การให้อภัย

ดับความโกรธด้วยการให้อภัย ธรรมะเตือนสติโดย พระมหาบุญส่วน ปุญฺญสิริ

การให้อภัย ไม่ได้แปลว่า “ไม่โกรธ”

แต่แปลว่า “ไม่ทำร้าย” ไม่เป็นอันตรายต่อกันและกัน

การให้อภัยจึงเท่ากับเป็นการให้ความปลอดภัยทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น ไม่ว่าก่อนหน้าที่จะมีการอภัย ทั้งสองฝ่ายจะเคยมีความรู้สึกด้านไม่ดีต่อกันมาเพียงไรก็ตาม

การให้อภัยไม่ได้หมายความว่า มองไม่เห็นความผิดที่คนคนนั้นทำ และไม่ได้หมายความว่า เขาไม่สมควรจะได้รับโทษตามความคิด แต่มันหมายถึง เราจะไม่เก็บเอาความผิดของเขามาฝังไว้เป็นแผลร้ายในใจ

การให้อภัยไม่ได้หมายความว่า ต้องเล่นบทเป็นผู้เสียสละที่อะไร ๆ ก็ต้องทนยอมอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นความอ่อนแอภายในตัวเราเองที่ไม่สามารถตอบโต้อะไรได้ แต่การให้อภัย หมายถึงจะไม่เป็นคนเจ้าเคียดเจ้าแค้น หรือเล่นบทเป็นผู้ถือกฎหมายโลกไว้ในมือ คอยตัดสินความผิด-ความถูกของผู้อื่นตามอำเภอใจเสียเอง

การเล่นบทเป็นคนสูญเสียความทรงจำชั่วคราว ที่จดจำไม่ได้ว่าใครเคยทำอะไรไม่ดีกับเราบ้าง ย่อมดีกว่าที่จะจดจำทุกความเจ็บเอาไว้ทำร้ายตัวเอง อย่างน้อยจะได้ไม่มีแผลในใจและยังได้มิตรเพิ่มขึ้น

 

มหาตมาคานธี กล่าวไว้ว่า “ผู้ที่อ่อนแอไม่สามารถให้อภัยใครได้ เพราะการให้อภัยได้นั้นนับเป็นความเข้มแข็งที่แท้จริง”

ดังนั้น การให้อภัยจึงไม่ได้หมายความว่าเป็นคนอ่อนแอที่กลบเกลื่อนความเป็นคนไม่มีทางสู้ ด้วยภาพพจน์ที่สวยหรูว่า “ให้อภัย” ซึ่งอาจจะเป็นเช่นนั้นจริง หากว่าการให้อภัยไม่ได้เกิดมาจากจิตใจที่เข้มแข็ง

จิตใจที่เข้มแข็ง กล้าหาญ จะอดทนต่อความผิดของผู้อื่นได้แล้วข้ามมันไปเพื่อให้พ้นจากอดีตที่ไม่น่าจดจำนั้น จะสามารถยิ้มรับแววตาสำนึกผิดของผู้อื่น และสามารถพูดคำว่า “ไม่เป็นไร” ด้วยหัวใจที่ยิ้มแย้มได้

การให้อภัยไม่ได้หมายความว่า คุณต้องเป็นฝ่ายยอมง้อขอคืนดี ซึ่งเหมือนเป็นการลดความเป็นคนสำคัญในตัวเราลง ทว่าการให้อภัย หมายถึง การยอมรับว่ามีการทำผิด มีคนผิด มีความเจ็บปวด และต้องการให้การทำผิดนั้นได้รับการแก้ไข ให้คนทำผิดได้ปรับปรุงตัว ให้ความเจ็บปวดได้รับการเยียวยาโดยคุณจะลืมมันไป

การให้อภัย จะทำให้ไม่เกิดอาการอาฟเตอร์ช็อกขึ้นในใจ หลังจากที่การสารภาพผิดและการตัดสินโทษได้ดำเนินไปสิ้นสุดแล้ว

การรู้จักให้อภัย จะทำให้เข้าใจความหมายของคำว่า “ไม่เป็นไร” ได้ลึกซึ้งกว่าคนที่ไม่มีการให้อภัย ที่ในหัวจะท่องจำแต่คำว่า “จะเอายังไง” เลยมีเรื่องให้ต้องเจ็บใจตลอดเวลา

 

ฝีแม้ว่ามันจะเป็นในที่ลับ ปกปิดไม่ให้ผู้อื่นเห็นได้ แต่มันจะแสดงอาการเป็นความเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา จนกว่าจะบ่งหัวฝีนั้นออกแล้วรักษาแผลให้หาย ความแค้นเคืองในใจก็เช่นกัน แม้ว่าบางทีไม่ได้แสดงออกมาให้ผู้อื่นรู้ แต่มันก็เหมือนฝีในใจที่เจ็บระบมตลอดไปถ้ายังไม่บ่งมันออก

