แต่งงานกับพ่อม่าย

Dhamma Daily : ดิฉันกำลังจะ แต่งงานกับพ่อม่าย ลูกติด แต่ไม่รู้สึกรักลูกเขา ทำอย่างไรดีคะ

ANSWER KEYS – LOVE ME, LOVE MY DOG

ถาม : ดิฉันกำลังจะ แต่งงานกับพ่อม่าย ลูกติด เขาเลิกกับภรรยาได้สองปีกว่าแล้ว ลูกติดแฟนดิฉันเป็นเด็กผู้ชายอายุ 5 ขวบค่ะ ที่จริงเด็กอยู่กับแม่เขา แต่แฟนของดิฉันยังต้องทำหน้าที่พ่อในการส่งเสียให้เงินทุกอย่าง และรับลูกมาอยู่ด้วยเป็นครั้งคราว ปัญหาของดิฉันก็คือ ดิฉันไม่รู้สึกรักลูกเขา และมองว่าลูกเขามาแย่งเวลาที่เขาควรจะให้ดิฉันไปเสียอีก แต่เมื่อดิฉันรักผู้ชายคนนี้ ก็ต้องทำใจยอมรับลูกของเขาด้วย เข้าทำนอง Love him, love his dog.

ดิฉันควรจะวางตัวหรือปรับเปลี่ยนความคิดอย่างไรดีคะ มีหลักธรรมข้อไหนที่จะใช้ยึดเหนี่ยวเวลาเกิดทุกข์จากการถูกเบียดเบียนเวลาและความรักที่พึงได้ และอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ดิฉันคิดว่า ถ้าดิฉันทำใจยอมรับเด็กไม่ได้ ดิฉันก็คงต้องเป็นฝ่ายไป แต่ดิฉันอยากจะต่อสู้กับจิตใจที่คับแคบของตัวเองดูสักครั้ง ขอกำลังใจและชี้ทางสว่างให้ด้วยค่ะ

 

ตอบ : ปัญหาของคุณเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการ“ฝึกใจ” พอสมควร เพราะคนเราไม่ได้ผูกพันกันมาแต่ต้น จู่ๆ จะให้รู้สึกรักและผูกพันเลยย่อมเป็นการยาก แต่ก็อย่างที่คุณเขียนมานั่นแหละว่า Love him, love his dog. คุณเองก็รู้ดีอยู่แล้วว่านี่เป็นของแถม ใจคุณอยากได้แต่ของที่คุณต้องการเท่านั้น แต่หากคุณมาซื้อสินค้าในช่วงเลหลังซึ่งเขาต้องขายคู่กันกับของแถม คุณย่อมต้องเปิดใจกว้างยอมรับให้ได้ ถ้าคุณยอมรับไม่ได้ ก็ไม่มีใครห้ามอีกเหมือนกันถ้าคุณจะเป็นฝ่ายเดินจากไป

วิธีฝึกใจให้กว้างก็คือ คุณควรมองโลกในแง่ดี มองหาแง่ดีแง่งามของเด็กที่เป็นลูกของเขา ว่าเขาก็เป็นลูกของคุณด้วยเช่นเดียวกันเราทั้งสองต่างก็รักคนคนเดียวกัน มีศูนย์รวมใจคนเดียวกัน เป็นเหมือนโลกที่กำลังหมุนรอบคนคนเดียวกัน แล้วทำไมเราจะต้องมาตั้งป้อมแยกกันออกมาเป็นสองฝักสองฝ่ายล่ะ ทำไมไม่หลอมรวมเป็น “พวกเดียวกัน” เสียเลย คือ ต่างก็มีผู้ชายคนเดียวกันเป็นคนสำคัญในชีวิต

สำหรับเด็ก ผู้ชายคนนั้นเป็นคนสำคัญในฐานะพ่อ

สำหรับคุณ ผู้ชายคนนั้นเป็นคนสำคัญในฐานะสามี

แต่ถ้ามองในแง่หลักธรรม คุณควรใช้หลัก พรหมวิหารธรรม เป็นหลักการฝึกใจให้กว้างขวางเหมือนพรหม ซึ่งสามารถแผ่ดวงใจให้กว้างขวาง จนสามารถรักคนทั้งโลกได้อย่างไร้ขีดจำกัด พรหมวิหาร-ธรรมนั้นประกอบด้วย

  1. เมตตา รักคนทั้งโลกอย่างไม่มีเงื่อนไข ไร้พรมแดน
  2. กรุณา ช่วยเหลือคนทั้งโลกอย่างไม่มีเงื่อนไข ไร้พรมแดน
  3. มุทิตา ใจกว้างต่อคนทั้งโลกอย่างไม่มีเงื่อนไข ไร้พรมแดน
  4. อุเบกขา วางใจเป็นกลางต่อคนทั้งโลกอย่างไม่มีเงื่อนไขไร้พรมแดน

ในกรณีของคุณคงต้องใช้ข้อ 1 – 3 ให้มาก และควรฝึกจนสามารถใช้งานได้ในชีวิตจริง

 

