ยึดติด

Dhamma Daily : ดิฉันสงสัยในคำสอนว่าเราไม่ควร ยึดติด ทั้งความสุข ความทุกข์ หรืออารมณ์ เช่นนั้นชีวิตคงจะราบเรียบมาก

Dhamma Daily : ดิฉันสงสัยในคำสอนว่าเราไม่ควรยึดติด ทั้งความสุข ความทุกข์ หรืออารมณ์ เช่นนั้นชีวิตคงจะราบเรียบมาก

ถาม: ดิฉันสงสัยเกี่ยวกับคำสอนที่ว่าคนเราไม่ควร ยึดติด ตัวเรา ตัวตนของเรา ไม่ควรยึดติดความสุข ความทุกข์ หรือยึดติดในอารมณ์ใดๆ และไม่ควรมีอารมณ์ร่วมกับสิ่งใดให้มาก ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ชีวิตคงจะราบเรียบมาก แล้วเราจะเจริญรุ่งเรืองได้อย่างไรกันคะ

ตอบ: คำสอนเรื่อง “การไม่ยึดติด” นั้นเป็นคำสอนขั้นลึกของพุทธศาสนา ถ้าหากคนไม่เข้าใจความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการสอนเรื่องนี้ก็จะปฏิบัติไม่ถูก พอปฏิบัติไม่ถูก แทนที่จะมีความสุขก็อาจจะมีความทุกข์ หรือไม่เช่นนั้นก็อาจมองเห็นไปว่าคำสอนเรื่องนี้ไม่น่าจะดีหรือไม่น่าจะมีประโยชน์ เบื้องต้นเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทำไมท่านจึงสอนให้ไม่ยึดติด คำตอบก็เพราะว่า ทุกความ ยึดติด จะมีผลข้างเคียงเป็นความทุกข์เสมอ

ถามต่อไปว่า ทำไมจึงสอนให้ไม่ยึดติด คำตอบก็เพราะว่า ธรรมชาติของสิ่งต่างๆ นั้นมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ใครไป ยึดติด เข้า พอสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป ก็จะทุกข์เป็นธรรมดา

ยกตัวอย่างง่ายๆ คนที่มียศ ทรัพย์ อำนาจ ชื่อเสียง บริวาร แล้วยึดติดว่าสิ่งนี้จะอยู่กับตัวเองไปตลอดเวลา แต่วันหนึ่งพอถูกถอดยศ กลายเป็นคนเคยรวย พอชื่อเสียงเริ่มลดลง พอบริวารหดหาย  จิตใจที่ยึดติดก็จะรับความจริงไม่ได้ ครั้นไม่ยอมรับความจริงคือความเปลี่ยนแปลงเท่านั้นแหละ ความทุกข์ตรมขมไหม้ก็ตามมา

แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรามีความเข้าใจว่ายศ ทรัพย์อำนาจ ชื่อเสียง บริวารเป็น “อนิจจัง” เกิดขึ้น ดำรงอยู่ แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา เมื่อสิ่งเหล่านี้แสดงความไม่จีรังให้เห็น แทนที่จะทุกข์เพราะหลงยึดติดก็กลับกลายเป็นว่าสามารถยอมรับความจริงได้ ไม่ทุกข์ ยิ้มรับความผันผวนปรวนแปรได้อย่างสงบ และไม่ตีโพยตีพายมองดูความเปลี่ยนแปลงด้วยความเข้าใจเหมือนคนที่ยืนมองดูน้ำไหลอยู่บนตลิ่ง ไม่นึกเสียดายน้ำที่ไหลผ่านไปแม้จะมากมายเพียงไหนก็รู้สึกเฉยๆ

คนที่เข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่งว่าตกอยู่ภายใต้กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงนั้น จะเป็นคนที่ไม่ยึดติดกับอะไร แต่คำว่า “ไม่ยึดติดกับอะไร” ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ต้องมีอะไร

