ยอมแพ้ เพื่อยืนยง

ยอมแพ้ เพื่อยืนยง : บทความโดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

ยอมแพ้ เพื่อยืนยง : บทความโดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

สาธารณรัฐเช็กเป็นประเทศที่ 5 ในโครงการธรรมสัญจรเพื่อชุมชนไทยเข้มแข็ง ที่กลุ่มสถานทูตประเทศยุโรป 9 แห่งนิมนต์ผู้เขียนมาแสดงธรรม ผู้เขียนนั่งรถไฟที่กรุงอัมสเตอร์ดัมเพื่อไปกรุงปราก เมืองหลวงของสาธารณรัฐเช็ก รถไฟออกตอนเย็น ผ่านประเทศเยอรมนีในเวลากลางคืนเป็นช่วงที่กำลังหลับสบาย

พอรุ่งอรุณที่ชายแดนประเทศเยอรมนี ผู้เขียนและผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ผู้ติดตามมาอุปัฏฐาก ก็ตื่นขึ้นมาพร้อมด้วยความตื่นตาตื่นใจในทัศนียภาพอันงดงามที่ได้พบเห็นข้างทาง เป็นช่วงที่รถไฟผ่านเมืองบาดชานเดา (Bad Schandau) แม้จะเป็นต้นเดือนเมษายน แต่ฤดูหนาวอันยาวนานก็ยังนำหิมะโปรยปรายลงมาปกคลุมภูมิประเทศ และอาคารบ้านเรือนจนแลดูขาวโพลนไปหมด ทำให้มองเห็นทิวทัศน์ได้ไม่ชัดเจน แต่ก็เป็นความงามอีกแบบหนึ่ง

เส้นทางที่รถไฟแล่นผ่านเป็นแม่น้ำเอลเบอ (Elbe) ไหลมายาวไกลผ่านที่ราบและขุนเขา เป็นเส้นทางคดโค้งไปตามภูมิประเทศ ริมฝั่งแม่น้ำมีบ้านเรือนปลูกอยู่เรียงรายตามเชิงเขา บางแห่งมีหินผารูปทรงชวนมอง ช่วยแต่งแต้มทัศนียภาพให้งดงามยิ่งขึ้น

ถึงสถานีปรากเป็นเวลาประมาณ 9.26 น. โยมแจ๊ด (กาญจนวดี สุรกิจบุญหาญ) เลขานุการเอกจากสถานทูตไทยประจำสาธารณรัฐเช็ก เดินทางมารับผู้เขียนและอาจารย์บัณฑิต ก่อนพาไปพักที่ทำเนียบสถานทูตก็ได้พาไปชมเมืองพอเป็นหนังตัวอย่าง ผู้เขียนนึกไม่ถึงว่าประเทศเล็ก ๆ อย่างนี้จะมีของดีมีค่าซ่อนเร้นอยู่

ประเทศนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานเช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรป มีชาวเผ่าเคลต์ (Celt) เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ 200 ปี ก่อนคริสตกาล จากนั้นชนเผ่าเจอร์มานิก (Germanic) ก็เข้ามาครอบครอง ต่อมาก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของชนเผ่าสลาฟ (Slavonic Tribes) ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรมของชนทั้งสองเผ่าที่ผสานกันจึงเป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน

สถาปัตยกรรมของกรุงปรากมีหลากหลาย ทั้งรูปแบบโรมาเนสก์ กอทิกเรอเนซองซ์ และบาโรก ที่ขึ้นชื่อลือชาดึงดูดตานักท่องเที่ยวให้ไปชมก็มี ปราสาทปราก (Prague Castle) ซึ่งกษัตริย์ในอดีตสร้างขึ้นในปี ค.ศ.885 เป็นปราสาทโบราณที่ใหญ่ที่สุดในโลกตามที่กินเนสส์บุ๊กให้การรับรอง คือยาวราว 570 เมตร กว้างราว 130 เมตร ปัจจุบันเป็นที่ทำการของประธานาธิบดี

มหาวิหารเซนต์วิตัส (St. Vitus Cathedral) งดงามตามแบบศิลปะกอทิก สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1344 ในสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมัน มาเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1929

เสน่ห์ของกรุงปรากคือ แม่น้ำวัลตาวา (Vltava) ที่ไหลผ่านกลางกรุง มีสะพานข้ามแม่น้ำหลายแห่ง สะพานที่เลื่องชื่อคือสะพานชาร์ลส์ (Charles Bridge) สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1357 เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินกันอย่างเนืองแน่น

คาร์โลวีวารี (Karlovy Vary) เป็นอีกเมืองหนึ่งที่อยู่ทางด้านตะวันตก เป็นเมืองที่มีน้ำพุร้อนหรือเมืองแห่งสปา ที่นี่มีอาคารทรงเก่าแก่ให้เห็น เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว มีหนังดัง ๆ เช่น เจมส์ บอนด์  หนังเกาหลี รวมถึงละครทีวีของไทยเราบางเรื่องก็มาถ่ายทำที่นี่

