วิธีการอันไม่บริสุทธิ์ในการปฏิบัติธรรม

4 วิธีการอันไม่บริสุทธิ์ในการปฏิบัติธรรม โดย พระอาจารย์ นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

4 วิธีการอันไม่บริสุทธิ์ในการปฏิบัติธรรม โดย พระอาจารย์ นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

สิ่งที่สะอาดเท่านั้นจึงจะสามารถไปทำให้สิ่งอื่นสะอาดได้  วิธีการอันไม่บริสุทธิ์ในการปฏิบัติธรรม

สิ่งที่บริสุทธิ์เท่านั้นจึงจะทำให้สิ่งอื่นบริสุทธิ์ขึ้นได้

ถ้าตัวของตัวเองสกปรกเปรอะเปื้อนอยู่ แล้วจะไปทำให้สิ่งอื่นสะอาดหมดจดได้อย่างไร รังแต่จะเพิ่มความสกปรกเลอะเทอะให้กับสิ่งนั้น ๆ เท่านั้นเอง

การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน วิธีการ กระบวนการ หลักการ และปฏิบัติการในการปฏิบัติต้องขาวสะอาด ฉะนั้นการที่กิเลสเกิดขึ้น แล้วเราไปมีกิเลสกับกิเลส ไปมีอารมณ์กับอารมณ์ ไปมีเรื่องกับเรื่อง คือไปมีอะไรกับอะไร สุดแท้แต่ โดยเฉพาะวิธีการที่จะเข้าไปฆ่ากิเลส ไปดับอารมณ์ ไปทำอะไรให้เป็นอะไร เป็นต้น วิธีการอย่างนี้จัดได้ว่า เป็นวิธีการที่ “ไม่บริสุทธิ์” เรากำลังเล่นสกปรกเสียแล้ว ใช้วิชามารเสียแล้ว ไม่ Fair Play เสียแล้ว

นี่คือสาวกของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่บริสุทธิ์หมดจดไปจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย แต่เหตุไฉนเล่า เหล่าบรรดาสาวกสาวิกาทั้งหลายจึงมีสภาพจิตใจเป็นเช่นนี้ หรือเป็นแค่เพียง “มือถือสากปากถือศีล” เท่านั้น เป็นผู้ดีจอมปลอมเท่านั้น เบื้องหน้าดูเหมือนทำดีมีคุณธรรม แต่เบื้องหลังกลับทำไม่ดี เล่นสกปรก (กับกิเลส) และถ้าเราใช้วิธีการที่ไม่บริสุทธิ์ แล้วเราจะเข้าถึงความสะอาดบริสุทธิ์หมดจดได้อย่างไร

เป็นไปไม่ได้หรอกท่าน เริ่มต้นก็ทำบาปทำอกุศลกรรมเสียแล้ว หลักคำสอนในโอวาทปาฏิโมกข์ที่พระศาสดาตรัสไว้ว่า ละชั่ว ทำดี และชำระจิตใจให้ขาวบริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไปนั้น ปฏิบัติตามไม่ได้หรือ ไม่ได้ปฏิบัติตามเลย โอ้ ไฉนพุทธสาวก-สาวิกาจึงทำได้ถึงขนาดนี้ ไม่ได้ทำดียังไม่พอ แถมทำไม่ดีอีกต่างหาก ความบริสุทธิ์ของจิตใจ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง จะขอยกตัวอย่างของวิธีการอันไม่บริสุทธิ์มาแสดงพอสังเขป ดังนี้

อันดับที่ 1 ได้แก่ การบังคับสภาวะ กดขี่ข่มเหงรังแก บังคับไม่ให้กิเลสเกิด กดทับไว้ หมายเอาการทำมิจฉาสมาธิ จนถึงขั้นฌาน หรืออัปปนาสมาธิ ทั้งรูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4 เป็นการใช้อำนาจของสมาธิกดทับกิเลสไว้ แล้วก็มีความพออกพอใจใหญ่ เกิดความกระหยิ่มยิ้มย่อง มีความภูมิใจในผลงานของตนเองว่าตนเองสามารถบังคับกิเลสให้อยู่ในอำนาจได้ ตนเองปราบกิเลสได้อยู่หมัด ตนเองเอาชนะกิเลสได้แล้ว บางครั้งก็อาจสำคัญมั่นหมายว่าตนเป็นผู้วิเศษ มีอำนาจเหนือสิ่งทั้งปวง สำคัญมั่นหมายว่าตนเองหลุดพ้นแล้ว เป็นต้น เพราะเหล่าอรูปพรหมทั้งหลายมีทิฏฐิมานะรุนแรงมาก แถมมีฤทธิ์มีเดชด้วย ต้องอาศัยวิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงโปรดได้สาวกบารมี บางทีก็โปรดไม่ได้ แถมโดนเล่นงานอีกต่างหาก สรุปว่ามิจฉาสมาธินี้เป็นวิธีการอันไม่บริสุทธิ์อันดับที่ 1

