เห็นทุกข์

จงเห็นทุกข์แต่อย่าเป็นทุกข์ ธรรมะโดย พระอาจารย์มานพ อุปสโม

นิพพานน้อย ๆ สามารถเข้าถึงได้ด้วยการที่เอาใจที่กำลังเป็นทุกข์มามองดูจนรู้เท่าทัน แล้วใจของเราจะเกิดการปล่อยวาง

พระพุทธเจ้าทรงอธิบายไว้ในหลักอริยสัจธรรมอันประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรคไว้ว่า เมื่อเรารู้ทุกข์เห็นทุกข์ เราจะละสมุทัย สมุทัยคือเหตุแห่งทุกข์ที่เกิดจากตัณหานานาประการ เช่น กามตัณกา ภวตัณหา วิภวตัณหา เพื่อมุ่งไปสู่ความดับทุกข์คือนิโรธหรือนิพพาน โดยนิพพานนี้เกิดจากการปฏิบัติมรรค

การปฏิบัติตามหลักมรรคมีองค์ 8 อันประกอบด้วย สัมมาทิฐิ (มีความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) สัมมาวาจา (มีวาจาชอบ) สัมมาอาชีวะ (ประกอบอาชีพชอบ) สัมมากัมมันตะ (การกระทำชอบ) สัมมาวายามะ (มีความเพียร) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (ตั้งมั่นชอบ) เกิดขึ้นเวลาใด การประหัตประหารกิเลสก็เกิดขึ้นเวลานั้น เมื่อกิเลสดับ เราก็พบกับนิโรธหรือนิพพานเท่านั้นเอง

ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ทุกข์นี้ไม่ใช่ธรรมที่ควรละ แต่ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรเข้าไปกำหนดรู้ ทุกข์เป็นปริญญาตัพพกิจ คือกิจที่ควรรู้ ไม่ใช่กิจที่ควรละ ส่วนสมุทัยเป็นปหาตัพพธรรม เป็นธรรมที่บุคคลจะต้องละให้ได้

ทุกข์ที่เรานำมาพูดถึงเป็นทุกข์ธรรมดาสามัญ คือใจที่เป็นทุกข์ ใจเป็นทุกข์ก็เกิดมาจากการดำริคิดถึง เช่น ดำริว่าเขาจากเราไป ทิ้งเราไป ไม่ไยดีเรา ไม่เอาใจเรา ไม่ห่วงใยเรา คิดอย่างนี้มันใจหาย มันทุกข์ใจ หลักธรรมท่านให้มองใจที่กำลังทุกข์เพราะกำลังดำริ มองให้เห็นใจที่กำลังทุกข์อยู่ ณ ขณะนั้น

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ พอมองเห็นใจที่กำลังเป็นทุกข์ ใจจะไม่ดำริต่อ ไม่คร่ำครวญแล้ว พอเลิกคิดจึงเลิกทุกข์เท่านั้นเอง

พอเราเอาใจเข้าไปมองทุกข์ เข้าไปทำหน้าที่ปริญญาตัพพกิจหรือกำหนดรู้ทุกข์ ขณะกำหนดรู้ทุกข์อยู่นั้น เราก็หยุดดำริถึงเขา เพราะจิตเราเกาะยึดได้ทีละอารมณ์เท่านั้น เราก็หยุดคิดถึงสิ่งที่ใจผูกพัน ก็เท่ากับเป็นการละกิเลสละตัณหาไปในตัว

ใจเรานั้นเป็นตัว ทุกขอริยสัจ (คือสถานะที่ทนอยู่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไป และดับไปในที่สุด) ส่วนใจที่ทุกข์นั้นเป็น ทุกขเวทนา (คือความรู้สึกเป็นทุกข์) ดังนั้น เมื่อใจเป็นทุกข์ ใจนั้นก็สามารถดับทุกข์ในใจได้ด้วย เพราะเมื่อใจกำหนดรู้ทุกข์ในใจ ใจย่อมไม่ไปดำริถึงสิ่งที่ทำให้ตัณหาเกิด

ไม่ดำริว่า “เออหนอ…เราไม่อยากพบภาวะที่เขาจากเราไปเลย” นั่นเป็นวิภวตัณหา คือไม่อยากได้ในสิ่งที่อาจเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้ว

ไม่ดำริว่า “เออหนอ…เราอยากให้เขากลับมาหาเราอีกครั้งจังเลย” นั่นก็เป็นภวตัณหา คืออยากได้ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ไม่ว่าจะทุกข์เรื่องอะไรก็ตาม คนเราเป็นทุกข์เพราะตัณหาทั้งนั้น เช่น ขาหักแล้ว แต่ไม่อยากเป็นคนขาหัก ตาบอดแล้ว แต่ไม่อยากเป็นคนตาบอด ผมหงอกแล้ว แต่ไม่อยากเป็นคนผมหงอก ฟันหักแล้ว แต่ไม่อยากเป็นคนฟันหลอ เนื้อหนังเหี่ยวย่นแล้ว แต่ไม่อยากเป็นคนเนื้อหนังเหี่ยวย่น

ความอยากและไม่อยากเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดทุกข์ก็จริง แต่เมื่อทุกข์เกิดขึ้นแล้ว เราสามารถเอาใจที่กำลังเป็นทุกข์มาดับทุกข์ได้ คือเอาใจที่ทุกข์นั้นมาพิจารณา ให้เห็นความทุกข์อยู่ในนั้น เห็นความอยากอยู่อย่างนั้น เห็นความไม่อยากอยู่ในนั้น เมื่อพิจารณาไปเรื่อย ๆ ในที่สุดใจเราจะวางเฉยต่อความอยากหรือไม่อยากเหล่านั้น ตัณหาอุปาทานทั้งหลายก็ดับลง เมื่อวางเฉยได้ ใจจึงเข้าถึงนิพพานในที่สุด

 

ที่มา  นิพพาน…ที่นี่…เดี๋ยวนี้

ภาพ  Pexels

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

สมถะ : แผนสำรองสู้ทุกข์ โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.