สวดมนต์

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: สวดมนต์ ก่อนนอนมักง่วงก่อนสวดจบ แก้อย่างไร

สวดมนต์ ก่อนนอนมักง่วงก่อนสวดจบ แก้อย่างไร

เวลา สวดมนต์ ก่อนนอน แล้วง่วงก่อนสวดมนต์จบ นับเป็นปัญหาของใครหลาย ๆ คน พระอาจารย์จะตอบวิธีแก้ไขและความเข้าใจเกี่ยวกับการสวดมนต์

ถาม:

เวลา สวดมนต์ ก่อนนอนมักง่วงก่อนสวดจบ มีวิธีแก้อย่างไร

ตอบ:

สวดให้มันดัง ๆ เอาให้ดังลั่นเลย จะได้หายง่วง สวดให้ได้ยินเสียงตัวเองก็หายง่วงแล้ว ถ้าสวดในใจมันก็ง่วง

นอกจากนี้ พระเมธีวชิโรดม หรือ ท่าน ว.วชิรเมธี อธิบายไว้ว่า ก่อนที่เราจะสวดมนต์ให้หายง่วง เราควรทราบความเป็นมาของการสวดมนต์เสียก่อน

ตามหลักพุทธศาสนาที่แท้จริง การสวดมนต์มีประโยชน์อย่างไรบ้างคะ หรือเป็นเพียงแค่อุบายไม่ให้เราฟุ้งซ่าน

การสวดมนต์น่าจะเกิดขึ้นจากประเพณีการเล่าเรียนธรรมะที่สืบเนื่องมาแต่สมัยพุทธกาล ในสมัยที่พระพุทธองค์ยังมีพระชนมชีพอยู่นั้น พระสงฆ์จะฟังธรรมจากพระองค์แล้วจำไว้ จากนั้นจะแบ่งกลุ่มกันจำพระพุทธวจนะเป็นกลุ่ม เช่น สายพระอานนท์จะจำพระสูตร สายพระสารีบุตรจะจำพระอภิธรรม สายพระอุบาลีจะจำพระวินัย พระสงฆ์ที่เป็นหัวหน้าสายก็จะมีศิษยานุศิษย์ของตนมากมาย ช่วยกันจำพระพุทธวจนะ ลักษณะการเล่าเรียนพระพุทธวจนะนั้นดำเนินในแบบ “ปาก-ต่อ – ปาก” (มุขปาฐะ) คือ ครูเป็นผู้บอกพระพุทธวจนะ ศิษย์ก็จำต่อจากครู วันรุ่งขึ้นก็นำสิ่งที่จำนั้นไปท่องให้ครูฟัง เมื่อครูเห็นว่าจำได้แล้ว ก็จะมอบพระพุทธพจน์บทใหม่ให้ท่องต่อไป และเพิ่มปริมาณสิ่งที่ต้องท่องจำมากขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อตอนผู้เขียนยังเป็นสามเณรนั้นยังคงท่องบทสวดมนต์ด้วยวิธีนี้อยู่ ธรรมเนียมการ “ต่อหนังสือ” แบบมุขปาฐะเช่นนี้เองต่อมาจึงกลายเป็นที่มาของการสวดมนต์ พระพุทธพจน์นั้นเรียกด้วยชื่อสั้น ๆ ว่า “มนต์” การเรียน การท่องบ่นมนต์นั้นเรียกว่า การสวดมนต์ และการสวดมนต์นั้นพอทำให้เป็นกิจวัตรบ่อย ๆ จนมีเวลาที่ลงตัวแน่ชัด ก็เรียกว่าเป็นการ “ทำวัตร – สวดมนต์” อย่างที่เราใช้กันสืบมาในสังคมไทยทุกวันนี้

ส่วนที่เราต้องสวดมนต์เป็นภาษาบาลี ก็เพราะมนต์นั้นคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงสั่งสอนด้วยภาษาบาลี เมื่อเรานำเอามนต์ซึ่งจำไว้ด้วยภาษาบาลีนั้นมาสวด ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่เราจะต้องสวดเป็นภาษาบาลีตามรูปแบบเดิม เหมือนเรานำเอาภาษาอังกฤษมาใช้ในภาษาไทยกับคนไทย เราก็ยังคงต้องพูดภาษาอังกฤษเหมือนกับภาษาแม่ทุกประการ อย่างไรก็ตาม การสวดมนต์แปลเป็นภาษาไทยก็ได้บุญเหมือนกับสวดเป็นภาษาบาลีเช่นเดียวกัน

