เข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้

แก้ไขปัญหาเข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ ธรรมะจากท่านว.วชิรเมธี

แก้ไขปัญหา เข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ ธรรมะจากท่านว.วชิรเมธี

ผู้อ่าน ถาม: ดิฉัน เข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ ไม่มีความสุขที่จะไปทำงานและไม่มีความสุขที่จะอยู่กับผู้ร่วมงานเลย โดยพื้นฐานแล้วดิฉันเป็นคนที่จริงจังกับชีวิต ไม่ค่อยพูดเล่นกับใครถ้าไม่สนิทด้วย ดิฉันย้ายที่ทำงานมาที่ใหม่ อยู่มาได้ปีกว่าแล้ว แต่ยังไม่สนิทกับใครเลย บ่อยครั้งคนในที่ทำงานคุยกัน เล่นกัน แต่ดิฉันจะนั่งเงียบๆ รู้สึกอึดอัดว่าเราเป็นตัวประหลาด จึงอยากถามว่า

ผิดไหมที่ดิฉันเป็นแบบนี้ และดิฉันจะต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อที่จะให้คนอื่นยอมรับหรือไม่ แค่คิดดี ทำดี ไม่เบียดเบียนใครพอหรือเปล่าคะ และดิฉันควรทำอย่างอย่างไรดีคะ

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ตอบ: การที่คุณเป็นคนมีบุคลิกภาพเงียบขรึมคงไม่ใช่ความผิดบาปอะไร เพราะเราแต่ละคนต่างก็มีบุคลิกภาพที่แตกต่างกันไปเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากจะมีปัญหาขึ้นมาก็คงเป็นเพราะว่า คุณคงไปทำงานอยู่ในแวดวงของคนที่ไม่สอดคล้องกับบุคลิกภาพของคุณต่างหากกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ งานกับคนไม่สอดคล้องกัน จึงเกิดอาการผิดฝาผิดตัวขึ้นมา จนชีวิต การงาน สัมพันธภาพไม่ราบรื่น

นานมาแล้วผู้เขียนเคยมีลูกศิษย์คนหนึ่งที่มีปัญหาคล้ายๆ คุณกล่าวคือ เขาเป็นคนไม่ค่อยพูด ชอบเก็บเนื้อเก็บตัว แต่ถึงกระนั้นก็สู้อุตส่าห์เรียนทางการตลาดมาจนจบ วันหนึ่งเมื่อถึงเวลาทำงานก็พบกับปัญหาใหญ่อันเนื่องมาแต่บุคลิกภาพกับงานที่ทำไม่สอดคล้องกัน เพราะงานในฐานะนักการตลาดนั้นไม่ต้องการคนที่มีบุคลิกภาพเงียบๆ ขรึมๆ ไม่สุงสิงกับใคร ไม่มีความทะเยอทะยาน เมื่อทนทำงานไปสักพักหนึ่ง ในที่สุดก็ต้องตัดสินใจลาออก หลังจากนั้นก็ได้งานใหม่ตามสายงานการตลาดที่เรียนมาเหมือนเดิมอีก แต่ทำไปไม่กี่เดือนก็ลาออกอีก วันหนึ่งนักการตลาดที่มีโลกส่วนตัวสูงคนนี้ก็ได้ค้นพบว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่งานอีกต่อไปแล้ว หากแต่อยู่ที่ตัวเองที่ไม่ชอบงานของนักการตลาดที่ต้องเป็นคนหูไวตาไว มีความกระตือรือร้น คิดแคมเปญเก่ง ช่างพูดช่างจา มนุษยสัมพันธ์เยี่ยม เมื่อเกิดการ “ค้นพบ” อย่างถ่องแท้แล้ว จึงผันตัวเองไปทำงานส่วนตัวที่ได้ “เงียบสมใจ” ทุกวันนี้ก็เลยมีความสุขดี เพราะได้มีโลกส่วนตัวสมใจ

กรณีของคุณถ้าเป็นไปในทำนองนี้ก็คงต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่” ไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดภาวะ “คนไม่สำราญ งานไม่สำเร็จ” ยิ่งทำงานยิ่งเสียคุณภาพชีวิต

การทำงานนั้นไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม ควรคำนึงถึงคุณภาพชีวิตด้วยเสมอไป เพราะหากคุณทำงานไป แต่ไม่ได้คุณภาพชีวิต ปัญหาทางจิต ปัญหาสุขภาพ รวมทั้งปัญหาสังคม คือการ “ต่อ” กับใครไม่ติด ก็จะตามมา และหากเราทิ้งอาการอย่างนี้ไว้นานๆ วันหนึ่งเราก็จะเป็นเพียงคนที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน แต่ทว่ากลับเป็นมนุษย์ที่ล้มเหลว

การคิดดี ทำดีนั้น มองเผินๆ ก็เหมือนจะพอแล้ว แต่หากมองให้ลึกซึ้งกว่านั้นก็ควรจะเติมอะไรดีๆ เข้าไปได้อีกมากมาย เช่น

