ปาฏิหาริย์ในพุทธประวัติ

Dhamma Daily : ปาฏิหาริย์ในพุทธประวัติมีจริงหรือ

Dhamma Daily : ปาฏิหาริย์ในพุทธประวัติ มีจริงหรือ คำถามที่หลายคนสงสัย…ท่าน ว.วชิรเมธี มีคำตอบ

ถาม: ผมสงสัยมานานแล้วครับว่า ปาฏิหาริย์ในพุทธประวัติ มีจริงหรือ

ท่านว.วชิรเมธี ตอบ: ในเบื้องต้น คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า “ปาฏิหาริย์” คืออะไร มีความสำคัญแค่ไหนในพุทธศาสนา และเราควรจะมีท่าทีต่อปาฏิหาริย์กันอย่างไร

ตามรูปศัพท์ “ปาฏิหาริย์” แปลได้ว่า “ความสามารถพิเศษ” ในพุทธธรรมท่านกล่าวถึงปาฏิหาริย์ไว้ 3 ประเภทด้วยกัน คือ

  1. อิทธิปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการแสดงฤทธิ์ได้ เช่น ล่องหนหายตัว เนรมิตคนเดียวเป็นหลายคน เดินผ่านฝาผนังหรือกำแพงได้ ฯลฯ
  2. อาเทศนาปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการรู้ใจคนหรือการทายใจคนออกว่าคิดอะไร มีความต้องการอย่างไร เป็นต้น
  3. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการสอนคนให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม นำผู้ฟังให้ละความชั่ว ทำความดี มีชีวิตที่ประเสริฐได้จริงในชีวิตนี้

ปาฏิหาริย์อย่างที่หนึ่ง และอย่างที่สองนั้น พระพุทธเจ้าทรงรับรองว่า เป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง แต่มีผลข้างเคียงก็คือ ถ้านำไปใช้ในทางที่ดีจึงจะเป็นผลดี แต่ถ้าหากมีเจตนาร้าย นำไปใช้ในทางหลอกลวงคน ก็จะก่อผลเสียหายอย่างมหาศาล เช่น กรณีที่พระเทวทัตสามารถแสดงปาฏิหาริย์ จนหลอกให้เจ้าชายอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธหลงศรัทธา ยกให้เป็นพระอาจารย์ จากนั้นพระเทวทัตจึงยุให้พระเจ้าอชาตศัตรูทำปิตุฆาต คือปลงพระชนม์พระบิดา ผลที่ตามมาก็คือไม่เพียงแต่พระบิดาเท่านั้นที่สิ้นพระชนม์ พระมารดาก็ทรงตรอมพระทัยสิ้นตามไปด้วยอีกคน ต่อมาท้าวเธอเองก็ถูกพระนัดดาปฏิวัติยึดอำนาจ และจากนั้นราชวงศ์นี้ก็ทำปิตุฆาต (ลูกฆ่าพ่อ) ต่อกันมากว่า 5 ชั่วคน จนในที่สุดอำมาตย์และประชาชนทนไม่ได้ ลุกขึ้นมาทำการปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ แล้วสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นมาแทน

ส่วนพระเทวทัตเมื่อ “เริงในฤทธิ์” มากขึ้น ๆ ก็ถึงขั้นตั้งตัวเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สอง แต่แล้วเมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทรงรู้ความจริงว่าทรงถูกหลอก ก็ทรงถอนการอุปถัมภ์ จากนั้นท่านจึงล้มป่วย และมรณภาพอย่างน่าสังเวช เพราะถูกแผ่นดินสูบ (ความหมายตรงตัวคือ ถูกแผ่นดินสูบจมหายไปจริงๆ เพราะผลแห่งกรรมที่ทำอันตรายต่อพระพุทธองค์ ความหมายโดยการตีความก็คือ ถูกประชาทัณฑ์จนมรณภาพอย่างน่าสมเพชท่ามกลางฝูงชนที่คั่งแค้น ทั้งสองความหมายนี้มีสิทธิ์เป็นไปได้ด้วยกันทั้งสิ้น)

นอกจากปาฏิหาริย์ทั้งสองข้อข้างต้นจะมีผลข้างเคียงแล้ว บางทียังเป็นเรื่องของการ “หลอกลวง” คือ เสแสร้งแสดงด้วย ทั้งยังไม่มีอะไรเป็นเกณฑ์วัดว่า ปาฏิหาริย์นั้น ๆ จริงหรือเท็จ ใครไปมัววุ่นวายด้วย ก็เป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า

อนึ่ง ควรกล่าวด้วยว่า ทั้ง อิทธิ และ อาเทศนาปาฏิหาริย์ นั้น แม้ผู้ที่มีปาฏิหาริย์จะเก่งแค่ไหน แต่ก็ยังตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสอยู่นั่นเอง เก่งแสนเก่ง แต่ก็ไม่เก่งไปกว่ากิเลสที่คอยครอบงำอยู่ดี

ส่วนปาฏิหาริย์ประการที่สามนั้น พระพุทธเจ้าทรงยกย่องมากว่าเป็นปาฏิหาริย์ที่แท้ เพราะสามารถทำให้คนพ้นทุกข์ได้

ในโลกนี้จะมีปาฏิหาริย์ใดยิ่งไปกว่าการที่คนธรรมดา ๆ สามารถก้าวขึ้นมาเป็นคนที่พ้นทุกข์ได้เป็นไม่มีอีกแล้ว เพราะฉะนั้น ที่สุดแห่งปาฏิหาริย์ก็คือ การมีชีวิตที่สามารถพิชิตความทุกข์ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ปาฏิหาริย์ชนิดที่สามนี้ ทุกคนสามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นกับตนเองได้ในชีวิตนี้ โดยวิธีง่ายๆ แค่เพียงพาตนเองเดินเข้าสู่เส้นทางธรรม ด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรมที่เรียกว่า “การเจริญสติ” เท่านั้นเอง

คนที่เดินอยู่บนถนนด้วยความรู้สึกตัว คือผู้ที่ก้าวเดินอยู่บนดอกบัวอย่างแท้จริง

คุณยังจำได้ไหม ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงพระดำเนินบนดอกบัวเมื่อแรกประสูติ แล้วเราถือกันว่านั่นเป็นปาฏิหาริย์ แท้ที่จริงการที่ทรงพระดำเนินอยู่บนดอกบัว ก็คือการที่ทรงพระดำเนินอย่างมีความรู้ตัวทั่วพร้อมนั่นเอง

ปัญหาของการศึกษาพุทธประวัติ ไม่ใช่ว่ามีปาฏิหาริย์มากหรือน้อยเกินไปหรอก ปัญหาอยู่ที่ว่า เรามีปัญญามากพอที่จะ“ถอดรหัส” ปาฏิหาริย์เหล่านั้นหรือไม่ต่างหาก

 

ที่มา : นิตยสารซีเคร็ต

ธรรมะจากท่านว.วชิรเมธี : พระอาจารย์ผู้ไขปัญหา

 

หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่ Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

จัดสวนสวยด้วย 8 พรรณไม้ในพุทธประวัติ

5 บุคคลบาปหนาจนหนักแผ่นดินในสมัยพุทธกาล

รู้หรือไม่ 7 สัปดาห์ หลังตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงทำอะไร

ตปุสสะและภัลลิกะ อุบาสกคู่แรกของพระพุทธศาสนา กับตำนานพระเจดีย์ชเวดากอง

วันปรินิพพานของพระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวาผู้เลิศทางปัญญา

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.