พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มครั้งแรกในสยามประเทศ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มครั้งแรกในสยามประเทศ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณต่อแผ่นดินและอาณาประชาราษฎร์มากมาย  ทรงนำพาแผ่นดินสยามให้รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น ทรงวางรากฐานการพัฒนาในทุก ๆ ด้านให้เมืองไทย รวมทั้งการทำนุบำรุงและเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภาพจาก  www.trueplookpanya.com

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกชื่อ มหาธาตุวิทยาลัย  ต่อมาคือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกอักษรไทยเป็นครั้งแรก และนำไปประดิษฐาน ณ หอพระมณเฑียรธรรม ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  และจัดพิมพ์พระไตรปิฎกบาลีอักษรไทย 39 เล่ม จำนวน 1,000 ฉบับ ใช้เวลาจัดพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2431- พ.ศ.2436  เพื่อพระราชทานแก่สำนักสงฆ์ใหญ่  ๆ ทั้งในและต่างประเทศด้วย ในการนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสแก่พระสงฆ์ผู้ตรวจสอบพระไตรปิฎกว่า

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภาพจาก www.alittlebuddha.com

 

“การซึ่งมีความประสงค์จะให้ตรวจสอบพระไตรปิฎกลงพิมพ์ในครั้งนี้นั้น ด้วยเห็นว่าแต่ก่อนมาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนายังมีอำนาจปกครองบ้านเมืองโดยลำพัง ด้วยพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาได้ทะนุบำรุงอุดหนุนการศาสนาอยู่หลายประเทศด้วยกัน คือเมืองลังกา เมืองพม่า เมืองลาว เมืองเขมร และกรุงสยาม เมื่อเกิดวิบัติอันตราย พระไตรปิฎกขาดสูญบกพร่องไปในเมืองใด ก็ได้อาศัยหยิบยืมกันมาลอกคัดคงฉบับบริบูรณ์ถ่ายกันไปกันมาได้ แต่ในการทุกวันนี้ประเทศลังกาแลพม่าอยู่ใต้อำนาจอังกฤษ ผู้ปกครองบ้านเมืองไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา ก็ทะนุบำรุงแต่อาณาประชาราษฎรไพร่บ้าน พลเมือง หาได้อุดหนุนพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ พระสงฆ์ซึ่งปฏิบัติตามพระพุทธศาสนาก็ต่างคนต่างประพฤติตามลำพังตน คนที่ชั่วมากกว่าดีอยู่เป็นธรรมดา ก็ชักพาให้พระปริยัติธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าวิปริตผิดเพี้ยนไปตามอัธยาศัย

“ส่วนเมืองเขมรนั้นเล่าก็ตกอยู่ในอำนาจของฝรั่งเศส ไม่มีกำลังที่จะอุดหนุนพระพุทธศาสนาให้เป็นการมั่นคงถาวรไปได้ ส่วนเมืองลาวอยู่ในพระราชอาณาเขต เจ้านายแลไพร่บ้านพลเมืองก็นับถือพระพุทธศาสนาวิปริตแปรปรวนไปด้วยเชื่อเป็นผีสางเทวดา จะเอาเป็นหลักฐานมั่นคงก็ไม่ได้ ถ้าพระไตรปิฎกคลาดเคลื่อนไปในเวลานี้ จะหาพระพุทธศาสนายังเจริญมั่นคงถาวรอยู่แต่ในประเทศสยามนี้ประเทศเดียว จึงเป็นเวลาสมควรที่จะสอบสวนพระไตรปิฎกให้ถูกต้องบริบูรณ์ แล้วสร้างขึ้นไว้ให้มากฉบับแพร่หลาย จะได้เป็นหลักฐานเชื้อสายของศาสนาธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าสืบไปภายหน้า… เพราะฉะนั้นจึงขออาราธนาพระเถรานุเถระและพระสงฆ์ทั้งปวง ให้ปลงใจเห็นแก่การพระพุทธศาสนาแลมีความเมตตากรุณาแก่ชนทั้งปวง ช่วยชำระ สอบสวนพระไตรปิฎกให้ถูกต้องบริบูรณ์ เป็นเครื่องเกื้อกูลแก่ความตั้งมั่นของคำสอนพระพุทธเจ้าสืบไปภายหน้า” 

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภาพจาก นิตยสาร แพรว  ฉบับที่ 748

 

ในเวลานั้น พระพุทธศาสนากำลังเผยแผ่เข้าไปในประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงทรงพระราชทานพระไตรปิฎกฉบับนี้แก่ประเทศอังกฤษด้วย ดังปรากฏในพระราชดำรัสของพระองค์ครั้งเสด็จนิวัติพระนครจากประพาสยุโรป เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2440 ว่า

“ในเวลาที่ข้าพเจ้าได้ไปในประเทศทั้งหลาย ก็ได้มีเหตุอันสมควรซึ่งจะนำมาแสดงให้พระเถรานุเถระทั้งปวง ผู้ประกอบด้วยความอุตสาหะช่วยชำระพระไตรปิฎกลงพิมพ์เป็นเล่มสมุดไปแล้วนั้นเป็นที่ยินดีว่า เมื่อข้าพเจ้าไปถึงประเทศใดซึ่งได้รับพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์นั้นรักษาไว้ในหอสมุดใหญ่ต่าง ๆ ย่อมมากล่าวสรรเสริญการซึ่งเราได้ทำแลได้ตั้งสมุดไว้ในที่อันงดงามมั่นคงทั่วทุกแห่ง มีนักปราชญ์ทั้งหลายได้อุตสาหะเรียนรู้พระพุทธวัจนะมาก กิตติศัพท์ความสรรเสริญธรรมของพระพุทธเจ้าย่อมปรากฏฟุ้งไปในประเทศที่ไกลทั้งหลายมากขึ้นโดยลำดับ ข้าพเจ้าไม่ยืนยันว่า ชนทั้งหลายที่นับถือศาสนาอื่นจะละศาสนาตนกลับมานับถือพระพุทธศาสนาดังชนบางพวกได้ กล่าวเหมือนจะให้เห็นว่าน่าที่จะเป็นเช่นนั้นได้บ้าง แต่ข้าพเจ้าสามารถที่จะกล่าวได้ว่า

“เมื่อพระพุทธวัจนะแพร่หลาย มีผู้รู้ธรรมะที่แท้จริงย่อมสรรเสริญยกย่องว่า พระพุทธศาสนาเป็นคำสั่งสอนอันดี มีธรรมะที่แท้จริง มิใช่ศาสนาที่เลวทราม…”

 

ภาพจาก www.77kaoded.com

 

 

ที่มา :

แผ่นดินพระจุลจอมเกล้าฯ โดย ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการศาสนา โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

http://kanchanapisek.or.th

http://kanchanapisek.or.th

www.arts.chula.ac.th

ภาพ :

นิตยสาร แพรว  ฉบับที่ 748

www.trueplookpanya.com

www.77kaoded.com

www.alittlebuddha.com


บทความน่าสนใจ

รัชกาลที่ 5 ทรงสงสัย ความหมาย ของ พระนิพพาน

ธรรมะ ของ รัชกาลที่ 5 : กิจ 10 ประการ ที่ทำแล้ว ไม่เสียใจ ในภายหลัง

5 สิ่งที่ควรรู้ เกี่ยวกับ วัน ปิยมหาราช

พญานาค ในทรรศนะของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

พระพุทธศาสนาในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.