ประโยชน์ของการสวดมนต์ นั้นมีหลายประการ เช่น

  1. เพื่อสืบต่อพระพุทธวจนะไว้มิให้เสื่อมสูญ
  2. เพื่อถ่ายทอดพระพุทธวจนะให้แพร่หลายออกไป
  3. เพื่อศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่บันทึกไว้ในรูปบทสวด
  4. เพื่อฝึกสมาธิภาวนา
  5. เพื่อพัฒนาปัญญาให้รู้แจ้งแทงตลอด
  6. เพื่อบำเพ็ญบุญ

ปัจจุบัน กิจกรรม “สวดมนต์” กำลังเป็นที่นิยมในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการที่มีหนังสือสวดมนต์ออกมามากมาย และกิจกรรมนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับการเคานต์ดาวน์และมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์อีกด้วย

สวดมนต์
Image by martinduss from Pixabay

หากจะถามว่า การสวดมนต์เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ คำตอบคือ ดีแน่นอน เพราะอย่างน้อยที่สุด หากมีใครเลือกไปสวดมนต์ก็ย่อมดีกว่าเลือกไปดื่มเหล้าเบียร์ฉลองหรือไปทำบาป แต่ถ้าถามว่า การที่มีคนไปสวดมนต์กันมาก ๆ แปลว่ามีคนเข้าถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาก ๆ ซึ่งก็หมายถึงมีคนในสังคมเป็นคนดีมากขึ้นใช่หรือไม่ คำตอบก็จะเปลี่ยนเป็น…อาจจะไม่ใช่

เท่าที่จำได้จากการอ่านพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าไม่เคยทรงสอนให้ฆราวาสท่องบทสวดมนต์บทนั้นบทนี้กี่รอบ ไม่เคยทรงสอนว่าสวดมนต์บทนี้แล้วจะได้บุญมาก ไม่เคยทรงสอนว่าสวดบทนั้นแล้วชีวิตจะดีขึ้น ไม่เคยทรงสอนให้มีการสวดมนต์ข้ามวัน ข้ามปี หรือข้ามศตวรรษ

ในพระไตรปิฎกอาจจะมีตัวอย่างที่ใกล้เคียงการสวดมนต์บ้าง ก็เป็นตัวอย่างของผู้ที่มีความเคารพนับถือพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก แล้วกล่าวคำสรรเสริญพระพุทธเจ้า (กล่าวเป็นภาษาท้องถิ่นก็คือภาษาบาลี) ส่วนพระสงฆ์นั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สวดปาฏิโมกข์ทุกวันพระ โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่จะให้พระทบทวนศีลว่ามีศีลข้อไหนที่ทำอาบัติหรือไม่ จะได้พยายามรักษาศีลให้บริสุทธิ์

กล่าวโดยสรุปได้ว่า กิจกรรมการสวดมนต์ของฆราวาสไม่ใช่คำสั่งสอนโดยตรงของพระพุทธเจ้า

อย่างไรก็ตาม การสวดมนต์มีข้อดีหลายอย่าง เช่น บางคนสวดมนต์ด้วยความเร็วที่เหมาะสม และด้วยความตั้งใจจิตก็จะเป็นสมาธิ (อย่างอ่อน ๆ) การสวดมนต์จึงช่วยให้ ใจเย็นลงและมีสมาธิในการทำงานมากขึ้น บางคนที่มีความทุกข์ใจ ในตอนที่สวดมนต์อย่างตั้งใจ จิตก็จะไม่คิดถึงเรื่องอื่น ความทุกข์ในใจก็จะเบาบางลงชั่วขณะหนึ่ง บางคนสวดมนต์โดยมีเจตนาที่อยากสรรเสริญพระพุทธเจ้า (พุทธานุสติ) จิตของเขาก็จะ เป็นสุขและ ได้บุญ

การสวดมนต์เป็นเครื่องมือที่ดีหากรู้จักนำไปใช้ให้ถูกทาง จึงไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะมีการส่งเสริมให้สวดมนต์กันให้มาก ๆ

แต่ในขณะเดียวกัน การสวดมนต์โดยไม่ก้าวข้ามเส้นเส้นหนึ่ง การสวดมนต์นั้นก็ไม่ช่วยให้เราเข้าใกล้คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่แท้จริง ในทางตรงกันข้ามการสวดมนต์โดยก้าวออกนอกกรอบบางอย่างก็ยิ่งทำให้เรายิ่งห่างไกลพระพุทธศาสนา และสิ่งเหล่านี้ก็คือหลุมพรางที่ผมอยากจะกล่าวถึง

