มิจฉาทัศน์

“มิจฉาทัศน์” สาเหตุทุกข์ โดย พระมหาสุภา ชิโนรโส (ส.ชิโนรส)

3. เชื่อว่าสรรพสิ่งเกิดโดยบังเอิญ (อเหตุกทิฏฐิ)

ความเห็นผิดเช่นนี้เชื่อว่า ชีวิตจะดีหรือชั่ว จะสุขหรือทุกข์ ไม่เกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่รายล้อม แต่ชีวิตจะเป็นแบบไหนอย่างไรเป็นของมันเอง ไม่มีเหตุปัจจัยอะไรที่จะกำหนดให้ชีวิตเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ผู้ที่เชื่อว่าสรรพสิ่งเกิดอย่างลอย ๆ มักจะปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามโชควาสนา แล้วแต่ฟ้าดินจะบันดาลให้เป็นไป

การเห็นกระแสเกิด-ดับจะท้าทายความเชื่ออย่างนี้อีกเหมือนกัน การเกิด-ดับแต่ละครั้งเกิดเพราะองค์ประกอบหลายอย่างรวมตัวกันเข้าแล้วแตกสลายไป เช่น การเกิด-ดับของลมหายใจเข้า-ออกแต่ละครั้ง เกิดจากองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ จิตวิญญาณ และปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่างรวมตัวกันเข้า แล้วก็แตกสลายไป ลมหายใจรอบใหม่ก่อตัวขึ้นมาอีก แล้วก็แตกสลายไปเหมือนเดิม กลายเป็นกระแสเกิด-ดับไม่มีที่สิ้นสุด จนกระทั่งมนุษย์สิ้นชีวิต

ไม่มีสิ่งใดที่เกิดแล้วดับอย่างลอย ๆ ที่มนุษย์เชื่อว่าจะต้องมีบางสิ่งเกิดขึ้นอย่างลอย ๆ เพราะมองไม่เห็นเหตุปัจจัยของสิ่งนั้นต่างหาก

4. เชื่อว่ามีตัวตนที่แท้จริง (อัตตานุทิฏฐิ)

ความเห็นผิดเช่นนี้เชื่อว่า มีตัวตนผู้เป็นศูนย์กลาง เป็นตัวตนแท้ดั้งเดิม เป็นศูนย์รวมของสิ่งต่าง ๆ ตัวตนนี้คือผู้เสพเสวยสิ่งต่าง ๆ และควบคุมจัดการสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปตามอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ เช่น บางคนเชื่อว่าสมองเป็นศูนย์กลางของการทำงานทั่วกายมนุษย์ จัดการระบบทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อวิเคราะห์อย่างแยบคายแล้ว สมองไม่ใช่ศูนย์กลาง แต่เป็นหนึ่งในระบบเครือข่ายการทำงานของร่างกาย แม้แต่ในสมองเองก็ไม่มีศูนย์กลาง มีแต่เครือข่ายการเชื่อมต่อของเส้นประสาทต่าง ๆ ในรูปกระแสเท่านั้นเอง

จิตใจมนุษย์ก็เหมือนกัน ไม่มีตัวตนที่เป็นแก่นกลาง ทำงานเชื่อมโยงกันกับอารมณ์และความคิดต่าง ๆ ในลักษณะเครือข่ายเหมือนกับสมอง เกิด-ดับตามเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่ซับซ้อนในรูปของกระแส

การเห็นกระแสเกิด-ดับของรูปธรรมและนามธรรมทั้งหมด จึงท้าทายความเชื่อที่มนุษย์เคยมีมาตลอดกัปตลอดกัลป์ว่า มีตัวตนเป็นอิสระ มีอำนาจสูงสุดจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้แต่เพียงผู้เดียวซ่อนเร้นอยู่ในสมองหรือจิตใจแห่งใดแห่งหนึ่ง

 

มิจฉาทัศน์เหล่านี้เป็นกิเลสชั้นละเอียดที่สุด ฝังเร้นตัวเองอยู่ในจิตสันดานของมนุษย์แต่ละคนชั่วกัปชั่วกัลป์ มนุษย์ทั่วไปน้อยนักที่จะรู้เท่าทันมิจฉาทัศน์เหล่านี้ได้

มิจฉาทัศน์เหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความเกลียด และกิเลสที่หยาบช้านานัปการ จนยากที่จะตามได้ไล่ทัน

 

ที่มา  อานาปานสติ…ลึกแต่ไม่ลับ โดย ส.ชิโนรส (พระมหาสุภา ชิโนรโส) สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.