ความหลง

เมื่อความหลงปลงชีวิตคน โดย พระมหาสุภา ชิโนรโส (ส. ชิโนรส)

ความหลง คือ การขาดสติปัญญาพิจารณาหาเหตุผลและการหลงเชื่อข้อมูลข่าวสารที่ผิดเพี้ยนและบิดเบือน

เมื่อมนุษย์ถูกความลุ่มหลงเข้าครอบงำบงการชีวิต เขาจะไม่รับรู้เหตุรู้ผล แยกแยะไม่ออกว่าอะไรผิดอะไรถูก มองเห็นกงจักรเป็นดอกบัว มองไม่เห็นมหันตภัยจากการกระทำของตัวเอง พฤติกรรมที่แสดงออกภายใต้อิทธิพลของความหลงย่อมนำความวิบัติมาสู่ชีวิตได้อย่างไม่คาดฝัน

การหลงมัวเมาในกิน – กาม – เกียรติ หรือภาษาพระเรียกว่า “กาม” ถือเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งสำหรับการตายของมนุษย์

พระพุทธองค์ได้ตรัสผลร้ายหลายประการของการหลงมัวเมาในการกิน – กาม – เกียรติไว้ในมหาทุกขักขันธสูตร เช่น

ก่อการทะเลาะวิวาท

สร้างความขัดแย้งแตกแยก

ทำให้เกิดศึกสงคราม

จูงใจมนุษย์ให้ทำชั่วจนได้รับโทษทัณฑ์ถึงชีวิต

เมื่อมองสังคมมนุษย์ปัจจุบันจะเห็นได้ชัดว่า สิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ไม่ผิดนัก มนุษย์ส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันต่างหลงเชื่อว่า “กิน – กาม – เกียรติเท่านั้นคือเป้าหมายสูงสุดในชีวิต ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะดีวิเศษไปกว่านี้” มนุษย์จึงไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม ใช้เล่ห์เพทุบายต่าง ๆ กระโจนเข้าแย่งชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้

ความเครียด ความขัดแย้ง และการฆ่าฟันกันและกัน เพราะแย่งชิงกิน – กาม – เกียรติจึงเป็นสิ่งที่เห็นกันอยู่ดาษดื่น

แม้บางคนอาจจะแย้งว่า “กิน – กาม – เกียรติ” ไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดที่ทำให้มนุษย์ก่อความขัดแย้งและฆ่าฟันกันและกัน แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “กิน – กาม – เกียรติ” ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนตาย ข่าวฆ่ากันตายเพราะหึงหวงหรือเพราะแย่งชิงตำแหน่งใหญ่โตมิใช่เกิดจากกิน – กาม – เกียรติดอกหรือ

ความหลงอีกประการหนึ่งคือ การหลงข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนและไม่เป็นความจริง

ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนมักจะถูกกุขึ้นเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความเข้าใจผิด เกิดความหวาดระแวงและเกลียดชังกันและกัน ผู้ที่ไม่ใช้ปัญญาพิจารณาข่าวสารข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบย่อมตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงได้ง่าย ชีวิตจะตกอยู่ในอันตรายอย่างไม่รู้ตัว

หากมองประวัติศาสตร์ของมนุษย์ การปล่อยข่าวเพื่อใส่ร้ายคนอื่นเกิดขึ้นอยู่เสมอ ผู้ที่หลงเชื่อข่าวลวงโดยไม่พิจารณาอย่างรอบคอบ ย่อมถึงความพินาศอย่างไม่คาดคิด บทเรียนที่เกิดแก่กษัตริย์ลิจฉวีเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่บอกเราได้ดีถึงความจริงข้อนี้

ความหลง
Photo by Navneet Shanu from Pexels

ครั้งหนึ่งพระเจ้าอชาตศัตรู เจ้าครองแคว้นมคธ คิดอยากจะเข้าครอบครองแคว้นวัชชี แต่มองไม่เห็นลู่ทาง เพราะกษัตริย์ลิจฉวีเจ้าครองแคว้นวัชชีต่างสมัครสมานกลมเกลียวกันยิ่งนัก

วันหนึ่ง พระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบว่าพระพุทธองค์ประทับอยู่ในแคว้นมคธ จึงส่งวัสสการพราหมณ์ไปเฝ้าด้วยหวังว่า “พระสมณโคดมทรงมีพระปัญญาที่กว้างขวางลึกซึ้ง เป็นที่เคารพรักของคนทุกชั้นวรรณะ พระองค์คงมีอุบายกำจัดแคว้นวัชชีได้แน่”

เมื่อวัสสการพราหมณ์กราบทูลเหตุที่ตนมาเฝ้าแก่พระพุทธองค์ พระองค์ทรงปฏิเสธที่จะให้คำแนะนำ เพราะเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น และตรัสกับพระอานนท์ว่า “อานนท์ หากเจ้าลิจฉวียังคงสามัคคีกันอยู่ ใครก็มิอาจทำลายแคว้นวัชชีได้” วัสสการพราหมณ์ได้ยินเช่นนั้นก็ทูลลากลับไป วันต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูได้ตรัสถามความ

