พระอาจารย์ชาญชัย

เลิกเป็นขอทาน ไม่เป็นนักโทษ บทความน่าคิดจาก พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

เลิกเป็นขอทาน  ไม่เป็นนักโทษ บทความน่าคิดจาก พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ      

พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ เปรยเป็นบทกวีไว้ว่า      

เมื่อแสงเรืองรองปรากฏปลายขอบฟ้าเบื้องบูรพาทิศ

ความมืดมิดของราตรีกาลเคลื่อนผ่านไปอย่างช้าๆ

ลมพลิ้วพาความเย็นผ่านหยาดน้ำค้างที่พร่างพรมไว้ 

โลมไล้ผิวกายให้ฉ่ำชื่นรวยรื่นเป็นสุขปานฉะนี้

มีหรือที่ผู้ตื่นมารับแสงอรุณจะไม่รู้สึกเบิกบานใจ

 

ใครก็ตามที่ตื่นขึ้นมาแต่เช้าตรู่ออกมาดูดวงอาทิตย์ขึ้นย่อมได้รับความรู้สึกดังที่ได้พรรณนาไว้ข้างต้น ความจริงแล้วธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายต่างดำเนินไปตามเหตุปัจจัยอยู่ตลอดเวลา

ดวงอาทิตย์เดินทางขึ้น-ลงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในช่วงเช้าตรู่และเย็นย่ำสนธยา เราต่างชอบมองดูแสงเรืองรองของดวงอาทิตย์ เพราะลำแสงของมันสวยงาม มองด้วยตาเปล่าได้อย่างสบาย อากาศก็เย็นสดชื่น โดยเฉพาะในยามเช้า คนส่วนใหญ่จึงชอบบรรยากาศช่วงดวงอาทิตย์ขึ้นและตอนจะลับขอบฟ้า

ครั้นเวลาสายตะวันก็ลอยดวงสูงขึ้นเป็นลำดับ แสงที่รังรองกลับร้อนแรงสว่างจ้าจนเราไม่อาจจะมองด้วยตาเปล่าได้ ถึงตอนนี้เราก็เริ่มรู้สึกไม่ชอบแสงแดดที่แผดเผา ทำให้เราร้อนอยู่กลางแจ้งนานๆ ไม่ได้

ช่วงเวลานั้นเราอยากให้มีเมฆกลุ่มใหญ่ลอยมาบดบังแสงอาทิตย์เอาไว้ ถ้าไม่มีเมฆก็ขอให้มีต้นไม้ใหญ่ใบหนาเพื่อเข้าไปอาศัยร่มเงาบังแดดได้ หรือมิฉะนั้นก็ขอให้มีอาคารเพิงพักที่จะเข้าไปหลบแดด นี่เท่ากับว่าเราสร้างนิสัยขอทาน (ขอสิ่งที่ต้องการ) ให้เกิดขึ้นแล้วถ้าสิ่งที่เราต้องการไม่ได้อย่างใจ เราก็มักจะบ่นว่า

 

ทำไมวันนี้แดดแรง ทำให้ร้อนจังเลย

ทำไมไม่มีเมฆมาบังดวงอาทิตย์

ทำไมไม่มีต้นไม้ใหญ่ให้อาศัยร่มเงา

ทำไมไม่มีเพิงพักให้เข้าไปหลบแดด

ทำไม ทำไม และทำไม

 

นี่เท่ากับว่าเราสร้างนิสัย นักโทษ (โทษสิ่งที่ทำให้ไม่สมหวัง) ให้เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน

ในกรณีดังกล่าวสะท้อนว่า เราเอาความสุขของเราไปฝากไว้กับสิ่งภายนอกอันมีดวงอาทิตย์ เมฆ ต้นไม้ และเพิงพัก เป็นต้น ซึ่งยากที่เราจะพบความสุขได้ เพราะสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่อยู่ในอาณัติที่เราจะควบคุมได้

อาจมีบางคราวที่สิ่งนั้นเปลี่ยนไปในทางที่เราปรารถนาทำให้เรายินดีพอใจ แต่ก็ชั่วคราวเท่านั้นเอง เพราะสภาวะเช่นนั้นคงทนอยู่ได้ไม่นาน ต้องเปลี่ยนแปลงต่อไปอีก

หากเราเรียนรู้เพื่อจะอยู่กับความเป็นจริง เราก็จะเข้าใจความไม่เที่ยงของดวงอาทิตย์ เมฆ ต้นไม้ และเพิงพัก ว่าสิ่งดังกล่าว มี ธรรมชาติของมันเป็นเช่นนั้นเอง เราห้ามหรือบังคับมันไม่ได้มีแต่เราจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาวะต่างๆ และอยู่กับสิ่งนั้นให้ได้ โดยไม่ทุกข์ใจ

เมื่อต้องอยู่กลางแจ้งท่ามกลางแสงแดดที่แผดร้อนก็ต้องหาทางแก้ไข หากยังหาที่หลบไม่ได้  ก็ไม่ควรเอาใจไปหมกมุ่นอยู่กับความร้อน หรือรู้สึกกระวนกระวายอยากให้มันผ่านไปเร็วๆ การรอคอยตัวช่วย  ไม่ว่าจะเป็นเมฆต้นไม้ใหญ่  หรือเพิงพักเมื่อยังไม่สมปรารถนาก็จะทำให้ใจร้อนรุ่มอันส่งผลถึงความรู้สึกที่มีต่อกายให้ร้อนทับทวีขึ้นไปอีก

