เมตตา

10 เหตุผลที่เราทุกคนควรมีเมตตา ข้อคิดสะกิดใจโดย ท่าน ว.วชิรเมธี

ทำไมพระบรมศาสดาของทุกศาสนาจึงเน้นย้ำให้มนุษยชาติทั่วทั้งโลกอยู่กันด้วย เมตตา เพื่อจะตอบคำถามนี้ ขอให้เราลองมาพิจารณาเหตุผลต่อไปนี้ร่วมกัน

(1) มนุษยชาติ รวมทั้งสรรพชีพ สรรพสัตว์ อาจเคยเป็นญาติพี่น้องหรือวงศาคณาญาติกันมาแต่ชาติปางก่อน

เพราะในสังสารวัฏอันยาวไกลที่หาจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดไม่พบนี้ เราล้วนเคยเวียนว่ายตายเกิดกันมาแล้วนับชาติภพไม่ถ้วนตลอดเวลาอันยาวนานนี้ เราอาจเคยเกี่ยวข้องกันมาแล้วในฐานะต่าง ๆ บ้างเคยเป็นมารดา บ้างเคยเป็นบิดา บ้างเคยเป็นบุตรธิดา บ้างเคยเป็นสามีภรรยา บ้างเคยเป็นเพื่อน พี่ น้อง บริวาร อาจารย์ ศิษย์ ฯลฯ กันมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีเหตุผลที่เราจะไม่เมตตาต่อคน ซึ่งครั้งหนึ่งอาจเคยเป็นพี่น้องวงศาคณาญาติของเราเอง

(2) มนุษย์ รวมทั้งสรรพชีพ สรรพสัตว์ ต่างก็เป็นสัตว์โลกซึ่งดำรงความเป็นสมาชิกของโลกนี้ประเภทหนึ่งเหมือนกันกับเรา

จริงอยู่ แม้คน สัตว์ เทวดา จะมีความแตกต่างกันโดยอัตภาพที่ถือกำเนิดขึ้นมาในโลกบ้าง แต่เมื่อว่าโดยภาพรวมแล้ว เราทั้งหมดก็ล้วนอยู่ในสังกัดเดียวกัน คือเป็นสัตว์โลกผู้เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้เหมือนกัน จึงไม่มีเหตุผลที่เราจะไม่ เมตตา ต่อกันและกัน

(3) มนุษย์ รวมทั้งสรรพชีพ สรรพสัตว์ ต่างก็เป็นผู้ตกอยู่ในกฎธรรมชาติเช่นเดียวกันกับเรา

กล่าวคือ มนุษย์ สัตว์ เทวดา แม้จะเกิดมาแตกต่างกัน แต่ก็ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในอาณัติของกฎแห่งธรรมชาติอันเป็นสากลที่เรียกว่า กฎไตรลักษณ์ เหมือนกันทั้งหมดทั้งสิ้น นั่นคือต่างก็ตกอยู่ในความไม่เที่ยง (อนิจฺจตา) เป็นทุกข์ (ทุกฺขตา) เป็นอนัตตา (อนตฺตตา) และนอกจากนี้แล้ว ต่างก็ตกอยู่ใต้กฎแห่งกรรมเสมอเหมือนกัน ล้วนถูกผลักดัน ถูกเหนี่ยวนำให้ขึ้นสูง ลงต่ำ รุ่งโรจน์ ร่วงโรย ด้วยพลังแห่งกรรมที่ตนเป็นผู้ลงมือทำและสั่งสมไว้ทั้งสิ้น ในเมื่อมนุษย์ สัตว์ ต่างก็ตกอยู่ในวัฏจักรแห่งกรรมที่คอยเหนี่ยวนำชีวิต (กมฺมุนา วตฺตตี โลโก) เหมือนกัน เราจึงไม่ควรจงเกลียดจงชังกัน เพราะลำพังแค่สัตว์โลกแต่ละคน แต่ละตน แต่ละตัว จะต้องรับผิดชอบต่อกรรมที่ตนเคยก่อไว้ ก็เป็นภาระมากพอแล้ว เราจึงไม่ควรไปตอกย้ำซ้ำเติมใครต่อใครให้เจ็บช้ำน้ำใจเพิ่มขึ้นมาอีก เมื่อพิจารณาเห็นว่า เขาก็มีกรรมของเขา เราก็มีกรรมของเราเช่นนี้แล้ว ต่างฝ่ายจึงต่างควรมีเมตตาต่อกันและกัน

(4) มนุษย์ รวมทั้งสรรพชีพ สรรพสัตว์ ล้วนถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันตามกฎอิทัปปัจจยตาที่ว่า “สรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกัน”