วัสสการพราหมณ์ซึ่งเป็นคนฉลาดได้ใคร่ครวญถ้อยคำของพระพุทธเจ้าที่ตรัสต่อพระอานนท์ก็ได้ทูลตอบว่า “เจ้าลิจฉวีมีความสามัคคีกันยิ่งนัก การจะยึดแคว้นวัชชีมิใช่เรื่องง่าย ต้องใช้อุบายถึงจะสำเร็จ พระเจ้าข้า”

ครั้นได้ยินเช่นนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงดีพระทัย แต่ก็ทรงแสดงความวิตกกังวลยิ่งนัก เพราะผู้ที่จะไปทำงานอย่างนี้ต้องเฉลียวฉลาดเป็นเยี่ยม วัสสการพราหมณ์จึงขันอาสาเพราะไม่มีใครอีกแล้วที่จะเหมาะสมเท่ากับตน แผนยึดแคว้นวัชชีจึงเริ่มขึ้นทันที

วันหนึ่ง พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสสั่งกลุ่มที่ปรึกษาและขุนพลเข้าประชุมวางแผนยึดแคว้นวัชชี พระองค์แสร้งตรัสขึ้นกลางที่ประชุมว่า “จะยกทัพบุกแคว้นวัชชี” วัสสการพราหมณ์ได้ยินเช่นนั้นก็คัดค้านอย่างรุนแรง พระเจ้าอชาตศัตรูจึงทรงแสร้งพิโรธหาว่าพราหมณ์ขัดขืนพระราชอำนาจ รับสั่งให้เฆี่ยนตีและโกนหัวพราหมณ์แล้วไล่ตะเพิดออกไป

เจ้าลิจฉวีทราบข่าวเช่นนั้นก็ประชุมกันว่าจะรับวัสสการพราหมณ์เข้าเมืองดีหรือไม่ บางกลุ่มคัดค้านอย่างรุนแรงเพราะเชื่อแน่ว่าเป็นแผนร้าย แต่บางกลุ่มมองว่า “อาจได้ประโยชน์มากกว่าหากรับพราหมณ์ไว้” เมื่อฝ่ายเสนอให้รับมีมากกว่า วัสสการพราหมณ์จึงได้รับอนุญาตให้เข้าเมือง

พออยู่ในแคว้นวัชชีได้ไม่นาน พราหมณ์ก็ได้รับตำแหน่งผู้พิพากษาเล็ก ๆ ตำแหน่งหนึ่ง เขาแสร้งทำหน้าที่ผู้พิพากษาได้เป็นอย่างดี จนกลายเป็นที่วางพระทัยของเจ้าลิจฉวี พราหมณ์จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนพระราชโอรส

แผนทำลายแคว้นวัชชีจึงก่อตัวขึ้นเป็นรูปร่าง วันหนึ่งพราหมณ์ใช้อุบายเข้าพูดคุยอย่างมีลับลมคมในกับพระราชโอรสแต่ละองค์ พระราชโอรสเหล่าอื่นเห็นเข้าก็ซักถาม เมื่อได้รับคำตอบว่า “อาจารย์เพียงถามเรื่องสารทุกข์สุขดิบเท่านั้น” ความหวาดระแวงระหว่างกลุ่มพระราชโอรสก็เกิดขึ้นทันที เพราะไม่เชื่อว่าอาจารย์ที่ชาญฉลาดอย่างวัสสการพราหมณ์จะถามเรื่องที่ตื้นเขินอย่างนั้น ต่อมาความสงสัยได้กลายเป็นชนวนแห่งความแตกแยกระหว่างกลุ่มพระราชโอรส

เมื่อรู้อย่างนั้น พราหมณ์ก็เดินแผนขั้นเผด็จศึกทันที ปล่อยข่าวลือให้เจ้าลิจฉวีแต่ละองค์บาดหมางใจกันเอง เจ้าลิจฉวีต่างหลงเชื่อข่าวลือว่าเป็นจริง จึงเกิดความหวาดระแวงกันและกันแล้วแตกแยกในที่สุด ความสามัคคีปรองดองที่เคยมีได้พังทลายลงไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อเป็นเช่นนี้พราหมณ์จึงลองให้คนลั่นกลองประชุมรบ แต่ไม่มีใครเข้าร่วมประชุมแม้แต่คนเดียว พราหมณ์ได้ทีจึงรีบรายงานพระเจ้าอชาตศัตรูให้ทรงทราบ กองทัพแคว้นมคธจึงสามารถบุกทะลวงเข้ายึดแคว้นวัชชีได้สำเร็จ ฆ่าเจ้าลิจฉวีทั้งหมด แคว้นวัชชีจึงพังพินาศราพณาสูรลงเพราะหลงเชื่อข่าวลือ

ดังนั้นความหลงจึงเป็นกิเลสอย่างหนึ่งที่ฆ่ามนุษย์ก่อนเวลาอันควรอยู่เสมอ

(ความหลง)

ที่มา  ยิ้มกับความตาย โดย ส. ชิโนรส สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

Image by Gerd Altmann from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

ความหลงที่มีโทษยิ่ง พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.