ตรงกันข้าม เขายังคงมี ยังคงเกี่ยวข้องกับยศ ทรัพย์ อำนาจ ชื่อเสียง บริวาร บ้าน รถ ครอบครัว ลูก เมีย สมบัติข้าวปลา อาหาร เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับ เหมือนคนทั่วไป เพียงแต่ว่าเขาเกี่ยวข้องอย่างคนที่ “รู้เท่าทัน” เปรียบเหมือนคนที่กินปลาทูโดยรู้อยู่ว่าปลาทูนั้นมีก้าง แต่ไม่ยอมให้ก้างตำคอ ตำมือ เพราะเขา “รู้เท่าทัน” มันเสียแล้วนั่นเอง

ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ที่ท่านสอนให้ไม่ยึดติดก็เพราะเราไม่อาจยึดอะไรเอาไว้ได้อย่างถาวร ที่ไม่อาจยึดเอาไว้ได้อย่างถาวรก็เพราะสิ่งต่างๆ ตกอยู่ภายใต้กฎแห่งความเปลี่ยนแปลง (อนิจจตา) การไม่ยึดติดไม่ได้หมายความว่าไม่มี ไม่ใช้ ไม่เกี่ยวข้องแต่ยังคงมี ยังคงใช้ ยังคงเกี่ยวข้อง แต่เป็นการมีใช้และเกี่ยวข้องอย่างคนที่มีปัญญา ไม่หลง ไม่ยึดติดอีกต่อไปแล้ว เขาใช้ของเหล่านั้นอย่างคนที่ใช้ไฟฉายสำหรับส่องทาง พอใช้เสร็จก็วาง ไม่ยึดไว้ ถือไว้ตลอดเวลา จำกันง่ายๆ ว่า “สรรพสิ่งคือของใช้  อย่าเข้าใจว่าเป็นของฉัน” ส่วนการไม่ยึดติดจะทำให้ชีวิตจืดหรือไม่ คำตอบก็คือเปล่าเลย

ตรงกันข้าม คนที่ไม่ยึดติดเพราะรู้ทันความจริงของสิ่งต่างๆ นั้น กลับมีชีวิตที่มีชีวาอย่างยิ่ง มีความสุขความเจริญอย่า1งยิ่งเพราะไม่ว่าจะพบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม เขาก็ยังคงครองเป็นปกติอยู่ได้ ยังคงยิ้มได้ ไม่ทุกข์ ไม่ห่อเหี่ยว ไม่มีอะไรที่จะทำให้เขาสิ้นหวัง หดหู่ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ยิ้มรับอย่างมีชีวิตชีวาได้เสมอ ไม่ว่าเขาจะมี จะเป็น จะบริโภค จะเผชิญกับอะไรก็ตามเขาก็รู้เท่ารู้ทัน ปล่อยลง ปลงได้ ชีวิตจึงไม่หวั่นไหวกับอะไรง่ายๆ

พอปฏิบัติอย่างนี้ได้ ก็ยิ่งมีความสุขความเจริญ ไม่ใช่กลายเป็นคนเฉยๆ อย่างที่เข้าใจกันมาแต่อย่างไร ลองดูพระ-พุทธเจ้าสิ ท่านไม่ยึดติดอะไรเลย แต่ถามว่าพระองค์มีความสุขไหม คำสอนเรื่องการไม่ยึดติดนั้นต้องใช้ปัญญาจึงจะปฏิบัติได้ถูกต้อง หากปราศจากปัญญา พอทำท่าว่าจะไม่ยึดติดก็อาจจะกลายเป็นการ “ยึดติด” ในความ “ไม่ยึดติด” ก็เป็นได้

 

ธรรมะจากพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี : พระอาจารย์ผู้ไขปัญหา

ภาพ :  www.pexels.com

หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

พระอาจารย์สิริปันโน ลูกชายมหาเศรษฐีมาเลเซีย ไม่ยึดติดสมบัติ บวชตลอดชีวิต

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: ทำใจอย่างไร ให้ รักแบบไม่ยึดติด

รับรู้แต่ไม่ยึดติด ไม่ว่าอารมณ์บวกหรืออารมณ์ลบ

ก้าวข้ามขีดจำกัดชีวิต ก้อย – รัชวิน วงศ์วิริยะ

ไม่ยึดติดกับความคิด ธรรมะจากพระไพศาล วิสาโล

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.