภิกขุ (พระภูวดล ปิยสีโล) ที่มาจากคอลัมน์ My Secret นิตยสาร Secret

ในสังคมอีสานยุคก่อน ความเชื่อเรื่องผียังฝังอยู่ในใจคนส่วนใหญ่  ปรากฏการณ์ “ผีเข้า” เป็นเรื่องที่พบเห็นบ่อยครั้ง พระอาจารย์รูปหนึ่งเล่าว่าหลวงพ่อชา สุภัทโท มีวิธีรับมือเรื่องนี้แบบไม่เหมือนใคร

วันหนึ่งขณะหลวงพ่อนั่งรับแขกอยู่ที่กุฏิ มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมาขอร้องให้ท่านช่วยไล่ผีที่เข้าสิงผู้หญิงในหมู่บ้าน ระหว่างนั้นชาวบ้านช่วยกันลากตัวหญิงคนนั้นเข้ามาในเขตวัด เสียงหวีดร้องของเธอดังก้องมาแต่ไกล

หลวงพ่อจัดการให้สามเณรขุดหลุมใหญ่ข้างกุฏิทันที อีกส่วนให้ไปติดไฟต้มน้ำ แม้ทุกคนจะงุนงงต่อคำสั่ง แต่ไม่มีใครกล้าท้วงติงได้แต่ปฏิบัติตามอย่างรีบด่วน ครั้นหญิงคนนั้นถูกลากมาถึง เธอก็ตะโกนด่าด้วยถ้อยคำหยาบคายไม่ยั้ง หลวงพ่อไม่รอให้พูดจบ ท่านออกท่าทางโมโหโกรธาแผดเสียงตะโกนทับ พลางเร่งสามเณรให้ขุดหลุมเร็วๆ เข้า ที่ต้มน้ำอยู่ก็เร่งไฟให้เดือดไวๆ ผีเข้าอย่างนี้แก้ได้วิธีเดียวคือ โยนลงหลุมแล้วเอาน้ำเดือดสาด

ท่ามกลางความตระหนกของทุกฝ่าย คนถูกผีเข้าก็เข่าอ่อนระทวย ท้ายสุดก็ยอมหมอบลงกับพื้นและกราบรับพรจากหลวงพ่อแต่โดยดี  หลุมดังกล่าวจึงเป็นอันไม่ได้ใช้ น้ำร้อนก็นำไปชงชาถวายพระเณรที่รอลุ้นด้วยความระทึก

เรื่องนี้แสดงถึงปฏิภาณเฉียบคมของหลวงพ่อชา ท่านไม่เพียงแต่จะหาอุบายได้ฉับไวเท่านั้น หากยังแสดงบทบาทได้สมจริงจนทุกคนเชื่อว่าหญิงคนนั้นจะถูกโยนลงหลุมจริงๆ เสียด้วย

 

หลวงพ่อชา

 

โดยทั่วไปแล้ว เรามักตั้งข้อรังเกียจต่อการเสแสร้งแกล้งทำว่าเป็นการเล่นละคร ไม่จริงใจ แต่กรณีที่หลวงพ่อชาแสดงบทโกรธด้วยปัญญาและเมตตา ไม่มีเจตนามุ่งร้าย เราย่อมเห็นพ้องกันว่าเป็นอุบายดีเยี่ยม ดังที่ภาษาพระเรียกว่า “กุศโลบาย”

ครูบาอาจารย์ผู้น่าเคารพมักแสดงบทบาทที่ทำให้เราประหลาดใจบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกราดเกรี้ยวหรือหมางเมินไม่แยแส ทั้งๆ ที่ในใจท่านไม่มีความรู้สึกรุนแรงอย่างที่เห็น ลูกศิษย์ที่ไม่เข้าใจมักจะโกรธหรือน้อยใจ แต่ชั่วเวลาไม่นาน ส่วนใหญ่จะคิดได้ว่า เราต่างหากที่กำลังสร้างทุกข์ให้ตัวเอง หาใช่ครูบาอาจารย์ไม่

เป็นที่รู้กันดีว่า ลูกศิษย์ที่ผ่านประสบการณ์หัวหมุนเหล่านี้มักเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมมากเป็นพิเศษ และในภายหลังมักรำลึกถึงครูบาอาจารย์ด้วยความซาบซึ้งในพระคุณ

น่าสังเกตว่า คนไม่โกรธเท่านั้นที่จะแสดงบทโกรธได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากมีอารมณ์ตกค้าง ผู้ฟังย่อมรับรู้ได้ แทนที่จะช่วยให้เกิดปัญญา ยอมปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาด กลับจะต่อต้านและอาจกลายเป็นโกรธตอบในภายหลัง

เมื่อใดก็ตามที่รู้ตัวว่ายังขุ่นเคือง อย่าเพิ่งแสดงบทโกรธ รอให้ไฟในใจดับลงก่อน จากนั้นจึงรับบท “เปาบุ้นจิ้น” ในชีวิตจริง รับรองว่าไม่สายเกินการณ์แน่นอน

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  ปิยสีโลภิกขุ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.