อันดับที่ 2 ได้แก่ การเข้าไปกำหนดเพื่อให้ดับ มุ่งเพื่อจะดับกิเลสให้จงได้ ไล่ฟันไล่แทง ไล่บดขยี้ ทำร้ายทำลายให้ได้ มุ่งทำสงครามล้างเผ่าพันธุ์ ประกาศเป็นศัตรูกับกิเลสอย่างเปิดเผย เวลากิเลสเกิดขึ้นก็ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจ รวบรวมพละกำลังเท่าที่มีอยู่พุ่งทะยานออกไปกำหนดเพื่อฆ่าให้ตาย ทุ่มกระโดดกระโจนเข้าไปปู้ยี่ปู้ยำ ทำอย่างสาสมแก่ใจแบบซาดิสม์ ใช้วิธีรุนแรงในการกำหนดหรือเรียกว่า “กำหนดแบบซาดิสม์” ยิ่งกำหนดยิ่งมัน ยิ่งกำหนดยิ่งสะใจ เหมือนพวกชอบทำสงคราม ยิ่งปฏิบัติไปจิตใจยิ่งแข็งกระด้างเหี้ยมเกรียม อารมณ์ฉุนเฉียวดุร้ายป่าเถื่อนเป็นที่สุด สรุปว่า การกำหนดเพื่อมุ่งดับกิเลส ฆ่ากิเลส จัดเป็นวิธีการอันไม่บริสุทธิ์อันดับที่ 2

วิธีการอันไม่บริสุทธิ์ในการปฏิบัติธรรม
ภาพโดย truthseeker08 จาก Pixabay

อันดับที่ 3 ได้แก่ การใช้เล่ห์เพทุบาย มายาการต่าง ๆ ในการหลบหลีกเลี่ยง ไม่กล้าเผชิญกับกิเลส ไม่กล้าเผชิญความจริง จะว่าขี้ขลาดตาขาวหรือหวาดกลัวก็ได้ คล้ายลูกหนี้ที่คอยแต่ละหลบหลีกเลี่ยงเจ้าหนี้อยู่ร่ำไป ใช้วิธีการเบี่ยงเบนหรือคิดพิจารณาช่วย เพื่อปลอบใจตัวเองไม่ให้ทุกข์ แต่ก็กล้ำกลืนขื่นขมอยู่นั่นแหละ เรียกว่าหลอกตัวเองไปวัน ๆ ไม่ยอมรับความจริง และไม่ได้อยู่กับความเป็นจริง เช่น พอเกิดความกำหนัดเกิดกามราคะขึ้นที่จิตก็รีบพิจารณาให้เป็นเรื่องอสุภะ ความไม่สวยไม่งาม ความปฏิกูลไม่สะอาด หรือพิจารณาเพ่งให้เห็นโครงกระดูก เป็นต้น หรือพอโทสะเกิดขึ้นก็รีบแผ่เมตตาทันที เพื่อหวังว่าเมตตาจะช่วยมาระงับความโกรธได้ แต่เป็นการแผ่เมตตาด้วยความโกรธ หรือถ้ามีคนมาทำให้โกรธ คือเจอคนที่โกรธกันอาฆาตกันก็พิจารณาว่าเขายังมีส่วนดีบ้าง ควรจะคิดถึงเฉพาะส่วนที่ดีของเขา สรุปว่า การหลบ หลีก เลี่ยง การคิดพิจารณามีเล่ห์มารยา จัดเป็นวิธีการอันไม่บริสุทธิ์อันดับที่ 3