แต่ถ้าคุมใจให้สงบ  คิดเสียว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ทำงานอยู่กลางแดดทั้งวัน ทำไมเขาอยู่กันได้ ถึงแดดจะร้อน กายจะร้อน ก็เป็นเรื่องของแดดและของกาย ช่างมันฉันไม่แคร์รักษาใจไม่ให้ร้อนโดยไม่ต้องไปวิตกกังวลต่อสภาวะดังกล่าวหากคุมใจให้ตั้งมั่นได้แล้ว ก็จะอยู่กับความร้อนได้โดยใจไม่ร้อนหรือ ไม่ทุกข์ใจ

 

นี่แสดงว่าเราเอาตัวเองเป็นที่พึ่งไม่เป็นขอทานไม่เป็นนักโทษ 

เราก็จะพบความสุขได้โดยไม่ต้องไปพึ่งพาสิ่งภายนอก

 

ในชีวิตประจำวันของเราก็เช่นกัน เราต้องสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ซึ่งมีธรรมชาติที่แตกต่างกันและดำเนินไปตามเหตุปัจจัยของมัน โดยที่เราไม่สามารถควบคุมให้ได้ดังใจ หากใจเรายังเป็น ขอทาน และนักโทษ เราก็จะอยู่กับสิ่งเหล่านั้นด้วยความทุกข์ เป็นต้นว่า

เมื่ออยู่กับคนในครอบครัวหรือคนที่เรารัก ใจที่เป็น ขอทาน ก็จะขอให้เขารักเรา เห็นคุณค่าของเรา ชมเรา เข้าใจเรา เห็นใจเรา ซื่อตรงต่อเรา อย่าทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ อย่ามองเราในแง่ร้าย อย่าทำให้เราเป็นห่วง เป็นต้น

เมื่ออยู่กับหัวหน้า ใจที่เป็น ขอทาน ก็จะขอให้เขาเข้าใจเราเห็นใจเรา ให้ความเป็นธรรมกับเรา มองเราในแง่ดี ไม่ใช้ความก้าวร้าวกับเรา ให้โอกาสเรา เห็นคุณค่าของเรา สนับสนุนเรา เป็นต้น

เมื่ออยู่กับลูกน้อง ใจที่เป็น ขอทาน ก็จะขอให้เขายอมรับบทบาทและสถานะของเรา เชื่อฟังเรา เข้าใจเรา รู้ใจเรา ซื่อสัตย์สามัคคี ปฏิบัติงานให้ได้ผลดีอุทิศเวลา และเสียสละให้กับงาน เป็นต้น

หากไม่ได้ตามที่เราต้องการเราก็จะใช้บทบาทของนักโทษเข้ามา ด้วยการโทษคนนั้นคนนี้สิ่งนั้นสิ่งนี้ โดยเห็นว่าสิ่งภายนอกทำให้เกิดปัญหา จากนั้นก็พยายามแก้ไขด้วยการเรียกร้องหรือบังคับคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ให้ทำตามที่เราต้องการ โดยไม่คิดแก้ไขตัวเอง เพราะใจที่ส่งออกไปพึ่งพาสิ่งที่อยู่ภายนอก ไม่เอากลับมาพึ่งตนเอง ย่อมมองไม่เห็นความผิดของตนเอง จึงไม่คิดที่จะแก้ไขตนเอง ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ลุล่วงไปได้อย่างยั่งยืน

ชีวิตของคนส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนี้ ชอบส่งจิตออกไปแสวงหาสิ่งภายนอกเป็นที่พึ่งอยู่ร่ำไป ครั้นสิ่งนั้นตอบสนองความต้องการของตน ก็หลงว่าเป็นความสุข แท้จริงแล้วเป็นเพียงมายาหรือเป็นเงาของความสุขเท่านั้นเอง

ความสุขที่แท้จริงเกิดจาก ความสุขภายในจิตใจของตน โดยมีปัญญาที่เข้าใจความเป็นจริงในธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายตามกฎไตรลักษณ์ จึงอยู่กับความเป็นจริงเหล่านั้นอย่างรู้เท่าทัน ไม่ยึดติด ไม่ลุ่มหลง เช่นนี้จึงจะพบความสุขที่ยั่งยืนได้

 

ใจที่ถวิลหาความสุขจากสิ่งภายนอกย่อมเป็นใจอนาถา

นำใจกลับมาภายใน เอาตนเป็นที่พึ่งของตนได้เมื่อใด 

ก็จะปลดปล่อยใจที่เป็นขอทานและเป็นนักโทษได้เมื่อนั้น

 

เรื่อง: พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

ที่มา:  นิตยสาร Secret


บทความน่าสนใจ

ธรรมะของนักโทษชาย : stories from our readers

Dhamma Daily : ผู้ที่มีอาชีพเป็นเพชฌฆาต ต้องประหารนักโทษ เขาจะบาปไหมครับ

สวนสัตว์ใน เรือนจำ ช่วยกล่อมเกลาจิตใจนักโทษ

จากนักโทษ สู่ผู้ให้อย่างไม่มีเงื่อนไข ชีวิตใหม่ของ ไพบูลย์ พิมพ์ลา

นักโทษหญิงผู้ผ่านมรสุมร้ายคืออดีต ซินเดอเรลล่า คือชีวิตจริงในปัจจุบัน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.