เมตตา ก็คือ ควรมองลูกของเขาว่าเป็น “มิตร” ในเรือนใจ มิตรในชีวิต มิตรในครอบครัวคนหนึ่งเหมือนกัน ด้วยท่าทีแห่งมิตรซึ่งมีแต่ความรักสมัครสมาน ดีต่อกันอย่างที่มิตรควรดีต่อกัน รักกันอย่างที่มิตรพึงรักกัน ก็จะทำให้จิตใจอ่อนโยน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเปี่ยมน้ำใจไมตรี

กรุณา ก็คือ ควรพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ้อยทีถ้อย-อาศัยกัน เหมือนคนลงเรือลำเดียวกันแล้ว มีกิจกรรมอะไรก็ควรช่วยกันคิดช่วยกันทำ จับมือกันเดินไปในวิถีทางเดียวกัน มีสุขก็ร่วมเสพมีทุกข์ก็ร่วมต้าน ผิดพลาดก็ให้กำลังใจ ล้มลงก็ช่วยประคองด้วยใจอันเปี่ยมด้วยความกรุณาสงสาร ปรารถนาจะให้เขาพบพานแต่สิ่งดีๆในชีวิต

มุทิตา ก็คือ ควรมีใจที่ปราศจากอิจฉาริษยา วางใจให้กว้างขวางเหมือนท้องทะเลที่พร้อมจะโอบอุ้มน้ำจากแม่น้ำทุกสายที่ไหลมารวมกันโดยไม่บ่น ไม่เบื่อ ไม่อึดอัดขัดข้อง มีความใจกว้าง ยินดีที่เห็นคนอื่นได้ดีมีความสุข รู้สึกเสมือนหนึ่งว่า ความสุข ความสำเร็จความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นกับคนอื่นนั้น ก็เป็นความสุข ความสำเร็จ และความก้าวหน้าของเราด้วยเช่นเดียวกัน คนที่มากด้วยมุทิตานั้น จิตใจจะอ่อนโยน นุ่มนวล ผ่องใส เบิกบาน เหมือนดอกบัวตูมที่เมื่อผุดขึ้นมาจากผิวน้ำแล้วได้พบกับแสงแรกของตะวันฉาย ทันทีที่ดอกบัวตูมมีใจยินดี (มุทิตา) ต่อตะวันด้วยการเปิดกลีบออกรับแสงตะวันที่สาดมาต้อง ผลก็คือ ดอกบัวก็ได้รับรัศมีตะวันทำให้การบานของดอกบัวมีความสมบูรณ์ กรุ่นกลิ่นหอม ดอกบัวจะงดงามถึงที่สุดแห่ง วิวัฒนาการของความเป็นดอกบัวก็ตรงที่ได้ผลิบานฉันใด มนุษย์ทุกคนก็จะได้ชื่อว่าวิวัฒนาการถึงที่สุดของมนุษย์ก็ต่อเมื่อมีดวงใจที่ผลิบานปราศจากริษยาฉันนั้น

อุเบกขา ก็คือ ควรมีใจเป็นกลาง วางเฉย เมื่อเด็กหรือลูกทำผิดก็บอกเขาไปว่าเขาทำผิด เมื่อเขาทำถูกก็ชมเขาว่าทำถูก อย่าทำตนเป็นคนสองมาตรฐานเพราะความรักหรือความเกลียดบังตาวางใจเป็นกลางดังตาชั่งที่ไม่เอนเอียงเข้าหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วยอคติแต่แสดงอาการแห่งน้ำหนักตามความเป็นจริง อะไรผิด อะไรถูก ก็ให้กล้าบอกกล้าสอนอย่างซื่อตรง ชัดเจน เมื่อคนเป็นพ่อเป็นแม่วางใจเป็นกลาง ก็จะสามารถรักษาธรรมคือความเป็นกลางเอาไว้ได้ พ่อแม่ที่กล้าสอนลูกอย่างตรงไปตรงมานั้นจะทำให้ลูกมีสามัญสำนึก ไม่หลงว่าเส้นศีลธรรมควรเป็นสีแดง สีขาว หรือสีเทา เด็กๆ ที่พ่อแม่กล้าสอนตรงๆ จะเป็นคนที่มีสามัญสำนึกดี รู้ดี รู้ชั่ว รู้อะไรควร อะไรไม่ควร

 

พรหมวิหารธรรมทั้งสี่ประการนี้เป็นคุณธรรมที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติเป็น “ผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ” คือ เป็นผู้ใหญ่ทั้งโดยอายุและโดยสติปัญญา หากคุณปฏิบัติได้ คุณก็จะสามารถเป็นได้ทั้งแม่ที่ดี ภรรยาที่ดี และผู้ใหญ่ที่ดีไปพร้อมๆ กัน

 

ธรรมะจากท่านว.วชิรเมธี : พระอาจารย์ผู้ไขปัญหา

หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

กุศโลบายสลาย ความโกรธ  บทความดีๆ จาก ท่าน ว. วชิรเมธี

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.