คอร์รัปชัน

“อย่ายอมให้คอร์รัปชัน กลายเป็นวัฒนธรรมของชาติ” ธรรมะโดย ท่าน ว.วชิรเมธี

“อย่ายอมให้ คอร์รัปชัน กลายเป็นวัฒนธรรมของชาติ” ธรรมะโดย ท่าน ว.วชิรเมธี

ถาม : ดิฉันทำงานอยู่แผนกจัดซื้อในโรงพยาบาลของรัฐ โดยมีหัวหน้าแผนกและพนักงานขายร่วมกันทุจริตในการซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์มานานแล้ว ดิฉันรู้เห็น แต่ไม่เคยมีส่วนได้เสียเลยแม้แต่ครั้งเดียว ดิฉันควรทำอย่างไรดีคะ เพราะแม้แต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็ยังมีส่วนแบ่ง ดิฉันไม่ทราบจะไปร้องเรียนที่ไหน หรือว่าจะลาออกดี แต่อายุขนาดนี้แล้วก็ไม่รู้จะไปทำงานอะไร รู้สึกบาปมากค่ะ

ตอบ : ในฝ่ายพระสงฆ์ของเรานั้นว่ากันว่า ถ้าเห็นผู้อื่นทำผิดวินัยแล้วเราเฉย ๆ ก็เท่ากับว่าเราเองกำลังมีส่วนผิดด้วย เพราะความเสียหายที่คนอื่นทำนั้น บางทีไม่ได้เกี่ยวกับเราก็จริงอยู่ แต่มันเกี่ยวกับประโยชน์ส่วนรวมของเพื่อนมนุษย์ ซึ่งการที่เราเฉยก็เหมือนเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย ไม่ทราบว่าคุณเคยได้ยินคำกล่าวทำนองนี้บ้างหรือไม่

“หากเราไม่ร่วมแก้ปัญหา เราก็คือส่วนหนึ่งของปัญหา”

แต่อย่างไรก็ตาม บางครั้งมนุษย์เราก็มีปัญหาเรื่อง “ความมั่นคง” ของชีวิตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในกรณีของคุณก็เช่นกัน บางทีการพูดออกไปก็หมายถึงอันตรายที่จะเกิดกับตัวเอง แต่หากเฉยไว้ ๆ ประเทศชาติก็เสียหายจากปัญหาทุจริตไม่จบไม่สิ้น

ทางสายกลางในเรื่องนี้ก็คือ ควรหาทางแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบเรื่องการทุจริตนี้ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวเองก็ได้ โดยวิธีนี้คุณเองก็ปลอดภัย และยังสามารถแก้ปัญหาได้อีกด้วย ซึ่งการทำเช่นนี้คือการแก้ปัญหา ส่วนการอยู่เฉย ๆ ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น นั่นแหละคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ “คนชั่วยังคงลอยนวล” อยู่ทั่วไป และทำให้ การคอร์รัปชันกลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักของสังคมไทยที่แตะไปยังวงการไหนก็มีเหมือนกันหมด หากเราคนไทยยังคงเย็นชากับปัญหา คอร์รัปชัน โดยมองว่าเป็น “ธุระไม่ใช่” ก็เป็นเรื่องเคราะห์กรรมของประเทศโดยแท้

ในทางที่ถูกต้องนั้น เราต้องไม่เห็นดีเห็นงามกับคอร์รัปชันหรือการฉ้อราษฎร์บังหลวงในทุกรูปแบบ เราต้องไม่ยอมรับคนฉลาดแกมโกง เราต้องไม่เป็นหุ้นส่วนกับคนทุจริตและการทุจริต เราต้องปฏิเสธผลประโยชน์ที่คนทุจริตหยิบยื่นให้ และเราต้องไม่ยอมสยบต่ออำนาจการคุกคามของคนทุจริต

