การทำบุญ

ไข 7 ข้อคาใจเกี่ยวกับการทำบุญ

ไข 7 ข้อคาใจเกี่ยวกับ การทำบุญ

หลายคนมีคำถามมากมายเกี่ยวกับ การทำบุญ ทำกุศล คือไม่รู้ว่า ทำบุญแบบไหนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม Secret รวบรวมคำถามและคำตอบจากพระอาจารย์หลาย ๆ ท่านมาฝากค่ะ

1. ทำบุญด้วยการถวายเงินพระเหมาะสมหรือไม่?
พระไพศาล วิสาโล กล่าวว่า สมัยก่อนชาวบ้านไม่ถวายเงินพระไม่ว่าจะเป็นงานพิธีใดก็ตาม เพราะนอกจากพระวินัยไม่อนุญาตให้พระรับและถือเงินแล้ว สมัยก่อนเงินไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับพระ แต่ปัจจุบันเงินมีความสำคัญต่อชีวิตของผู้คนอย่างมาก แม้กระทั่งพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยก็มีชีวิตหรืองานที่แยกขาดจากเงินได้ยาก โยมจึงถวายเงินแก่พระ ส่วนหนึ่งก็เพราะหวังว่าจะมีเงินทองและมั่งมีศรีสุขในวันหน้าด้วย สำหรับคนที่เข้าใจวินัยของพระสงฆ์และอยากเอื้อเฟื้อท่านในด้านนี้ สามารถเลี่ยงไม่ถวายเงินแก่ท่าน โดยถวายเป็นของใช้ของบริโภคให้แก่ท่านแทน เช่น หนังสือ ยา เครื่องเขียน  ส่วนเงินนั้นหากอยากถวาย ก็ถวายแก่วัดโดยตรง หรือมอบให้แก่โยมที่ใกล้ชิดเพื่อจัดหาซื้อของถวายท่านตามที่ท่านประสงค์และสมควรแก่สมณะ

2. เขาบอกว่าทำบุญชาตินี้ ชาติหน้าจะได้เกิดมาคู่กัน แล้วถ้ามีแฟนต่างศาสนาจะทำอย่างไร?
พระครูธรรมธร สุวทุฒโน กล่าวว่า การเกิดมาคู่กันนั้น  ทางพระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า 1. ชาติก่อนเคยทําบุญร่วมกันมา 2. เคยเป็นผัวเมียกันมาก่อน 3. ทําบุญร่วมชาติตักบาตรร่วมขันกันมาภพใดภพหนึ่งเลยได้มาเจอกัน 4. เคยเกื้อกูลซึ่งกันและกันจึงได้ผูกพันและแต่งงานกัน

ดังนั้นถ้าหากมีแฟนต่างศาสนาก็สามารถทําบุญร่วมกันได้ การทําบุญถือเป็นความดีงามและเป็นสิ่งสากลที่สามารถทําได้หลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องเข้าไปในวัดเสมอไป การทําความดีหรือการทําบุญไม่มีแบ่งแยกศาสนา ทําดีก็จะได้ดี  ได้เกิดมาเป็นคู่กัน

3. ทำบุญด้วยวิธีไหนได้บ้าง?
พระไพศาล วิสาโล กล่าวว่า ในทางพุทธศาสนา บุญทำได้ 3 ระดับ ระดับแรก เรียกว่า ทาน เป็นเรื่องของการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่น จะช่วยเหลือใครก็แล้วแต่ อันนั้นถือว่าเป็นทานได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องช่วยด้วยการให้เงิน เราช่วยด้วยการสละเวลา ด้วยการสละกำลัง ก็เป็นบุญแล้ว บางทีคนไปเข้าใจว่า ทานนี่ ต้องให้แก่คนขอทาน หรือทานนี่ ต้องหมายถึงสังฆทานเท่านั้น ถึงจะเป็นบุญ ไม่ใช่ การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ตลอดจนการตอบแทนผู้มีพระคุณ เช่น พ่อ แม่ หรือว่าการบูชาคุณครูบาอาจารย์ หรือว่าการอุปถัมภ์ค้ำจุนพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นทาน เป็นบุญในส่วนแรก คือการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น

