ปฏิบัติธรรมตามจริต

ปฏิบัติธรรมตามจริต แบบไหนที่เหมาะกับคุณ

จริตมนุษย์ โดย พระกรภพ กิตติปญฺโญ (ปฏิบัติธรรมตามจริต)

การปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุธรรมนั้นมีหลายวิธี ปัญหาอยู่ที่ว่าใครถนัดวิธีไหนมากกว่า เพราะจริตของคนเราไม่เหมือนกัน (ปฏิบัติธรรมตามจริต)

เช่นเดียวกัน ทำไมบางคนชอบฟังเพลงลูกทุ่ง บางคนชอบลูกกรุง บางคนไม่ชอบทั้งลูกทุ่งและลูกกรุง แต่ชอบเพลงคลาสสิก คนที่ชอบเพลงลูกทุ่ง แล้วจับมาให้นั่งฟังเพลงคลาสสิกก็คงจะบ้าตายเสียก่อนจะจบการบรรเลง หรือหากจับเอาคนที่ชอบเพลงคลาสสิกมาให้นั่งฟังเพลงลูกทุ่งก็คงนั่งกระสับกระส่าย ออกอาการเหมือนปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำ

ของชิ้นเดียวกัน คนหนึ่งว่าสวย แต่อีกคนอาจมองว่าน่าเกลียดก็เป็นได้ ทางโลกเรียกว่า “รสนิยม” ต่างกัน

ฉันใดก็ฉันนั้น การปฏิบัติธรรมของแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคนเช่นกัน แต่ทางธรรมเราเรียกว่า “จริต” นั่นเอง

ตามตำราบอกว่า จริตของมนุษย์เรานั้นแบ่งออกเป็น 6 ประเภทด้วยกัน คือ

1. ราคจริต คือผู้ที่รักสวยรักงาม ละเอียดลออ ละมุนละไม ให้พยายามพิจารณาร่างกายของตัวเอง หรือซากศพสัตว์ หรือนึกภาพซากศพคนก็ได้ เพื่อให้เห็นว่าที่จริงร่างกายนั้นเป็นของน่าเกลียด ของสกปรก แต่ละนาทีล้วนแต่ปล่อยของเสียของเหม็นออกมา ไม่ใช่ของสวยงามแต่อย่างใด ยิ่งถ้าตายไปแล้ว มีแต่จะเน่าเฟะ น่าเกลียด และเหม็นขนาดไหน

2. โทสจริต คือผู้ที่ขี้โมโห ฉุนเฉียว หงุดหงิด ขี้รำคาญ ชอบเพ่งโทษคนอื่น ไม่พอใจไปเสียทุกอย่าง ไม่รู้จักเกรงใจหรือถนอมน้ำใจใคร เอาแต่ใจตัว ต้องฝึกแผ่เมตตาให้มาก ๆ นำเอาพรหมวิหารธรรมมาเจริญ เพื่อใจจะได้เกิดมีความเมตตา กรุณาผู้อื่น รู้จักใจเขาใจเรา ไม่ใช่เอาแต่ใจตัวเอง

3. โมหจริต คือพวกที่ลุ่มหลงอะไรต่อมิอะไรง่าย ไม่มีจุดยืนเป็นของตัวเอง ใครเล่าอะไร บอกอะไรก็เชื่อเขาไปหมด ใครจูงไปทางไหนก็ตามเขาไป ต้องเจริญสติให้มาก จะใช้อานาปานสติหรือสติปัฏฐาน 4 หรือวิธีอะไรก็แล้วแต่ถนัด ที่จะทำให้เป็นคนมีสติมีปัญญา มีเหตุมีผล ไม่ใช่เชื่อเขาไปหมด

4. สัทธาจริต บุคคลเหล่านี้ เมื่อได้ศรัทธาหรือเชื่ออะไรแล้ว ก็จะลุ่มหลงเหมือนกับพวกโมหจริต คือไม่ว่าอาจารย์หรือตำราจะว่าอย่างไร ก็จะเชื่อจะทำตามหมด ไม่เอามาพิจารณาให้ถี่ถ้วน ก็ต้องหมั่นเจริญอนุสติ 6 ประการเข้าไว้ คือ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ ระลึกในพระคุณของพระรัตนตรัย สีลานุสติ ระลึกในศีลที่ตนรักษาไว้ด้วยดี จาคานุสติ ระลึกถึงทานที่ตนเคยทำไว้และเทวตานุสติ ระลึกถึงหมวดธรรมที่จะทำให้ไปเกิดเป็นเทวดา เพื่อจะได้ไม่ไปหลงศรัทธาในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง

5. พุทธิจริต คือผู้ที่ชอบคิด ชอบพิจารณาหาเหตุหาผล ไม่ค่อยเชื่ออะไรง่าย ๆ มองอะไรก็มองลึกซึ้งถึงความเป็นจริง การพิจารณาข้อธรรมต่าง ๆ จึงไปได้ดี เพราะพิจารณาไปตามความเป็นจริงตามกฎของธรรมชาติ ท่านว่าให้พิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาการเกิด แก่ เจ็บ ตาย พิจารณาธาตุ 4 ขันธ์ 5 จะยิ่งทำให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป

