ชอบหงุดหงิดพ่อแม่

Dhamma Daily: ชอบหงุดหงิดพ่อแม่ ต้องแก้อย่างไร ธรรมะดีๆ จาก ท่าน ว.วชิรเมธี

Dhamma Daily: ชอบหงุดหงิดพ่อแม่ ต้องแก้อย่างไร ธรรมะดีๆ จาก ท่าน ว.วชิรเมธี

ธรรมะดี ๆ จาก ท่าน ว.วชิรเมธี อยากกราบเรียนถามพระอาจารย์ว่า การที่ ชอบหงุดหงิดพ่อแม่ มีวิธีไหนที่จะทำให้เปลี่ยนความรู้สึกและพฤติกรรมแบบนี้ให้ดีขึ้นบ้างคะ

ผู้อ่านถาม: ดิฉันมีปัญหาเรื่องการประพฤติตัวไม่ค่อยน่ารักกับคนใกล้ตัวค่ะ อันที่จริงดิฉันชอบอ่านหนังสือธรรมะและฝึกปฏิบัติอยู่นะคะ คนภายนอกอาจมองว่าเป็นคนดี ใจบุญ ใฝ่ธรรมะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ดิฉันนึกละอายใจอยู่เสมอ โดยเฉพาะการปฏิบัติตัวกับคุณพ่อ ไม่ทราบเป็นเพราะอะไร เวลาท่านพูดหรือทำอะไร ดิฉันมักจะแย้ง

ยิ่งตอนนี้ท่านมีปัญหาสุขภาพ เดินไม่ค่อยถนัดและมีความกังวลอยู่เป็นประจำ ทำให้ไม่กล้าทำอะไรด้วยตัวเอง ต้องถามตลอด จนบางทีเรารำคาญก็เลยพูดแบบหงุดหงิด พยายามห้ามตัวเองไม่ให้แสดงออกไม่ดี แต่ก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง บางทีก็ทำเฉยๆไม่พูดจนดูเหมือนไม่สนใจพ่อ หลายครั้งที่ทำแบบนั้นก็จะกลับมานึกเสียใจที่ไม่สามารถเป็นที่พึ่งพิงทางใจให้พ่อได้ อยากกราบเรียนถามพระอาจารย์ว่า การที่ ชอบหงุดหงิดพ่อแม่ มีวิธีไหนที่จะทำให้เปลี่ยนความรู้สึกและพฤติกรรมแบบนี้ให้ดีขึ้นบ้างคะ

พระอาจารย์พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ตอบ :  ในชีวิตหนึ่งนี้เรามีพ่อมีแม่ที่แท้จริงกันได้เพียงคนเดียววันหนึ่งหากท่านไม่อยู่กับเราแล้ว เราจะไปหา “พ่อแม่อะไหล่” ที่ไหนมาแทน

การหงุดหงิดกับพ่อกับแม่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แม้แต่ผู้เขียนเองตอนที่โยมแม่ยังอยู่ แล้วเพียรพยายามสอนให้ท่านเจริญอานาปานสติ แต่ท่านทำไม่ค่อยเป็น มีบางวันผู้เขียนก็หงุดหงิดบ้างเหมือนกัน แต่ก็ถือว่าไม่บาป เพราะเจตนาที่เราต้องการจะสอนท่านนั้นเป็นเจตนาดี แต่เจตนาดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้วิธีการที่ดีด้วย

ที่เล่ามานี้ก็เพื่อจะบอกว่าไม่ได้มีแต่คุณคนเดียวหรอกที่เคยหงุดหงิดกับมารดาบิดาบังเกิดเกล้า เพียงแต่ว่าแทนที่เราจะหงุดหงิดอยู่อย่างนั้นทุกครั้ง เราก็ควรจะบอกตัวเองให้รู้จัก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ดูบ้าง แล้วเราก็จะเข้าใจท่านว่าหากเป็นเราที่กำลังป่วยแล้วลูกหลานพยายามขอให้ทำโน่นทำนี่ด้วยความหวังดี แต่บางทีเราทำอย่างนั้นไม่ได้ไปเสียทุกเรื่อง เราจะรู้สึกอย่างไร พอเอาใจเขามาใส่ใจเราอย่างนี้แล้ว ความเข้าใจก็จะเกิดขึ้น เมื่อความเข้าใจเกิดขึ้นแล้ว ความเมตตาก็จะตามมา