อันดับที่ 4 ได้แก่ การปล่อยเนื้อปล่อยตัวไม่เอาอะไรเลย ปล่อยปละละเลย ปล่อยทิ้งปล่อยขว้าง ไม่ยอมรู้สึกตัวหรือกระตุ้นให้เกิดความเพียรเกิดกุศลศรัทธา ปล่อยไปตามยถากรรม จำนนต่อโชคชะตา สุดแท้แต่ฟ้าจะลิขิต แล้วแต่เวรแต่กรรม ถือว่าเกิดมาใช้กรรมเก่าก็แล้วกัน อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด ใช้ชีวิตเหมือนว่าวขาดป่าน ใจลอยเหมือนไร้วิญญาณ เผลอเหม่อ เอ๋อเหรอ เหลวไหล เลอะเทอะ เลื่อนลอย เลื่อนไหลไปตามเรื่องตามราว มันจะคิดก็ปล่อยให้มันคิดไป มันจะเจ็บปวดจะฟุ้งก็ปล่อยมันไป มันจะเป็นอะไรก็ปล่อยมันไป เป็นต้น

ดูเผิน ๆ เกือบจะดี แต่ไม่ดีเพราะขาดความรู้เนื้อรู้ตัว หรือขาดความรู้สึกกลัว ขาดการพัฒนากุศลที่ยังไม่เกิดให้ได้เกิดขึ้น ขาดการพัฒนากุศลที่มีอยู่แล้ว ไม่ให้พัฒนายิ่ง ๆ ขึ้น เรียกว่าเฉยเมย เฉยด้วยโมหะหรืออวิชชา กลายเป็นนิสัยเฉื่อยชา เย็นชาจืดชืด เปรียบได้กับคนที่มืดมาแล้วก็มืดไป (ตโม ตมปรายโน) หรือสว่างมาแล้วมืดไปก็ได้เหมือนกัน (โชติ ตมปรายโน) เป็นอันว่าได้นำเสนอวิธีการอันไม่บริสุทธิ์ในการปฏิบัติธรรมมาให้ทราบพอเป็นแนวทางและฝากไว้เป็นแง่คิด

สรุปใจความตรงนี้ว่า ในการปฏิบัติธรรมนั้นควรใช้วิธีเยี่ยงวีรบุรุษ ใช้วิธีอันขาวสะอาด บริสุทธิ์เปิดเผย ไม่ลอบกัดหรือแทงข้างหลัง ไม่มีมายาในการปฏิบัติ ขอให้ความเป็นธรรมกับสภาวธรรมที่กำลังปรากฏด้วย “วิปัสสนายานิกบุคคลผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอร้องอย่ามาทำอะไรข้าพเจ้าเลย ปล่อยให้ข้าพเจ้าไปเถอะ ได้โปรดด้วย” สภาวธรรมจะพูดกับเราอย่างนี้ แล้วเราให้เขาได้ไหม ปล่อยเขาไปได้ไหม เรามีคุณธรรมกับเขาได้หรือเปล่า ดังนั้นขอให้ปฏิบัติธรรมด้วยคุณธรรม ปฏิบัติธรรมด้วยความเคารพศรัทธาให้เกียรติกับสภาวธรรมเสมอเหมือนกัน ใช้คุณธรรมในการปฏิบัติธรรมแล้วท่านก็จะเข้าถึงธรรมได้ ปฏิบัติด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่อลังการมมังการ  แต่ตั้งมั่นหนักแน่น ปฏิบัติด้วยความเปิดเผย ด้วยความสง่างาม น่าชื่นชมยกย่องแซ่ซ้องสรรเสริญสาธุการ แม้ผู้ที่กำลังปฏิบัติอยู่เองก็สามารถที่จะสาธุการอนุโมทนาได้กับการปฏิบัติของตัวเองว่า เราได้วิธีการสะอาดบริสุทธิ์ เราได้ปฏิบัติด้วยความขาวสะอาด และโดยวิธีอหิงสา ไม่เบียดเบียนทำร้ายทำลายอะไร ๆ ทั้งนั้น ทั้งต่อสภาวธรรมที่กำลังปรากฏ และต่ออัตภาพร่างกายของผู้ปฏิบัติเอง

ขอสรุปตรงนี้ว่า ขอให้ Fair Play นะผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ถ้าไม่ Fair Play แล้วจะเรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามได้อย่างไร จะเรียกตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชน หรือพุทธบริษัทได้อย่างไร การกล่าวร้ายผู้อื่น ผู้ทำร้ายผู้อื่น (รวมทั้งตัวเอง) ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต (น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี) ผู้เบียดเบียนผู้อื่น (รวมทั้งตัวเองด้วย) ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ (สมโณ โหติ ปรํวิเหฐยนฺโต) นี้จากโอวาทปาฏิโมกข์ที่พระศาสดาแสดงไว้ในคราวจาตุรงคสันนิบาต

 

ที่มา  หนังสือ เพียงแค่รู้ โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.