ส่วนระดับที่ 2 คือการประพฤติปฏิบัติ เรียกว่า ศีล ก็คือมีความสุจริต การทำการงานอย่างสุจริต แต่บางครั้งแม้จะทำงานทำการด้วยความสุจริตแล้ว บุญก็ยังไม่ครบถ้วนเพราะว่ายังไปเบียดเบียนผู้อื่นด้วยการคิดร้าย หรือว่าระบายอารมณ์ใส่ผู้อื่น อันนี้เป็นการเบียดเบียนซึ่งทำให้ศีลไม่ครบถ้วน เพราะฉะนั้น นอกจากการทำการงานด้วยความสุจริตแล้ว เราก็ต้องไม่คิดที่จะเบียดเบียน หรือไม่กระทำการใดที่เบียดเบียนผู้อื่น แม้แต่เพียงด้วยวาจา ทีนี้บางคนทำการงานด้วยความสุจริตแล้ว ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยวาจา ไม่ระบายอารมณ์ใส่ผู้อื่น ด้วยความเป็นคนเจ้าอารมณ์แล้ว แต่ก็ยังอาจจะหมกมุ่นอบายมุข ชอบเที่ยวกลางคืน ชอบเล่นการพนัน ชอบเล่นหวย อันนั้นก็ยังเป็นบุญที่ครบถ้วนไม่ได้ ต้องครบ 3 อย่าง คือทำการงานด้วยความสุจริต ไม่คดโกง ไม่คิดเอาเปรียบเบียดเบียนใคร แม้แต่ด้วยวาจา แล้วก็ดำเนินชีวิตโดยไม่ไปหลงอยู่ในอบายมุข อันนี้ถึงจะเป็นบุญที่ครบถ้วนในฝ่ายศีล ถ้าหากเราทำ 3 อย่างนี้ได้ จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ ให้รู้ไว้ว่า นี่ก็เป็นบุญ

ระดับที่ 3 คือการทำข้างใน คือจิตใจของตัวเอง ให้เกิดความสงบ ให้มีปัญญา เวลาทำงานทำการด้วยสติ ทำแล้วเกิดสมาธิ มีความขยันหมั่นเพียร นี่ก็คือการฝึกฝนจิตใจ ที่ทางพระเรียกว่า ภาวนา ก็เป็นบุญอีกเหมือนกัน ถ้าเรามีอุบายในการทำจิตไม่ให้โกรธ เวลากระทบกับสิ่งที่ไม่พึงพอใจ มีคนมาด่า มีคนมาว่า หรือประสบการพลัดพราก การสูญเสีย เหล่านี้แล้วประคองจิตไว้ให้เป็นปกติ ไม่เศร้าโศกเสียใจ รู้จักปล่อย รู้จักวาง รู้จักมองในแง่ดีว่า สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ ช่วยฝึกฝนให้เรามีความเข้มแข็ง ให้เราเกิดปัญญา อันนี้ก็เรียกว่าเป็นภาวนาได้เหมือนกัน ถือว่าเป็นบุญอีกอย่างหนึ่ง

 

การทำบุญ
Photo by Shivam Dewan on Unsplash

 

4. การที่เราแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวรและสัมภเวสีทั้งหลายจะทําให้บุญที่เราสะสมมาลดลงหรือไม่?
พระพงศ์ศักดิ์  ญาณวังโส  วัดธรรมมงคล กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การที่เราแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลไม่ทําให้บุญของเราลดลงอย่างแน่นอน  มีแต่จะทําให้เราได้บุญได้กุศลเพิ่มขึ้น  เพราะการแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลเป็นการส่งหรือมอบความสุข  ความเมตตา  ความปรารถนาดีแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย  ทั้งที่มีชีวิตอยู่และเสียชีวิตไปแล้ว  จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทําให้บุญของเราลดลง

5. เรามีวิธีทำบุญให้ตัวเองได้อย่างไร?
พระไพศาล วิสาโล กล่าวว่า ทำบุญต่อตัวเอง ก็เช่นว่า การไม่มอมเมาตัวเองด้วยยาเสพติด ไม่มอมเมาด้วยอบายมุข เวลานี้เรามอมเมาตัวเองด้วยสิ่งเหล่านี้มากเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นการพนัน การละเล่น ยาเสพติด ยาบ้า หวย หรือว่าความบันเทิงที่ทำให้ลุ่มหลง อันนี้ก็เป็นการมอมเมา เวลานี้คนติดอบายมุขมากเหลือเกิน จนเมืองไทยกลายเป็นเมืองอบายมุข แสดงว่าเราไม่รู้จักการทำบุญให้แก่ตัวเอง