การดูแลพ่อแม่นั้นต้องใช้ทั้งความเข้าใจและความเมตตา ถ้ามีคุณธรรมทั้งสองประการนี้คอยประคองอยู่  เราจะปรนนิบัติท่านอย่างมีความสุข แต่ถ้าหากมีแต่เจตนาดีเพียงอย่างเดียว ระหว่างปรนนิบัติท่าน  เราก็อาจจะกลายเป็นคนที่คอยแต่จะรำคาญพ่อกับแม่  หรือบางทีพ่อกับแม่ก็อาจจะพลอยรำคาญเรา หรือหนักกว่านั้นท่านก็อาจจะรู้สึกว่ากำลังใช้ชีวิตอยู่กับ “พัศดี” ในเรือนจำที่คอยแต่จะชี้นำให้ทำโน่นทำนี่สารพัดด้วยการ “สั่ง” หรือ “บังคับ”

 

ความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับพ่อแม่นั้นจะไม่ทำให้ท่านมีความสุขอย่างแท้จริง มีแต่ความรักที่มาพร้อมกับความเข้าใจเท่านั้นแหละที่จะทำให้ท่านทั้งสองมีความสุข มีความแช่มชื่นเบิกบานใจลองสังเกตดูเถิด หากพ่อแม่ท่านรู้ว่าลูกของท่านกตัญญูรู้คุณและไม่ทอดทิ้งท่าน แค่นี้ท่านก็มีความสุขแล้ว กินข้าวอร่อยแล้วความภูมิใจที่รู้ว่าลูกของตนเป็นคนดี และเป็นคนกตัญญูนั้นเป็นโอสถวิเศษสำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่เลยทีเดียว

ในทางพุทธศาสนาพระพุทธองค์ตรัสว่า มารดาบิดาเป็นพระอรหันต์  มารดาบิดาเป็นพระพรหมของบุตรธิดา การได้บำรุงมารดาบิดาคือการมีโชคยิ่งกว่าโชคบรรดามีเสียอีก แม้แต่พระพุทธองค์ซึ่งเป็นพระอรหันต์ พระองค์ก็ยังคงไม่ทิ้งความกตัญญูกตเวทีต่อพุทธมารดา พุทธบิดา ความกตัญญูกตเวทีนั้นเป็นจรรยาของคนดี ใครอกตัญญูนับว่าเป็นคนที่ใช้ไม่ได้

คุณควรจะภูมิใจที่ตัวเองเป็นลูกกตัญญู สิ่งที่ควรจะเติมลงไปก็คือ ความเข้าใจบนพื้นฐานของการเอาใจเขามาใส่ใจเราใจเย็นให้มากๆ  เมตตาให้มาก ต้องไม่ลืมว่าพ่อแม่ของเรานั้นตอนอายุมากแล้วก็เหมือนกลับมาเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง และครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว เราก็เคยเป็นเด็กให้ท่านเลี้ยงดูแบบนี้แหละ ในตอนนั้นท่านไม่เคยปฏิเสธเราเลย ดื้อแค่ไหน  ซนแค่ไหน ท่านก็ยังทนเราได้

คราวนี้พอท่านอายุมากแล้ว เราก็ต้องทนท่านให้ได้เช่นเดียวกัน แต่ถ้าให้ดีกว่านั้นก็คือต้องไม่ทน แต่ให้ดูแลท่านด้วยความรักที่แท้จริง หากทำด้วยความรักที่แท้ คุณจะไม่รู้สึกว่าต้องใช้ความอดทนเลยแม้แต่น้อย งานใดก็ตามที่คุณทำด้วยความรัก งานนั้นจะมีความสุขเป็นของแถม การปรนนิบัติมารดาบิดาก็เช่นเดียวกัน หากทำด้วยความรักด้วยความกตัญญูจริงๆแล้ว ยิ่งมีความสุข ยิ่งมีความภาคภูมิใจที่ได้ดูแลพระอรหันต์ที่แท้จริงของเรา

ที่มา: นิตยสาร Secret


บทความน่าสนใจ

“Dream Protector” ภาพวาดความฝันบนหมวกกันน็อกของลูก ที่พ่อแม่อยากเก็บรักษาไว้ให้นานที่สุด

แค่รักอาจยังไม่พอ! วิธีดูแล พ่อแม่สูงวัย 4 ประเภท รับรองลดการทะเลาะชัวร์

จากเด็กแสบที่เคยทำพ่อแม่เสียใจ สู่ชีวิตที่คิดได้เมื่อเข้าถึงความเป็นพุทธของ ท็อป จรณ โสรัตน์

Dhamma Daily : จูนทัศนคติ อย่างไร เมื่อพ่อแม่หัวโบราณแต่ลูกหัวสมัยใหม่

20 ปีที่รอคอยของพ่อแม่ที่จำต้อง ทิ้งลูก

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.