ก็ในเมื่อเราต่างก็ “อิงอาศัยกัน” หรือ “ขึ้นต่อกันและกัน” ด้วยเหตุนั้น การที่เราทำร้ายกัน ก็เหมือนกับทำร้ายตัวเอง การที่เราดีต่อกัน ก็เหมือนดีกับตัวเอง การที่เราเมตตาต่อกัน ก็เหมือนกับเมตตาต่อตัวเอง ในเมื่อความเป็นไปในชีวิตของเราล้วนเชื่อมโยงกับสรรพสิ่งในลักษณะ “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” เราจึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะไม่มีเมตตาต่อกัน เพราะทุกคน ทุกสิ่ง ที่เราเมตตาด้วย จะส่งผลย้อนกลับมาเป็นความเมตตาต่อตัวเราด้วยเสมอไป

(5) มนุษย์ รวมทั้งสรรพชีพ สรรพสัตว์ ต่างก็มีความต้องการพื้นฐานเช่นเดียวกันกับเรา อันได้แก่ รักสุข เกลียดทุกข์ กลัวต่ออาชญา และหวาดผวาต่อความตายเหมือนกัน

ไม่ว่ามนุษย์ สัตว์ทั้งหลาย จะมีความต้องการที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม แต่เมื่อกล่าวเฉพาะความต้องการพื้นฐานอันเป็นหลักใหญ่ใจความแล้ว ต่างก็มีความต้องการพื้นฐานที่เป็นเช่นเดียวกัน นั่นคือ ต่างก็รักความสุข เกลียดความทุกข์ กลัวต่อการลงทัณฑ์ และหวาดผวาต่อมรณภัยที่จะมาถึงด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ก็ในเมื่อสรรพชีพ สรรพสัตว์ ล้วนแล้วแต่มีความต้องการพื้นฐานเช่นเดียวกันกับเรา จึงไม่มีเหตุผลที่เราจะไม่เมตตาต่อกัน

(6) มนุษย์ รวมทั้งสรรพชีพ สรรพสัตว์ ต่างก็มีภาระผูกพันที่จะต้องรับผิดชอบเป็นภารกิจส่วนตัวมากพออยู่แล้ว

เมื่อพิจารณาเห็นว่า สรรพชีพ สรรพสัตว์ ต่างคน ต่างตน ต่างรูป ต่างนาม ต่างก็ต้องแบกภาระที่ตนเป็นผู้รับสืบทอดต่อมาจากมารดาบิดา จากตระกูลวงศ์พงศา จากเผ่าพันธุ์ และจากอัตภาพร่างกาย รวมทั้งจากหน้าที่การงานที่เป็นสมบัติส่วนตนหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว เราจึงไม่ควรไปเติมภาระให้แก่ใครต่อใครเพิ่มขึ้นมาอีก ทางที่ดีที่สุดจึงควรมีเมตตาต่อกันและกัน ให้เขาเหล่านั้นมีวันเวลาในการบริหารธาตุขันธ์ อัตภาพร่างกาย ให้เป็นสุขต่อไปตามอัตภาพเถิด

(7) มนุษย์ รวมทั้งสรรพชีพ สรรพสัตว์ ต่างก็มีอายุสังขารที่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนเวลาที่แสนสั้นเพียงชั่วช้างพับหู ชั่วงูแลบลิ้น ชั่วแม่ไก่ก้มกินน้ำ ชั่วลัดนิ้วมือเดียว

ในเมื่อต่างก็มีเวลาอันแสนจำกัดสำหรับยังชีพยืนชนม์อยู่ในโลก เราจึงไม่ควรก่อกรรมทำเข็ญ โกรธ เกลียด ชิงชัง ริษยากัน อันเป็นการใช้เวลาให้เปลืองเปล่าไปโดยไร้ประโยชน์ ดังนั้นจึงควรมีเมตตาต่อกันและกัน และรู้จักใช้เวลาแสนสั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด กิจกรรมใดที่เป็นการพร่าและฆ่าเวลาไปโดยไร้แก่นสาร ไม่ควรข้องแวะกิจกรรมนั้นโดยประการทั้งปวง เพราะพิจารณาว่า เราต่างก็มีเวลาแสนสั้นชั่วน้ำค้างหยาดพรมบนยอดหญ้าแล้วก็จางหาย เราจึงควรอยู่ร่วมกันไปในโลกนี้ด้วยสันติและเมตตา เพื่อถนอมเวลาให้เกิดคุณูปการสูงสุดต่อชีวิต

