สกทาคามี

ทำกรรมฐานให้ได้สกทาคามี ธรรมะโดย พระอาจารย์ชานนท์ ชยนนฺโท

พระ สกทาคามี ท่านพิจารณาถึงกามคุณทั้ง 5 เริ่มที่ประการแรกคือ รูป รูปมีสองชนิด รูปที่เป็นสุภะและรูปที่เป็นอสุภะ รูปที่เป็นสุภะคือรูปที่สวย รูปที่เป็นอสุภะคือรูปที่ไม่สวย มันเป็นสมมติทั้งสองสิ่งและสมมติทั้งสองสิ่งนี้ก็มีสภาวะที่ไม่เที่ยง

ประการที่สอง เสียง เสียงดีและเสียงไม่ดี เสียงสรรเสริญและเสียงนินทา เสียงนินทาก็ไม่เที่ยง เสียงสรรเสริญก็ไม่เที่ยง ปราการที่สาม กลิ่น กลิ่นดีและกลิ่นไม่ดี กลิ่นหอมและกลิ่นเหม็น กลิ่นเหม็นก็ไม่เที่ยง กลิ่นหอมก็ไม่เที่ยง ประการที่สี่คือรสที่มากระทบลิ้น มีรสดีและรสไม่ดี รสดีก็ไม่เที่ยง รสไม่ดีก็ไม่เที่ยง

สุดท้ายประการที่ห้า โผฏฐัพพะ หรือสัมผัสที่มากระทบในร่างกายของเรา เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง มีกระทบอยู่สองชนิด บางครั้งทำให้ร่างกายสบาย บางครั้งทำให้ร่างกายลำบาก เช่น เวลาเย็นสบายลมพัดทำให้ร่างกายเย็นสบาย แต่เวลาแดดออกทำให้ร่างกายร้อนจนป่วยได้ นี่เป็นโผฏฐัพพะที่ไม่สบาย

กามคุณที่กระทบกายนั้นก็ไม่เที่ยง ธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา คือ ความพอใจ ความไม่พอใจ หรือสุข ทุกข์ที่เกิดในอารมณ์ของเราก็ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นให้จำหลักไว้ว่า ทุกข์ทั้งปวงนั้นเกิดขึ้นมาจากความพอใจและความไม่พอใจนั่นเอง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เราพิจารณาทั้งสองสิ่งนี้ และไม่ยึดทั้งสองสิ่ง เพราะทั้งสองสิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง เมื่อพิจารณาเช่นนี้ ใจของเราก็จะเป็นหนึ่งได้

คนเรานั้นทุกข์เพราะจุดนี้ ทุกข์เพราะความพอใจและความไม่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น ทำอย่างไรเราถึงจะละมันได้

เราต้องเห็นโทษ พิจารณาโทษของความลุ่มหลงในความพอใจและความไม่พอใจ เหตุที่ทำให้เกิดคือรูปนั่นเอง ผลที่เกิดคือความพอใจและความไม่พอใจซึ่งสมมติขึ้นมา เพราะเหตุที่เราไปให้ความหมายให้ค่าให้ราคา สำคัญว่าเขาเป็นอย่างนั้น เขาเป็นอย่างนี้ เขามีค่าต่อเรา ถ้าเราไม่ให้ความหมาย เหตุนั้นก็สักแต่ว่า ซึ่งเราจะเข้าใจอย่างนี้ได้ต้องมาพิจารณาเห็นความเป็นโทษบ่อย ๆ พิจารณาถึงเหตุที่รูป เสียง กลิ่น รส มากระทบนั่นเอง

หากเราพิจารณาร่างกายของเราว่าเป็นธาตุดินน้ำลมไฟ เสียงก็เป็นธาตุเช่นกัน เสียงเป็นลมที่มาจากปอด แล้วส่งเสียงเป็นภาษาที่มนุษย์บัญญัติขึ้นมาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นสรรเสริญบ้าง เป็นนินทาบาง ทุกอย่างจึงเป็นสมมติของสัญญาทั้งหมด

เพราะฉะนั้นเสียงมนุษย์และสัตว์ เสียงรถยนต์ เสียงใบไม้ หรือเสียงฝน ก็ไม่มีความหมายอะไรเลย สักแต่ว่าเสียง แต่มนุษย์นั่นเองที่ไปให้สมมติบัญญัติว่าเสียงนั้นเสียงนี้ เมื่อเกิดความพอใจและไม่พอใจในเสียงนั้นก็เป็นทุกข์ ถ้าพิจารณาเห็นว่า รูปก็ดี เสียงก็ดี ทั้งหมดทั้งปวงนั้นเป็นสภาวะธรรมชาติที่เขาบัญญัติและสมมติขึ้นเอง เมื่อเห็นว่าเป็นธาตุทั้งหมด แล้วจะไปโกรธธาตุได้อย่างไร เราก็ไม่ทุกข์ไม่สุขเพราะเสียง เพราะเราไม่ให้ความหมาย มันไม่มีความหมายต่อจิตใจของเรา

ถ้าหากลองพิจารณาถึงเสียงบุคคลอื่นที่สรรเสริญและนินทา รูปบุคคลอื่นที่สวยและไม่สวย สิ่งที่มากระทบว่าเป็นเพียงธาตุ เราไม่ให้ค่าให้ความหมาย เราก็จะไม่ทุกข์

ถ้าเราพิจารณารูปนามและอายตนะภายใน อายตนะภายนอกเห็นว่าไม่ใช่ตัวตนและเป็นเพียงธาตุแล้ว เราก็จะละอุปาทานได้ คือเบาบางจากกามคุณ 5 ถึงขั้นนี้พระสกทาคามีได้เกิดขึ้นแล้ว คือเบาบางจากราคะและโทสะนั่นเอง พอใจเป็นราคะ ไม่พอใจเป็นโทสะ พระสกทาคามีละตรงนี้ได้ส่วนหนึ่ง

(สกทาคามี)

ที่มา  มหาสติปัฏฐาน 4 ทางลัดดับทุกข์ โดย พระอาจารย์ชานนท์ ชยนนฺโท สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

Image by giovannid from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

“อานาปานสติ” กรรมฐานที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.