อิสรภาพแห่งใจโดยแท้ เหมือนกับแผลที่หายสนิทแล้วจากการได้บ่งหัวฝีนั้นออก ย่อมไม่มีความปวดเจ็บให้ต้องทนต่อไปอีก

เวลาที่นิ้วเท้าเป็นเล็บขบ บาดแผลจะไม่ปรากฏให้เห็น แต่น้ำตาแทบเล็ด เช่นเดียวกับความโกรธที่เก็บไว้ภายในใจ แม้ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นอันตรายเพราะไม่ได้ไปทำร้ายใครให้เจ็บปวด ทว่าก็กลัดหนองอยู่ในใจของผู้นั้นเอง ให้ต้องเจ็บปวดอย่างทรมานจนกว่าหนองจะถูกบ่งออก

การให้อภัย ก็คือการบ่งเอาความโกรธออกจากใจ ไม่ให้ใจเก็บความเจ็บปวดซ่อนลึกเอาไว้ เป็นการให้ของขวัญแก่ชีวิตตัวเอง ส่วนผู้อื่นเป็นแต่เพียงได้รับอานิสงส์จากการที่คุณได้บ่งความแค้นออกจากใจได้แล้วเท่านั้น

 

มีเรื่องเล่าว่า สมัยหนึ่งพระเจ้าทีฆีติโกศลราชได้ถูกพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชแห่งเมืองพาราณสี ยกทัพมาโจมตีและช่วงชิงเอาราชบัลลังก์พร้อมทั้งจับตัวพระองค์กับพระมเหสีไปเป็นเชลยในวันนั้น พระองค์ได้ให้โอวาทแก่โอรสพระองค์เดียวชื่อ “ทีฆาวุราชกุมาร” ว่า

อย่าเห็นแก่ยาว

อย่าเห็นแก่สั้น

อย่าเป็นคนง่ายต่อความโกรธ

อย่าเป็นคนไวต่อการแตกร้าว

เพื่อบอกทีฆาวุราชกุมารไม่ให้ผูกใจเจ็บจองเวรในพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชแห่งเมืองพาราณสี

อย่าเห็นแก่ยาว หรือ อย่าเห็นแก่กาลอันยาว หมายความว่า อย่าผูกเวรเอาไว้ เพราะเวรยิ่งผูกก็ยิ่งยาว ไม่มีจบสิ้นลงง่าย ๆ ด้วยการตายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นอกเสียจากจะมีการอโหสิกรรมเลิกจองเวรผูกใจเจ็บกันเท่านั้น เวรกรรมนั้นจึงจะระงับหรือยุติการตามให้ผล ดังพระบาลีว่า

นะหิเวเรนะเวรานิสัมมันตีธะกุทาจะนังอะเวเรนะจะสัมมันติเอสะธัมโมสะนันตะโน

ในกาลไหน ๆ เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า (คือเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว)

อย่าเห็นแก่สั้น หรือ อย่าเห็นแก่กาลอันสั้น หมายความว่า อย่ารีบด่วนแตกจากมิตร อย่าคิดขาดจากเพื่อนด้วยปัญหาเพียงเล็กน้อย อย่าให้เวลาในการพบกันและคบกันของเรากับเขาสั้นนัก ให้เวลาได้คิดและได้ปรับความเข้าใจกันบ้าง เพราะกว่าที่จะได้เวียนว่ายตายเกิดมาเจอกัน ไม่รู้ใช้เวลานานเท่าไหร่

ดังนั้นจึงไม่ควรรีบด่วนตัดสินคนง่าย ๆ เพียงเพราะอารมณ์โกรธ อย่ารีบแตกร้าวกับใครไวเพียงเพราะบางปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ เป็นคนรู้จักผ่อนปรนเสียบ้าง อย่าจำความแค้นเอาไว้ทำลายสามัคคี ยังมีสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าและประเสริฐกว่าอุดมการณ์แห่งการแก้แค้นนัก นั่นคือ “ให้อภัย”

 

มีคำกล่าวว่า การให้อภัยเป็นการให้ของขวัญแก่คนที่ทำให้คุณรู้สึกเจ็บ ส่วนการรู้จักลืมความเจ็บที่ผู้อื่นทำให้ เป็นการให้ของขวัญแก่ตัวคุณเอง

ฉะนั้น จงอย่าโกรธใครจนไม่คิดจะให้อภัย เพราะว่างานนี้เจ้าภาพใหญ่แท้จริงได้แก่ตัวคุณเอง ผู้อื่นเป็นเพียงแค่แขกรับเชิญ

ขอให้เรียนรู้ที่จะอยู่อย่างคนรู้จักให้อภัย เพราะนั่นเป็นการสร้างดินแดนแห่งอิสรภาพที่จะมอบความสุขอย่างแท้จริงให้แก่ชีวิตตัวคุณเอง…

 

ที่มา  ล้างพิษความโกรธ โดย พระมหาบุญส่วน ปุญฺญสิริ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ


บทความน่าสนใจ

เมื่อผมให้ความไม่โกรธ นั่นคือ “อภัยทาน”

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.