ประเทศไทยของเรานั้น อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติและทรัพยากรที่เป็นเม็ดเงินมากพอที่จะเป็นประเทศที่ทั้งมั่งคั่งและมั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่ทุกวันนี้กลับเป็นประเทศที่มากไปด้วยคนยากจน เต็มไปด้วยปัญหา สาเหตุสำคัญไม่ใช่อะไรอื่น การคอร์รัปชันที่หยั่งรากลงลึกจนกลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักของสังคมนี่เอง คือมะเร็งร้ายที่บ่อนทำลายสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

ในพุทธศาสนานั้น ท่านต่อต้านการทุจริตโดยจัดให้เป็นศีลข้อที่ 2 (อทินนาทาน) และในส่วนของพระสงฆ์หากทุจริตขโมยทรัพย์ของผู้อื่นแม้เพียงกหาปณะเดียว (เทียบให้เข้าใจง่าย ๆ คือ 1 บาท) ก็ถือว่า ขาดจากความเป็นพระทันทีที่ลงมือกระทำการ โดยไม่ต้องมีการฟ้องร้อง

นี่คือท่าทีที่ชัดเจนมากว่า การทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นอกุศลกรรมที่เราไม่ควรเห็นด้วยโดยประการทั้งปวง

แต่อย่างไรก็ตาม การที่คุณมีจิตสำนึกในทางดีงาม คือ ไม่เห็นดีเห็นงามด้วยและยังรู้สึกผิดที่ไม่อาจช่วยแก้ปัญหาในทางใด ๆ ได้ ก็นับว่าคุณเป็นคนดีมาก อย่างน้อยที่สุดก็เป็นคนที่มี “จิตสำนึกดีงาม” ที่ยังคงรักษาตัวให้อยู่ในฝ่ายของคนดีอยู่ได้ นี่เป็นความดีส่วนตัวที่ขอชมเชยไว้ในที่นี้ แต่จะดีกว่านี้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก หากคุณหาวิธีหยุดความเลวร้ายที่เหล่าคนเลวกระทำย่ำยีต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมืองของเราให้ได้ด้วย

มหาตมะ คานธี รัฐบุรุษคนสำคัญของโลก เคยกล่าวเอาไว้ว่า

“ทรัพยากรในโลกนี้มีเพียงพอสำหรับคนทั้งโลก แต่ไม่พอสำหรับคนละโมบเพียงคนเดียว”

นี่เป็นสัจธรรมที่สำคัญยิ่ง ผู้เขียนอยากกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า

“ทรัพยากรในเมืองไทยนั้นเพียงพอสำหรับคนทั้งประเทศ แต่ไม่เพียงพอสำหรับคนละโมบเพียงคนเดียว”

แต่ในความเป็นจริง เมืองไทยไม่ได้มีคนละโมบเพียงคนเดียวนี่สิ ดังนั้น เราต้องช่วยกันเป็นหู เป็นตา เป็นปาก เป็นเสียงให้กับความเป็นธรรมในสังคม ด้วยการช่วยกันหาวิธีหยุดยั้งการคอร์รัปชันให้ได้ในทุกวิถีทาง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

มิเช่นนั้นแล้ว ประเทศไทยของเราจะกลายเป็นทะเลทรายทางเศรษฐกิจ คือเป็นประเทศที่ยังคงมีคนจนอยู่มากมายกระจายไปทั่วทุกหัวระแหง มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความแห้งแล้ง เพราะทรัพยากรแม้มีมากมาย แต่คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์เหล่านั้นถูกครอบครองโดยคนที่เก่งแต่คอร์รัปชันเพียงไม่กี่คน

 

ที่มา  คอลัมน์ Answer Keys นิตยสาร Secret

Image by Maxssx from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

ทุกการฆ่าล้วนเป็นบาป บทความธรรมะดี ๆ โดย ท่านว.วชิรเมธี

10 เหตุผลที่เราทุกคนควรมีเมตตา ข้อคิดสะกิดใจโดย ท่าน ว.วชิรเมธี

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.