คิดดี พูดดี ทำดี มนุษยสัมพันธ์ดี รับผิดชอบดี อารมณ์ดี และใจดี

หากคุณยังไม่อยากลาออกจากที่ทำงาน ก็ขอแนะนำให้คุณลองปรับตัวให้มีมนุษยสัมพันธ์ดีกว่าเดิม โดยปรับตัวตามแนวทางสร้างมนุษยสัมพันธ์ตามสูตรของพระพุทธเจ้า 4 ประการ คือ เอื้ออารี วจีไพเราะ สงเคราะห์มวลชน และวางตนเสมอสมาน

เอื้ออารี หมายถึง ฝึกการเป็นผู้ให้ เพราะผู้ให้ย่อมได้รับการให้ตอบ การให้คือการเชื่อมไมตรีที่มีผลต่อสัมพันธภาพดีเยี่ยม

ผู้รู้กล่าวว่า

ผูกสนิทชิดเชื้อนั้นเหลือยาก            เหมือนเหล็กฟากผูกไว้ก็ไม่มั่น

ถึงผูกด้วยมนต์เสกลงเลขยันต์         ก็ไม่มั่นเหมือนผูกไว้ด้วยไมตรี

คุณอาจหยิบยื่นอะไรให้ใครสักคนหนึ่งโดยไม่เคยหวังผลด้วยซ้ำ แต่บางทีหนึ่งครั้งที่คุณให้ออกไปอาจจารึกอยู่ในใจของผู้รับตราบนานเท่านาน ท่านพุทธทาสเคยกล่าวว่า “หากเรามีขนมอยู่ในมือชิ้นหนึ่ง เรากินคนเดียวก็อิ่มแค่มื้อเดียว แต่หากแบ่งให้เพื่อนขนมชิ้นนั้นจะอิ่มอยู่ในใจเพื่อนไปตลอดกาล”

วจีไพเราะ หมายถึง การเป็นคนพูดจาน่ารับฟัง ช่างพูดช่างจามีวาทศิลป์ในการพูด รู้จักว่าเมื่อไรจะพูด เมื่อไรจะนิ่ง เมื่อไรควรพูดเล่น เมื่อไรควรพูดจริง การพูดเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดชนิดหนึ่งในการสร้างความสำเร็จ คุณลองสังเกตดูสิ คนสำคัญๆ ของโลกที่ประสบความสำเร็จโดยมากล้วนแล้วแต่เป็นนักพูดเก่งๆ กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเอบราแฮม ลิงคอล์น, จอห์น เอฟ.เคนเนดี, มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ หรือแม้แต่บารัค โอบามาพลังของการพูดนั้นมีมหาศาล สามารถเปลี่ยนทางน้ำ ย้ายขุนเขา สะกดทัพนับแสนก็ยังได้ หากคุณไม่ค่อยพูด ก็ลองบอกตัวเองใหม่สิว่า ธรรมชาติสร้างปากมาไม่เฉพาะแต่ใช้รับประทานอาหารเท่านั้น แต่ยังสร้างมาให้เรารู้จักการพูดจาอย่างมีวาทศิลป์อีกด้วย

สงเคราะห์มวลชน หมายถึง การเป็นคนมีอัธยาศัยไมตรีอันดีเข้ากับคนส่วนใหญ่ได้ เห็นใครทำอะไรแล้วไม่นิ่งเฉย มีจิตสำนึกสาธารณะ ชอบช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนร่วมงาน เพื่อนมนุษย์ กล่าวอย่างสั้นที่สุดก็คือ การไม่เห็นแก่ตัวนั่นเอง

วางตนเสมอสมาน หมายถึง การปรับตัวให้สามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมงานได้อย่างปกติในลักษณะ “มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน” หากเราลงเรือพาย แต่เราไม่พายเรือเหมือนคนอื่น ก็คงไม่แคล้วต้องกลายเป็นคนแปลกแยก ถ้าคุณรู้ว่าคุณไม่ชอบพายเรือก็ไม่ควรจะไปนั่งอยู่ในเรือพาย ซึ่งเขาต้องการความร่วมมือร่วมใจคุณควรออกไปหาที่นั่งที่เหมาะกับคุณจะดีกว่า

ที่มา : นิตยสารซีเคร็ต

เรื่อง : ว.วชิรเมธี

ภาพ : https://pixabay.com


บทความน่าสนใจ

เป็นลูกน้องหรือเป็นนายตัวเอง อย่างไหนดีกว่ากัน

3 ลักษณะของคนโชคดีที่คุณก็คาดไม่ถึงว่าเป็นความโชคดี

ค้นหาเสน่ห์ในตัวคุณ โดยไม่ต้องสร้างกันเถอะ

กำจัดคนที่เกลียดเรา ด้วยการเป็นเพื่อนกับทุกคน แต่ไม่ยึดติดกับใครเป็นพิเศษ

การรับมือกับความทุกข์ของคนโดนไล่ออกจากงาน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.