การทำบุญให้แก่ตัวเองมีอีกหลายอย่าง นอกจากจะไม่มอมเมาตัวเองด้วยอบายมุขแล้ว ก็รู้จักหาสิ่งดีงามมาใส่จิตใจ เช่น ฟังธรรมะ หรือว่ามองสิ่งต่าง ๆ ในแง่ดี รู้จักวิธีระงับความโกรธ ทำจิตใจให้เป็นปกติ ให้มีความสุขสงบเย็น หรือว่า การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ให้ชีวิตยุ่งเหยิงวุ่นวายมาก เวลานี้คนส่วนมากมักใช้ชีวิตให้ลำบากซับซ้อน ทำตัวเองให้ยุ่งเหยิง จนกระทั่งไม่มีเวลาให้กับตัวเอง หรือครอบครัว เราเอาของอะไรก็ไม่รู้ มาใส่ปากท้องของเรา มาใส่ใจของเราทั้งที่มันไม่เป็นประโยชน์เยอะแยะไปหมด แม้กระทั่งความโกรธ ความเกลียด เราก็เอามาใส่จิตใจเรา แล้วก็ถอนไม่ได้ เราต้องรู้จักถอนด้วยการภาวนา

6. ทำบุญแบบไหนได้บุญสูงสุด
พระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า บุญแบ่งเป็นสามลำดับขั้น ขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วยการให้ทานแก่ผู้มีศีล การให้ทานแก่มนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรม ให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉาน บุญขั้นกลาง ประกอบด้วย การให้ธรรมทาน การให้อภัยทาน การถวายวิหารทาน ถวายสังฆทานที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ถวายทานแก่พระอรหันต์ ถวายทานแก่พระอนาคามี ถวายทานแก่พระสกิทาคามี ถวายทานแก่พระโสดาบัน ถวายทานแก่พระสมมติสงฆ์ ถวายทานแก่สามเณร ส่วนบุญขั้นสูงสุด ได้แก่ การเจริญวิปัสสนา การทำสมาธิ การรักษาศีลและการมีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัย

ท่าน ว.วชิรเมธี กล่าวว่า การทำบุญสูงสุดคือการบำเพ็ญจิตภาวนาเพื่อให้เกิดปัญญา และปัญญานั้นไม่ใช่เพื่อปัญญา แต่เป็นปัญญาที่นำไปสู่อิสรภาพหรือนิพพาน เป้าหมายของบุญอยู่ตรงนี้ ตรงที่ไม่จำเป็นต้องมาวุ่นวายทำบุญกันอีกต่อไป กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ทำบุญเพื่อทิ้งบุญ ในที่สุด

7. จริงไหมทำบุญถวายอะไรจะได้ผลอย่างนั้นกลับคืน เช่น สร้างหลังคาโบสถ์ ชีวิตจะมีแต่ความร่มเย็น ชำระหนี้สงฆ์จะปลอดหนี้
พระอาจารย์สุรศักดิ์ จรณธมโม ศูนยพัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดผาณิตาราม จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ทุกกรณีที่ถามจะเป็นการเจริญกุศลในขั้นของทานก็ต่อเมื่อมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น หากต้องการสิ่งตอบแทนตั้งแต่คิดจะให้ คงไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นเสียแล้ว หากการสละเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นอย่างแท้จริงเกิดขึ้น ก็ถือเป็นการเจริญกุศลด้วยความเห็นถูก เรียกว่า “มีปัญญาในการเห็นถูก” ทำให้ปลอดหนี้ได้ด้วยการไม่เป็นภาระผูกพันในสิ่งของที่หยิบยื่น และความสงบร่มเย็นก็จะเกิดขึ้นในใจด้วยผลของกุศล สิ่งเหล่านี้หากทำด้วยความเห็นถูก ผลก็จะเกิดขึ้นตรงตามสิ่งที่ทำโดยไม่ต้องร้องขอ

 

Photo by Mesh on Unsplash

Secret Magazine (Thailand)


บทความที่น่าสนใจ

Dhamma Daily : หากจิตใจวอกแวกขณะสวดมนต์ จะยังได้อานิสงส์จาก การสวดมนต์ อยู่ไหม

Dhamma Daily: หากทำงาน แล้วรู้สึกว่ากำลังหายใจเข้า หายใจออก เรียกว่า มีสติ อยู่ไหมคะ

Dhamma Daily : ทำอย่างไรไม่ให้รู้สึกแย่กับ คำวิพากษ์วิจารณ์

Dhamma Daily: เคยพลาด ทำแท้ง มาครั้งหนึ่ง จะลดกรรมนี้ได้อย่างไรคะ

Dhamma Daily: พี่น้องไม่รักกัน อยู่ใกล้กันไม่ได้ เกิดจากกรรมอะไรคะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.