อิทธิบาท 4

อิทธิบาท 4 : ทางแห่งความสำเร็จในการทำงานอย่างเป็นสุข โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

อิทธิบาท 4 : ทางแห่งความสำเร็จในการทำงานอย่างเป็นสุข โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

นอกจากการที่จะมีความไม่สันโดษ และสันโดษที่ถูกต้องแล้ว เพราะฉันทะทำให้ใจมาอยู่กับงาน สิ่งที่ทำ สิ่งที่เป็นเป้าหมายทำให้เกิดจิตฝักใฝ่อย่างที่ว่ามาเมื่อกี้ เมื่อใจฝักใฝ่ก็ทำงานด้วยความแน่วแน่จริงจัง สภาพที่จิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งที่กระทำนั้น เราเรียกว่าเป็น “สมาธิ

เพราะฉะนั้น ฉันทะก็นำไปสู่สมาธิ สมาธิในการทำงานเกิดได้ด้วยการมีฉันทะ เมื่อมีสมาธิและใจก็รักงานนั้น ทำงานด้วยใจรัก ใจก็เป็นสุข ใจเป็นสมาธิ สมาธิก็ทำให้เป็นสุขเพราะจิตใจสงบแน่วแน่ เมื่อทำจิตใจเป็นสมาธิ สมาธิก็ทำให้เป็นสุขเพราะจิตใจสงบแน่วแน่ ตั้งใจจริงจัง ใจรักงานนั้น ตั้งใจทำเต็มที่ มีความเพียรพยายาม ผลสำเร็จของงานก็เป็นผลสำเร็จที่ดี เรียกว่านำไปสู่ “ความเป็นเลิศ” ของงานนั้น หมายความว่า งานนั้นจะสำเร็จผลอย่างดีเลิศ อันนี้ก็เลยพันกันไปหมด เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ฉันทะเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งในอิทธิบาท 4 คือธรรมที่เป็นเครื่องให้ถึงความสำเร็จ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “ทางแห่งความสำเร็จ

 

 

อิทธิบาท 4
ภาพจาก www.pexels.com

 

เมื่อพูดมาถึงอิทธิบาทแล้ว ก็จะต้องโยงไปถึงคุณธรรมข้ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะอิทธิบาท 4 มีข้อ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ฉันทะ คือ ข้อที่พูดมาแล้ว ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น รักงาน รักเป้าหมาย รักจุดหมายที่ดีงาม รักวัตถุประสงค์ของงานนั้น

ข้อต่อไปนี้คือ วิริยะ ความเพียร ความพยายาม จิตตะ ความเอาใจใส่ในสิ่งนั้น วิมังสา ความไตร่ตรองสอบสวนพิจารณา หรือถ้าจะพูดให้สั้น จำง่าย ๆ ก็บอกว่า “มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ใช้ปัญญาสอบสวน” นี่เป็นอิทธิบาท 4

อิทธิบาทอันประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ล้วนเป็นวิธีสร้างสมาธิทั้งนั้น เป็นทางนำไปสู่ความสำเร็จ ไม่จำเป็นจะต้องเริ่มที่ข้อใดตายตัวตามปกตินั้นเริ่มที่ฉันทะมาก ถ้าเริ่มตัวหนึ่งแล้ว ตัวอื่นจะมาหมุนทันที เพราะฉะนั้นถ้าคนมีนิสัยใจรักชอบอะไรแล้วก็ทำละก็ คนนั้นก็ต้องอยู่ในแง่ฉันทะ คนไหนชอบสิ่งที่ท้าทายก็ต้องทำงานให้เป็นเรื่องท้าทาย จึงจะเอาจริง ใจสู้ คนไหนมีลักษณะเป็นคนมีความใฝ่ใจรับผิดชอบ เรื่องของตัวเองเกี่ยวข้องจึงทำ ก็ใช้วิธีจิตตะ ส่วนคนที่ชอบทดลองค้นคว้า ก็ทำงานให้เป็นเรื่องที่น่าอยากรู้อยากเห็น ความเข้าใจ น่าสงสัยสอบสวนไป มันก็จะได้งานขึ้นมา คือว่าทุกอย่างจะนำไปสู่การเกิดสมาธิ เมื่อเกิดสมาธิแล้วเขาจะทำงานด้วยความพอใจ มีความสุข เมื่อทำด้วยความตั้งใจจริง ทำด้วยสมาธิ งานนั้นก็สำเร็จอย่างดี

 

อิทธิบาท 4
ภาพจาก www.pexels.com

 

หลักอิทธิบาท 4 นี่ เป็นธรรมสำคัญที่เราอาจจะต้องมาขยายวิธีการ คือ จากหลักใหญ่ ๆ นี่ น่าจะมีการเอาไปขยายรายละเอียดของวิธีการได้ในแต่ละข้อ เช่นว่า ในแง่ฉันทะ จะทำอย่างไรมีเทคนิคอะไรบ้างที่จะทำให้คนรักงาน หรือทำให้งานนั้นหรือเรื่องที่เป็นหน้าที่เป็นเรื่องที่คนชอบ เพราะจะมีคนพวกหนึ่งที่ว่ารักชอบละก็ทำ ทีนี้ มีคนอีกพวกหนึ่งที่ต้องใช้ธรรมข้อที่ 2 คือจะต้องสร้างเทคนิคกันขึ้นมาว่า ทำอย่างไรจะให้งานหรือหน้าที่นั้นเป็นเรื่องท้าทาย แล้วคนพวกนี้ก็จะมาทำ อย่างที่ 3 ก็ทำให้รู้สึกเกี่ยวข้องเป็นเรื่องของเขา อันที่ 4 ก็ทำให้เกิดความรู้สึกอยากทดลอง

นี่เป็นวิธีการในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหลักใหญ่ ๆ แต่ในแง่เทคนิคนี่เรายังไม่ค่อยได้มีการนำเอามาขยาย ถ้าขยายอาจจะเป็นวิธีการที่น่าศึกษาทีเดียว เอามาเรียนเป็นวิชาการกันได้สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่จุดแรกที่ย้ำนี่ โยงกลับไปที่เก่า คือเรื่องฉันทะ จึงจะขอผ่านเรื่องอิทธิบาทนี่กลับมาสู่ข้อต้นในชุดของมัน คือ ฉันทะ อีกครั้งหนึ่ง

 

ที่มา : การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ภาพ : www.pexels.com


บทความน่าสนใจ

วิธีการแก้ปัญหาการทำงานที่ดีที่สุดคือ การพาตัวเองไปอยู่ในงานนั้น

โต๊ะทำงานวัดประสิทธิภาพของการทำงานได้อย่างไร

โต๊ะทำงานที่โล่งสบายตาคือ เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ ในการทำงาน ที่คนส่วนใหญ่มองข้าม  

การทำงานของไตรสิกขา โดย พระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ)

ฉันทะในการทำงาน โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.