หลักกรรม

สามลัทธิที่ขัดต่อหลักกรรมในพระพุทธศาสนา โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พระพุทธองค์ตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดที่ได้เสวย ทั้งหมดนั้นเป็นเพราะกรรมที่ตัวทำไว้ในปางก่อน โดยนัยดังนี้ เพราะกรรมเก่าหมดสิ้นไปด้วยตบะ ไม่ทำกรรมใหม่ ก็จะไม่ถูกบังคับอีกต่อไป เพราะไม่ถูกบังคับต่อไปก็สิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรมก็สิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ก็สิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนาก็เป็นอันสลัดทุกข์ได้หมดสิ้น ภิกษุทั้งหลาย พวกนิครนถ์มีวาทะอย่างนี้

อันนี้มาในเทวทหสูตร พระไตรปิฎกเล่ม 14 มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พุทธพจน์ที่ยกมาอ้างนี้แสดงลัทธินิครนถ์หรือศาสดามหาวีระ นิครนถนาฏบุตร ที่เราเรียกกันทั่วไปว่าศาสนาเชน ศาสนาเชนนี้นับถือคำสอนเรื่องกรรมเก่า เรียกเต็มว่าปุพเพกตเหตุวาท เรียกสั้น ๆ ว่าปุพเพกตวาท

เมื่อพูดถึงเรื่องนี้แล้วก็เลยอยากจะพูดถึงลัทธิที่จะต้องแยกออกจากหลักกรรมให้ครบทั้งหมด ขอให้กำหนดไว้ในใจทีเดียวว่า เราจะต้องแยกหลักกรรมของเราออกจากลัทธิที่เกี่ยวกับการได้รับสุข – ทุกข์ของมนุษย์ 3 ลัทธิ

ในสมัยพุทธกาลมีคำสอนสำคัญอยู่ 3 ลัทธิที่กล่าวถึงทุกข์ – สุขที่เราได้รับอยู่ในขณะนี้ แม้กระทั่งถึงปัจจุบันนี้ลัทธิศาสนาทั้งหมดเท่าที่มีก็สรุปลงได้เท่านี้ ไม่มีพ้นออกไป พระพุทธเจ้าเคยตรัสถึงลัทธิเหล่านี้และทรงแยกว่าคำสอนของพระองค์ไม่ใช่คำสอนอย่างลัทธิเหล่านี้ ลัทธิเหล่านั้นเป็นคำสอนประเภทอกิริยา คือหลักคำสอนหรือทัศนะแบบที่ทำให้ไม่เกิดการกระทำ เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างร้ายแรง

อาตมภาพจะอ่านลัทธิมิจฉาทิฏฐิ 3 ลัทธินี้ตามนัยพุทธพจน์ที่มาในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาตร พระสุตตันตปิฎก ในพระไตรปิฎกบาลีเล่ม 20 และในคัมภีร์วิภังค์แห่งพระอภิธรรมปิฎก ในพระไตรปิฎกบาลีเล่ม 35

พระพุทธองค์ตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย ลัทธิเดียรถีย์ 3 ลัทธินี้ถูกบัณฑิตไต่ถามซักไซ้ไล่เลียงเข้า ย่อมอ้างการถือสืบ ๆ กันมา ดำรงอยู่ในอกิริยา (การไม่กระทำ) คือ

1. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเพราะกรรมที่กระทำในปางก่อน (ปุพเพกตเหตุ, เรียกว่าปุพเพกตวาท)

2. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดีทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า (อิสสรนิมมานเหตุ, เรียกว่าอิศวรนิรมิตวาท)

3. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดีทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้นล้วนหาเหตุหาปัจจัยมิได้ (อเหตุอปัจจยะ, เรียกว่าอเหตุวาท)

ลัทธิทั้งสามนี้ พุทธศาสนิกชนฟังแล้วอาจจะข้องใจขึ้นมาว่า เอ ลัทธิที่หนึ่งดูคล้ายกับ หลักกรรม ในพุทธศาสนาของเรา บอกว่าสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี ที่เราได้รับอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นเพราะกรรมที่กระทำไว้ในปางก่อน เอ ดูเหมือนกันเหลือเกิน

นี่แหละเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าได้ศึกษาเปรียบเทียบเสียบ้าง บางทีจะทำให้เราเข้าใจหลักกรรมของเราชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าไม่ระวังเราอาจจะนำเอาหลักกรรมของเรานี้ไปปรับปรุงเป็น หลักกรรม ของศาสนาเดิมที่พระพุทธเจ้าต้องการแก้ไข โดยเฉพาะคือลัทธิของท่านนิครนถนาฏบุตรเข้าก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงได้บอกว่าเป็นเรื่องสำคัญ

 

เหตุใดสามลัทธินั้นจึงขัดหลักกรรม

ทีนี้ทำไมพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงตำหนิลัทธิทั้งสามนี้เล่า พระองค์ทรงแสดงโทษของการนับถือลัทธิทั้งสามนี้ไว้ อันนี้ก็จะขออ่านตามนัยพุทธพจน์เหมือนกัน

พระพุทธองค์ตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลมายึดเอากรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่าสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ ก็ย่อมไม่มี

ส่วนเรื่องของอีกสองลัทธิก็เช่นเดียวกัน เมื่อนับถือพระผู้เป็นเจ้าหรือความบังเอิญ ไม่มีเหตุปัจจัยแล้ว ฉันทะก็ดี ความเพียรพยายามก็ดี ว่าอันนี้ควรทำ อันนี้ไม่ควรทำ ก็ย่อมไม่มี

เมื่อถือว่าเราจะได้รับผลอะไรก็แล้วแต่กรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน มันจะสุขจะทุกข์อย่างไรก็แล้วแต่กรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน เราก็ไม่เกิดฉันทะและความเพียรพยายามว่าเราควรจะทำอะไรก็ได้แต่รอผลกรรมต่อไป

ถึงเรื่องพระผู้เป็นเจ้าก็เหมือนกัน อ้อนวอนเอาก็แล้วกัน หรือว่าแล้วแต่พระองค์จะโปรดปราน ที่จะมาคิดเพียรพยายามทำด้วยตนเองก็ไม่มี ผลที่สุดก็ต้องสอนสำทับเพิ่มเข้าไปอีกว่า พระเจ้าจะช่วยเฉพาะคนที่ช่วยตนเองก่อนเท่านั้น ไป ๆ มา ๆ ก็ต้องหันมาหาหลักกรรม

ความบังเอิญ ไม่มีเหตุปัจจัยก็เช่นเดียวกัน เราจะต้องไปทำอะไรทำไม ถึงจะทำไปก็ไม่ได้ผลอะไร เพราะไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย มันบังเอิญเป็นอย่างนั้นเอง ก็ไม่ต้องทำอะไร ผลจะเกิดก็เกิดเอง แล้วแต่โชค

รวมความว่า สามลัทธินี้ข้อเสียหรือจุดอ่อนคือทำให้ไม่เกิดความเพียรพยายามในทางความประพฤติปฏิบัติ ไม่เกิดฉันทะในการกระทำ ส่วนหลักกรรมในพระพุทธศาสนา มองเทียบแล้วข้อแตกต่างก็อยู่ที่ว่าจะต้องให้เกิดฉันทะ เกิดความเพียรที่จะทำไม่หมดฉันทะ ไม่หมดความเพียร อันนี้เป็นหลักตัดสินในทางปฏิบัติ

 

ที่มา  นรก – สวรรค์ สำหรับคนรุ่นใหม่ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.