หลุมพรางที่หนึ่ง บางคนเน้นสวดมนต์ให้ได้ยาว ๆ หรือสวดให้ได้หลาย ๆ รอบ จึงเป็นการสวดมนต์ที่ทำไปด้วยใจที่ รีบเร่งแทนที่ใจจะเย็นลง การสวดมนต์แบบนี้ยิ่งทำก็จะยิ่งใจร้อนมากขึ้น (จะโกรธง่ายโดยเฉพาะเวลาไม่ได้ดังใจ)

หลุมพรางที่สอง บางคนตอนสวดมนต์จิตใจฟุ้งซ่าน คิดถึงเรื่องอื่น (จิตไม่ได้อยู่กับบทสวดมนต์) การสวดมนต์แบบนี้ยิ่งสวดก็จะยิ่งทำให้เป็นคนเหม่อลอย ไม่มีสมาธิมากยิ่งขึ้น

หลุมพรางที่สาม บางคนสวดมนต์ด้วยความคาดหวังว่า บทสวดมนต์จะทำให้ได้สิ่งที่ต้องการ เช่น ร่ำรวย สมหวังในความรัก สุขภาพดี มีความสุข เสริมชะตา แก้กรรม สะเดาะเคราะห์ การสวดมนต์ด้วยคาดหวังแบบนี้ จึงไม่ต่างจากความเชื่อของศาสนาอื่น ที่มีกิจกรรมการสรรเสริญพระเจ้า เพื่อคาดหวังให้พระเจ้าทรงบันดาลในสิ่งที่เราต้องการ และการทำแบบนี้ ขัดแย้งกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ที่ว่า เราจะไม่ได้สิ่งที่ปรารถนาจากการอ้อนวอนขอ พระพุทธเจ้าทรงเน้นสอนว่า หากเราต้องการอะไร ให้ลงมือทำ เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ สรุปว่า การสวดมนต์เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และจะไม่ทำให้เราได้ในสิ่งที่ปรารถนา (บทสวดมนต์ก็คือคำพูดธรรมดาที่เป็นภาษาบาลี จึงไม่ได้มีพลังพิเศษที่จะดลบันดาลให้เราได้ทุกอย่างที่ต้องการ)

หลุมพรางที่สี่ หลาย ๆ คนเริ่มจากการสวดมนต์ แล้วเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ได้ฟังธรรม ได้ทำบุญ ได้รักษาศีล (ละบาป) ได้เจริญภาวนา การทำแบบนี้เป็นแนวทางที่น่าสรรเสริญ เพราะเป็นการก้าวข้ามการสวดมนต์เข้ามาสู่คำสั่งสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่ขณะที่บางคนก็ได้แต่สวดมนต์ แล้วก็หยุดอยู่แค่นั้น (ไม่ก้าวข้ามมาหาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า) เขาจึงเป็น คนสวดมนต์ที่บาปก็ยังทำ ศีลก็ไม่มีบุญกิริยาวัตถุ 10 ก็ไม่ครบถ้วน หากใครสวดมนต์แล้วเป็นแบบนี้ ก็แปลว่ากิจกรรมสวดมนต์ ไม่ได้ทำให้เข้าใกล้คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามากขึ้น เขาจึงเป็นคนสวดมนต์ที่ยังคง เป็นคนเดิม (ไม่ได้ดีขึ้น เคยทำอะไรไม่ดีก็ยังทำเหมือนเดิม) คนรอบตัวที่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางก็จะคิดว่า พระพุทธศาสนาไม่เห็นช่วยให้เป็นคนดีขึ้น เพราะคนที่สวดมนต์ก็ยังทำตัวเหมือนเดิม (ความสนใจในพระพุทธศาสนาของคนรอบตัวก็จะน้อยลง)

หลุมพรางที่ห้า หลายคนชอบสวดมนต์แต่กลับ ก้าวออกนอกกรอบ แล้วหลงไปกับความเชื่อผิด ๆ ที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอน เช่น ฤกษ์ยาม ดูดวง แก้กรรม เครื่องราง ของขลัง พระเครื่อง ปีชง โหงวเฮ้งฮวงจุ้ย ฯลฯ หากใครสวดมนต์แล้วเป็นแบบนี้ ก็แปลว่าเขาเป็นคนสวดมนต์ที่กำลังออกห่างจากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

“การสวดมนต์” เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ดี หากเรารู้จักใช้เครื่องมือนี้ให้ถูกทางแต่เราก็ควรมีสติที่จะระวัง ไม่หลงผิดไปตกหลุมพรางตามตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดด้วย

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

Image by Pexels from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

สวดมนต์เป็นนิจและคิดให้ถูกทาง

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.