ผู้ที่ต้องการจะชมสถาปัตยกรรมเก่า ๆ ของยุโรป มาเที่ยวที่สาธารณรัฐเช็กคงไม่ผิดหวัง ที่นี่รอดจากภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้ เพราะผู้นำเขาเห็นว่า เมื่อไม่มีทางจะไปต่อต้านอำนาจของฮิตเลอร์ได้ จึงยอมให้กองทัพเยอรมันผ่าน เป็นการยอมแพ้เพื่อรักษาประเทศไว้มิให้บอบช้ำ ทำให้เหลืออาคารอันงดงามให้คนรุ่นหลังได้ชมกัน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียตเข้ามาปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์เป็นเวลานานกว่า 40 ปี ทำให้ประเทศล้าหลังไปมาก ในปี ค.ศ.1992 ได้มีการประกาศแยกประเทศจากเชโกสโลวะเกียเดิมมาเป็นสาธารณรัฐเช็กและสาธารณรัฐสโลวาเกีย

ประเทศเช็กมีขนาดพื้นที่เล็กกว่าประเทศไทยเรา 6 เท่า แต่คนของเขามีศักยภาพ เป็นคนเอาการเอางาน มีรายได้ต่อหัวประมาณ 27,000 เหรียญสหรัฐ สูงกว่าคนไทยประมาณ 3 เท่า

การค้าไทยกับเช็กนั้น เอาเฉพาะในเอเชีย ไทยคือคู่ค้าอันดับ 4 ของเช็กรองจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ในปี ค.ศ. 2011 ไทยค้าขายเกินดุลประเทศเช็ก 630 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 790 ล้านเหรียญ นำเข้า 160 ล้านเหรียญ นักท่องเที่ยวเช็กมาเที่ยวประเทศไทยในปี ค.ศ. 2012 ประมาณ 5 หมื่นคน ปัจจุบันมีคนไทยอยู่ในเช็กประมาณ 700 คน ส่วนใหญ่ทำอาชีพพนักงานนวดหรือร้านสปาไทย รองลงมาก็มีร้านอาหารไทย เจ้าของร้านส่วนใหญ่เป็นชาวเช็ก มีหญิงไทยที่มีสามีเป็นชาวเช็กเป็นเจ้าของร้านด้วย

ผู้เขียนได้พักที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต วิทวัส ศรีวิหค ท่านทูต และภริยาคือคุณกาญจนา ได้ให้การต้อนรับเป็อย่างดี ผู้เขียนได้มีโอกาสแสดงธรรมที่ทำเนียบ 2 วัน โดยท่านทูตไทยเปิดบ้านพักให้คนไทยเข้ามาฟังธรรม แถมยังอยู่ร่วมฟังธรรมจนจบ เพราะต้องการเปิดโอกาสให้คนไทยเข้ามาในทำเนียบ ที่นี่ก็เหมือนแผ่นดินไทยที่คนไทยมีสิทธิ์เข้ามาได้

ธรรมที่แสดงวันแรกได้พูดถึงเรื่องเมตตา ซึ่งเป็นแก่นแกนของการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกับคนด้วยกัน คนกับสัตว์ หรือคนกับธรรมชาติ หากมีเมตตาต่อกันแล้วก็จะอยู่อย่างเกื้อกูลกัน วันต่อมาพูดถึงประโยชน์ที่จะพึงเห็นได้ในชาตินี้ หากปฏิบัติตามหลัก 1.ขยันทำงาน 2.บริหารทรัพย์ที่มี 3.คบคนดีเป็นมิตร 4.ใช้ชีวิต ให้เหมาะกับฐานะ

คนไทยที่มาฟังธรรมส่วนใหญ่เป็นคนที่ทำงานนวดสปาและร้านอาหาร และมีเจ้าหน้าที่สถานทูตมาด้วย ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนากับท่านทูต ถามท่านว่า ในฐานะที่ท่านได้มีโอกาสพบปะกับผู้นำหลายประเทศ ท่านมีความประทับใจผู้นำคนใดเป็นพิเศษ

ท่านทูตวิทวัสตอบทันทีว่า ประทับใจ เนลสัน แมนเดลา มาก เพราะเขาเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนโดยสันติวิธี เรียกร้องให้ผู้บริหารประเทศแอฟริกาใต้ที่เป็นชาวผิวขาวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยเลิกกีดกันเรื่องสีผิว และให้สิทธิเสรีภาพแก่คนผิวดำซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ผลปรากฏว่าเขาถูกจับไปขังคุกเป็นเวลานานถึง 27 ปี

เมื่อออกจากคุก เขาก็ยังดำเนินการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง และสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีใน ค.ศ.1994 ได้ชัยชนะมีเสียงข้างมากโดยเด็ดขาด เนลสัน แมนเดลา ให้อภัยแก่ศัตรูทางการเมือง เขาจัดตั้งรัฐบาลผสม ดึงฝ่ายตรงข้ามเข้าร่วมรัฐบาลด้วย ทำให้เกิดความสมานฉันท์ในประเทศ และยกเลิกกฎหมายกีดกันสีผิวได้สำเร็จ

ครั้งหนึ่งเนลสัน แมนเดลา ได้แสดงปาฐกถาในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติทันทีที่เขาพูดจบลง ผู้ฟังต่างลุกขึ้นปรบมือด้วยเสียงดังกึกก้องเป็นเวลายาวนานยิ่งกว่าผู้นำประเทศใด ๆ เนลสัน แมนเดลา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อ ค.ศ.1993 ชาวโลกยกย่องให้เขาเป็นรัฐบุรุษ

ชีวิตไม่ยืนยาว แต่เกียรติคุณของความดียืนนานไม่มีวันตาย 

 

เรื่อง พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.