พุท–โธ

จิตสงบด้วยการภาวนา “ พุท–โธ ” ธรรมะโดย ส. ชิโนรส (พระมหาสุภา ชิโนรโส)

ภาวนา “พุท–โธ” เป็นแนวปฏิบัติที่นิยมแพร่หลายแนวหนึ่ง หลวงปู่มั่นและศิษยานุศิษย์ใช้ “พุท–โธ” เป็นคำภาวนาให้จิตสงบรวมตัวจนได้สำเร็จมรรคผล

ภาวนา “พุท–โธ” คือการน้อมนึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาเอกของโลก การฝึกสมาธิด้วยวิธีนี้ทำได้หลายอย่าง ดังนี้

1. กำหนดรู้ที่ปลายจมูก หายใจเข้า ภาวนาว่า “พุท” หายใจออก ภาวนาว่า “โธ”

จะภาวนาว่า “พุท” ทันทีที่รู้สึกว่าลมแตะปลายจมูก หรือภาวนาว่า “พุท” หลังจากลมเข้าสู่ปลายจมูกจนหมดแล้วก็ได้ คำว่า “โธ” ก็เช่นกัน ภาวนาว่า “โธ” ทันทีที่ลมเริ่มออกจากปลายจมูก หรือออกจากปลายจมูกไปหมดแล้ว

ขณะที่จิตยังไม่สงบดี จะรู้สึกว่าลมหายใจกับคำภาวนายังแยกกันอยู่ ควรกำหนดรู้ทั้งคำภาวนาและลมหายใจไปพร้อมกัน หากรู้สึกว่าอารมณ์อื่น ๆ เข้ามาแทรกขณะที่ภาวนา อย่าได้ตำหนิตัวเอง หรือพยายามบีบจิตให้สงบ ควรวางจิตให้เป็นกลางแล้วกำหนดใหม่ กำหนดอย่างนั้นเรื่อยไปจนกระทั่งรู้สึกว่าคำภาวนากับลมหายใจกลายเป็นอันเดียวกัน นั่นแสดงว่าจิตสงบมากขึ้น

เมื่อจิตสงบเต็มที่ คำภาวนาและลมหายใจจะหายไปเอง เหลืออยู่แต่ความนิ่ง เช่นนี้แล้วผู้ปฏิบัติไม่ต้องคิดถึงคำภาวนาและลมหายใจอีกต่อไป เพราะขณะนั้นจิต ลมหายใจ และคำภาวนากลายเป็นอันเดียวกัน ควรกำหนดรู้อยู่เฉพาะจุดนิ่งนั้น จิตจะรวมลงสู่ความสงบที่ละเอียดขึ้น

2. ภาวนา “พุท–โธ” อย่างถี่ยิบ วิธีนี้ไม่ต้องกำหนดรู้ลมหายใจเข้า–ออก กำหนดรู้อยู่ที่ปลายจมูกเท่านั้น แล้วภาวนาว่า “พุท–โธ” ให้ถี่ยิบต่อเนื่อง อย่าให้มีช่องว่าง จิตจะสงบได้เร็ว ตัดอารมณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามารบกวนจิตได้ดียิ่ง ภาวนาพุท–โธอย่างถี่ยิบทำให้จิตมีกำลังกล้าแข็ง ปลุกผู้ปฏิบัติจากความง่วงเหงาหาวนอนได้ดี

แต่ข้อควรระวัง เมื่อจิตสงบแน่วแน่แล้ว ให้หยุดภาวนา กำหนดรู้อยู่กับจุดสงบที่ปลายจมูก หรือจุดใดจุดหนึ่งในร่างกายเท่านั้น หากภาวนาไม่หยุด จิตจะแข็งมากเกินไป กลายเป็นจิตค้าง จะเกิดความคิดซ้อนความคิด ไม่เป็นผลดีต่อสมาธิ

3. สวดบทพุทธคุณ สวดพุทธคุณเป็นภาษาบาลีทำให้จิตสงบนิ่งได้ไว การสวด ผู้ปฏิบัติไม่จำเป็นต้องรู้ความหมาย เพียงแต่จำบทพุทธคุณให้ได้ ดังนี้

“อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะ สัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ”

การสวดเพื่อตัดกระแสความคิดฟุ้งซ่านและอารมณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามารบกวนจิต ควรสวดให้เร็วถี่ยิบ อย่าปล่อยให้มีช่องว่าง หากสวดให้จบ 1 รอบภายในลมหายใจเข้า–ออก 1 ครั้งได้ยิ่งดี

จะใช้ลูกประคำ 108 ลูกประกอบการสวดด้วยยิ่งวิเศษ เมื่อจับลูกประคำ 1 ลูก ให้สวดบทพุทธคุณจบ 1 รอบ สวดไล่ไปจนถึง 108 รอบ จิตจะสงบนิ่งมาก มีกำลังกล้าแข็ง มีปาฏิหาริย์ในตัวเอง

เมื่อจิตสงบนิ่งแน่วแน่แล้ว ควรทำเหมือนภาวนาพุทโธข้างต้น คือพักจิตอยู่ในจุดนิ่งนั้น ไม่ต้องสวดอีกต่อไป จิตจะเดินเข้าไปสู่ความสงบที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้น

 

ที่มา  สมาธิ : กุญแจไขความสุข โดย ส. ชิโนรส (พระมหาสุภา ชิโนรโส) สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.