เศรษฐีตระหนี่

เศรษฐีตระหนี่ ทำบุญแล้วเสียดายทรัพย์ โดย ส.เขมรังสี (หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรํสี)

ขณะนั้นเศรษฐีผู้เป็นสามีก็กลับมา แล้วถามพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า ท่านได้รับอาหารเรียบร้อยแล้วหรือ พอเห็นในบาตรมีอาหารอันประณีตเต็มบาตรก็รู้สึกร้อนใจ รู้สึกเสียดาย จึงบ่นว่าภรรยาไม่น่าจะต้องทำให้ถึงขนาดนี้ อาหารประณีตอย่างนี้ถ้าจะให้ก็ให้กับคนงาน คนรับใช้ของเรายังดีกว่า เพราะเขาทำงานให้ ส่วนพระรูปนี้เอาไปฉัน แล้วท่านก็นอน อปุตตกเศรษฐีมีความคิดอย่างนั้น ความที่รู้สึกไม่ได้ยินดีหรือว่าไม่ปลื้มใจในทานของตัวเอง เห็นว่าให้มากไป ความรู้สึกไม่พอใจนี้เองคือเหตุ

ในชาตินั้นเศรษฐีผู้นี้ยังได้ฆ่าลูกของพี่ชาย เนื่องจากเด็กจะชอบเดินตามเศรษฐีผู้นี้ไปไหนมาไหนอยู่เรื่อย แล้วมักจะพูดว่า ยานพาหนะนี่เป็นของบิดา ส่วนทรัพย์นั้นเป็นของท่าน เศรษฐีฟังเด็กพูดอย่างนั้นก็นึกกลัว ระแวงว่า ขนาดเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ ยังพูดแบบนี้ ถ้าโตขึ้นมาจะไม่เอาทรัพย์ของเราเชียวหรือ แล้วใครจะป้องกันทรัพย์ของเราได้ จึงลวงเด็กเข้าไปในป่า แล้วบิดคอฆ่าทิ้งหมกไว้ ความหวงทำให้คนเราทำบาป

เมื่อเศรษฐีตายจากชาตินั้นไป ก็ต้องตกอยู่ในนรกเป็นแสนปีที่ได้ไปฆ่าเด็ก แล้วถึงได้ไปอยู่บนสวรรค์ 7 ชาติ เกิดเป็นมนุษย์เป็นเศรษฐีอีก 7 ชาติ ในชาติปัจจุบันที่มาเกิดในเมืองสาวัตถีก็มีทรัพย์มาก แต่ก็ไม่ได้กิน ไม่ได้ใช้ทรัพย์ที่มีมากมาย แม้มีอาหารดี ๆ ก็ไม่อยากกิน กินแต่ข้าวปลายเกวียนกับน้ำผักดองเท่านั้น ด้วยอำนาจที่เคยได้ถวายทานพระปัจเจกพุทธเจ้าไว้แล้วเกิดเสียดาย ไม่พอใจ ไม่ยินดีในภายหลังนั่นเอง

ครั้นพอเศรษฐีสิ้นชีวิตลง พระพุทธเจ้าตรัสว่า ขณะนี้ก็กำลังไปเสวยผลกรรมอยู่ในมหาโรรุวนรกอีก ฉะนั้น โภคะทั้งหลายย่อมฆ่าคนทรามปัญญา คนที่ไม่มีปัญญาแต่มีทรัพย์ ทรัพย์นั้นก็กลับเป็นพิษกับตัวเอง ไม่ได้เอาทรัพย์ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ คนมีปัญญาเท่านั้นจึงจะรู้จักนำทรัพย์ไปใช้ให้ได้ประโยชน์ อย่างน้อยก็ได้กินได้ใช้ สมค่ากับทรัพย์ที่มี แล้วยังแบ่งทรัพย์ส่วนหนึ่งทำบุญทำกุศล ทรัพย์เหล่านั้นจึงจะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง แต่ถ้าขาดปัญญา มีทรัพย์แล้วหวงแหน แถมหวงด้วยอำนาจความตระหนี่ ด้วยความทะยานอยาก เลยไปทำร้ายชีวิตผู้อื่นด้วย เพราะกลัวเขาจะมาแย่งทรัพย์ของตน ฉะนั้น การฆ่าตนเองก็เหมือนกับการฆ่าผู้อื่น เพราะกรรมเหล่านั้นจะตกมาที่ตนเอง

ดังนั้น หากเราเห็นใครที่มีทรัพย์มาก แต่ทำไมกินอยู่อย่างอัตคัด ของดี ๆ ไม่กิน เสื้อผ้าดี ๆ ไม่ใช้ ไม่ได้รับความสุขอย่างเต็มที่ ก็คงเกิดจากทำนองเดียวกันกับเรื่องที่เล่าให้ฟังในสมัยพุทธกาล คือให้ทานแล้วจิตยังไม่ได้สละอย่างแท้จริง ยังเสียดาย ยังไปหวง ถึงมีทรัพย์แต่ก็ไม่ได้ใช้ทรัพย์นั้นอย่างมีความสุข

 

ที่มา  ตื่น รู้ เบิกบาน โดย ส.เขมรังสี สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

Image by Bruno Glätsch from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

ลดความตระหนี่ด้วยการ ให้ทาน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.