การทำบุญ

ท่าน ว. ชวนปรับความคิด 3 ความเข้าใจผิดๆ ของชาวพุทธเกี่ยวกับ ” การทำบุญ “

ท่าน ว. ชวนปรับความคิด 3 ความเข้าใจผิด ๆ ของชาวพุทธเกี่ยวกับ ” การทำบุญ “

ท่าน ว. กล่าวว่า ความเข้าใจเรื่อง การทำบุญ ของคนไทยในปัจจุบันมีความคลาดเคลื่อนไปจากหลักการทางพุทธศาสนาอย่างมาก จึงควรทำความเข้าใจกันให้ถูกต้อง ดังนี้

1.การทำบุญ เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งในการชำระใจให้บริสุทธิ์สะอาด บุญไม่ใช่กุศโลบายในการหาเงินของคนบางกลุ่มที่หลอกให้คนอีกกลุ่มทุ่มเททำบุญจนหมดเนื้อหมดตัว ด้วยเล่ห์เพทุบายต่างๆ เพราะไม่ได้ทำให้จิตใจของผู้ทำบุญสะอาดขึ้นเลย แต่กลับหลงจมปลักลงในบ่อบุญจอมปลอม

2. “บุญเป็นความสุขใจที่เกิดขึ้นหลังจากใครก็ตามได้ทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อตนหรือต่อผู้อื่น การทำบุญไม่ได้ทำกับคนเท่านั้น ยังหมายรวมไปถึง สัตว์ และ “สิ่ง” ในที่นี้หมายถึงสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติอีกด้วย

3. การให้ผลของบุญเกิดขึ้นที่ใจเป็นหลัก ไม่ใช่ให้ผลเป็นความร่ำรวย ให้ผลเป็นชื่อเสียง รวมทั้งไม่ใช่การให้ผลออกมาเป็นคะแนนหรือแต้มสะสม ซึ่งมนุษย์ด้วยกันเองเป็นผู้จัดทำขึ้น ควรจำให้ชัดว่า การให้ผลของบุญนั้น เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นผู้จัดสรรเอง ไม่ใช่มนุษย์เข้ามาเป็นผู้บอกว่าทำบุญอย่างนี้แล้วจะได้อย่างนั้น อย่างนี้ทันตาเห็น นับเงินมือเป็นระวิง หรือ ทำบุญด้วยการบูชาพระรุ่นนี้ แล้วจะไม่พบความลำบากยากจน ที่ป่วยก็หาย ผลบุญอย่างนี้ควรทราบว่าเป็นผลบุญเชิงพาณิชย์ หรือ เชิงการตลาด ที่มนุษย์เรานี่เอง โมเมขึ้นมาหลอกเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน “คนทำนาบนหลังคน” นี้แหละเข้ามา “ตัดตอน” กระบวนการให้ผลของบุญ จนความหมายแคบลงอยู่เพียงว่า ถ้าจะทำบุญต้องใช้เงินเป็นปัจจัยสำคัญ ทั้งที่ความจริงนั้น การทำบุญที่แท้นั้นแม้จะไม่ใช้เงินสักบาทก็ย่อมได้   ที่สุดของบุญนั้นไม่เกี่ยวกับเงินเลย

 

ในการทำบุญที่แท้ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น แม้ไม่ใช้เงินเลย ไม่มีเงินเลย ทุกคนก็มีสิทธิทำบุญหรือเข้าถึงบุญได้อย่างทัดเทียมกัน

เราจะเห็นได้จาก “มรรควิธี” ในการทำบุญ หรือ การสร้างบุญทั้ง 10 ประการ ต่อไปนี้

  • ทำบุญด้วยการ “แบ่งปัน” วัตถุ สิ่งของ ปัจจัยสี่
  • ทำบุญด้วยการ “รักษาศีล”
  • ทำบุญด้วยการ “เจริญจิตภาวนา”
  • ทำบุญด้วยการ “อ่อนน้อมถ่อมตน”
  • ทำบุญด้วยการ “เสียสละช่วยงานคนอื่น บริการสังคม”
  • ทำบุญด้วยการ “เฉลี่ยความดีให้คนอื่นได้ชื่นชม”
  • ทำบุญด้วยการ “อนุโมทนา/ชื่นชมความสุข ความก้าวหน้าของคนอื่น”
  • ทำบุญด้วยการ “ฟังธรรม ศึกษาหาความรู้ที่มีสารประโยชน์ต่อชีวิต”
  • ทำบุญด้วยการ “แสดงธรรม แจกจ่ายธรรมทาน วิทยาทาน”
  • ทำบุญด้วยการ “มีสัมมาทัศนะ เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อตามหลักเหตุผล”

 

การทำบุญนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำบุญด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ทั้ง 3 กาล กล่าวคือ

  • ก่อนให้มีใจเลื่อมใส
  • ขณะให้มีใจยินดี
  • ให้ไปแล้วก็มีใจเบิกบาน

 

เมื่อมีเจตนาอันบริสุทธิ์ทั้ง 3 กาลแล้ว ปัจจัยหรือวัตถุที่จะถวายทาน เป็นของบริสุทธิ์ ได้มาโดยชอบธรรม บุคคลผู้รับทาน เป็นผู้บริสุทธิ์ มีศีล โดยเฉพาะหากผู้รับทานมีคุณสมบัติพิเศษ เช่น พระอรหันต์ที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ   ถ้าเหตุปัจจัยดังกล่าวพร้อมเมื่อไร ก็ให้ผลนับอนันต์

 

ส่วนหนึ่งจากบทความ “ฉลาดในการทำบุญ” โดย ท่านว.วชิรเมธี


บทความน่าสนใจ

กาละแมร์ พิธีกรสาวสายบุญ ตระเวนไหว้พระทำบุญที่อินเดีย-เมียนมา

โทษของการทำบุญด้วยจิตโกรธ

5 เรื่องวุ่นๆ ของ “ การทำบุญสร้างกุศล ” ที่หลายคนยังไม่เคลียร์

ทำบุญง่าย ๆ เพียงแค่คลิก ปันบุญ by TMB

Dhamma Daily : มีคนบอกว่า ทำบุญสลึงเดียว ได้บุญเท่ากับทำทีละล้านถ้าจิตบริสุทธิ์ จริงหรือไม่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.