(8) มนุษย์ รวมทั้งสรรพชีพ สรรพสัตว์ ที่เอากำเนิดเกิดกายมาเวียนว่ายบนโลกในสภาพชีวิตแบบต่าง ๆ นั้น ล้วนแล้วแต่เคยมัวเมาหลงผิด ยึดติดอยู่ในอำนาจของกิเลสมูล คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เผลอทำผิด ทำพลาด ทำการอุบาทว์นานัปการ

กรรมชั่วมากมายที่ต่างก็เผลอทำลงไปด้วยความหลงผิดนี้ เราต้องรีบชำระสะสางเสียให้สิ้น ก่อนที่ร่างกายจะแตกพับพังภินท์ลงไปในวันเวลาไหนก็ไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ หากเราไม่มีเมตตาต่อกัน ทว่ายังคงปล่อยตัวปล่อยใจให้ไหลไปตามอำนาจของกิเลสอนุสัย บาปกรรมทั้งหลายก็จะยิ่งพอกพูน ในเมื่อบาปเก่ายังไม่ชำระ บาปใหม่ก็เพิ่มเป็นทวีตรีคูณ ชีวิตก็จะถูกฉุดรั้งให้จมอยู่ในวังวนของบาปกรรมไม่รู้จบสิ้น ทางที่ดีจึงควรมีเมตตาต่อกันไว้ อย่าได้เผลอจิตปล่อยใจก่อเวรสร้างกรรมใหม่ให้เกิดแก่กันและกันต่อไปเลย

(9) มนุษย์ รวมทั้งสรรพชีพ สรรพสัตว์ ล้วนเป็นหนี้บุญคุณของบุพการี ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แผ่นดินถิ่นเกิด

เราผู้ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์โลก ล้วนแล้วแต่ไม่มีใครมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่อาศัยคนอื่น สิ่งอื่น แท้ที่จริงนั้น เราต่างก็เป็นหนี้บุญคุณคนอื่น สิ่งอื่นมากมายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น หากเราไม่เมตตาต่อกัน ก็จะมัวพร่าเวลาของตนเองไปในเรื่องที่ไร้สาระ เวลาที่จะตอบแทนบุญคุณของประดาผู้มีพระคุณทั้งหลายก็จะไม่มี เมื่อเป็นเช่นนี้ หนี้แห่งชีวิตของเราก็ไม่ได้ชดใช้ คุณธรรมยิ่งใหญ่คือความกตัญญูก็ไม่ได้บำเพ็ญ

(10) มนุษย์ รวมทั้งสรรพชีพ สรรพสัตว์ เมื่อแรกเกิดมานั้นล้วนมีต้นทุนเสมอกัน คือ นับว่าเป็นสัตว์โลก แต่เมื่อพัฒนาตัวเองให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป สักวันหนึ่งข้างหน้าก็ย่อมจะได้ชื่อว่าเป็นผู้วิวัฒนาการถึงจุดสูงสุดแห่งความเป็นอารยชนอารยชีวิตได้เช่นเดียวกัน

วิวัฒนาการสูงสุดของจิตก็คือ การตื่นรู้สู่อิสรภาพ หลุดพ้นจากพันธนาการของกิเลสบรรดามีทั้งปวงที่รึงรัดมัดสรรพสัตว์ไว้ในบ่วงทุกข์ตลอดกาลอันยาวนาน ตราบใดก็ตามที่สัตว์โลกทั้งหลายยังไม่เมตตาต่อกัน ยังขลุกขลุ่ยจมจ่อมอยู่ในความเบียดเบียน โกรธเกลียด ชิงชังหักหาญทำร้ายกันไม่จบไม่สิ้น โอกาสที่จะหวนกลับมาพัฒนาตนเองให้ลุถึงภาวะพระนิพพานอันเป็นวิวัฒนาการสูงสุดของจิตก็ย่อมไม่มี ดังนั้น สรรพชีพ สวรรพสัตว์ จึงควรมีเมตตาต่อกันและกัน เมื่อต่างฝ่ายต่างก็อยู่ร่วมกันด้วยเมตตาและไมตรี ย่อมจะมีแต่สันติสุข บนพื้นฐานของสันติสุขนั่นเอง ที่เราจะมีเวลามากพอสำหรับการพัฒนาจิตใจให้ผลิบาน ตื่นรู้ งอกงามสู่ภาวะพระนิพพาน อันเป็นสถานีสุดท้ายที่ทุกชีวิตควรไปให้ถึง

 

ที่มา  เมตตาธรรม โดย ท่าน ว.วชิรเมธี สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.