6. วิตกจริต คือผู้ที่กังวล ห่วงสารพัด ฟุ้งซ่าน ตีตนไปก่อนไข้ วิตกกังวลไปหมด ท่านว่าให้เจริญสติให้มากเช่นกัน

 

ให้เรารู้ว่าตัวเรานั้นจัดเข้าอยู่ประเภทไหน แล้วพยายามแก้ไขจุดอ่อนของตัวเอง และที่ต้องตระหนักให้ดีคือ จะต้องถามตัวเองให้แน่ว่าเป็นพวกเจโตวิมุตติ คือสามารถทำสมาธิให้จิตสงบ นิ่งได้อย่างรวดเร็วง่ายดาย หรือเป็นพวกปัญญาวิมุตติ คือไม่สามารถทำสมาธิให้จิตนิ่ง ว่างได้ ชอบแต่จะคิดต่าง ๆ นานา ไม่สามารถทำจิตให้นิ่งให้สงบได้นาน ได้เพียงแค่มีสมาธิตั้งใจมั่นแค่นั้น

ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากไม่รู้จริตของตัวเองว่าเป็นพวกเจโตวิมุตติหรือพวกปัญญาวิมุตติแล้ว การปฏิบัติธรรมจะไม่มีทางก้าวหน้าเลย

ผู้ที่เป็นปัญญาวิมุตติ แล้วไปพยายามจะทำสมาธิโดยหวังว่าจะรอให้จิตนิ่ง ว่าง แล้วจึงจะเริ่มพิจารณาข้อธรรมนั้น ก็อาจจะเป็นเหมือนผู้เขียนคือ รอมาสามสิบกว่าปีแล้ว ก็ไม่เคยสัมผัสกับความนิ่ง ความว่างได้เลย

หากผู้เขียนไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือของหลวงพ่อทูล ผู้เขียนก็คงจะตายเสียก่อนที่จะได้เริ่มพิจารณาข้อธรรมเป็นแน่

 

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าท่านจะทราบดีว่าใครมีจริตอย่างไร ท่านก็จะให้หลักธรรมที่ตรงกับจริตไปพิจารณา ผู้นั้นก็จะบรรลุธรรมโดยเร็ว แต่ยุคสมัยนี้ หาผู้ที่จะทราบจริตนิสัยของเราได้ดียากมาก ดังนั้นเราจึงต้องใช้ปัญญาค้นหาให้เจอว่าเราเป็นพวกเจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติ

หากรู้ว่าตัวเองเป็นพวกปัญญาวิมุตติก็อย่าหลงไปพยายามทำตามคนอื่น ๆ ที่เขาสามารถทำจิตให้สงบได้ง่าย ๆ ท่านจึงไม่จำเป็นต้องรอให้จิตสงบ (เพราะจะไม่มีทางสงบ) เมื่อมีสมาธิตั้งใจมั่นดีแล้ว ก็เริ่มนำข้อธรรมมาพิจารณาได้เลย

ในการจะเอาข้อธรรมหมวดไหนมาพิจารณาและพิจารณาแบบไหน ก็ทดลองดูว่าทำอย่างไหนแล้วรู้สึกว่าไปได้ดี ไม่ติด ๆ ขัด ๆ ก็แสดงว่าวิธีนั้นถูกกับจริตของเรา วิธีไหนไปไม่รอด พิจารณาไม่ไปเอาเสียเลย ก็แสดงว่าไม่ถูกกับจริตของเรา

ไม่จำเป็นต้องไปทำตามตำราอย่างเคร่งครัดว่าจะต้องเอาหมวดธรรมนั้น ๆ มาพิจารณา เพราะอันที่จริงเชื่อว่าแทบทุกคนน่าจะมีครบทั้งหกจริตในตัว เพียงแต่ว่าตัวไหนจะเด่นชัดกว่าตัวอื่น ๆ และหลายคนอาจมีตัวเด่น ๆ มากกว่า 1 ตัว ก็อาจเกิดความสับสนว่า แล้วตกลงจะเอาหมวดไหนมาพิจารณา

 

หลวงพ่อทูลสอนอยู่เสมอว่า การปฏิบัติธรรมนั้น “อย่าตามตำรา แต่อย่าทิ้งตำรา” นั่นคืออาศัยตำราพอเป็นแนวทางเท่านั้น ไม่ต้องไปตามตำราเป๊ะ ๆ

หลวงพ่อบอกว่าให้เราฝึกใช้ปัญญาเฉพาะตน ไม่ใช่ลอกเลียนปัญญาของคนอื่น

เมื่อเราค้นพบจริตหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งคือ “บารมีธรรมที่เราสั่งสมมา” การปฏิบัติธรรมก็จะก้าวหน้า เพราะเป็นการต่อยอดที่ถูกต้อง แต่หากเราหาวิธีที่จะต่อยอดของเราไม่ได้ ก็เท่ากับว่าเราเริ่มนับหนึ่งใหม่ในชาตินี้นั่นเอง การปฏิบัติธรรมของเราก็อาจจะไม่ก้าวหน้า จนเกิดความท้อแท้และท้อถอย ถอดใจไปตามๆ กัน

(ปฏิบัติธรรมตามจริต)

ที่มา  จะเสียอะไรถ้าได้ปฏิบัติธรรม โดย พระกรภพ กิตติปญฺโญ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.