การประพฤติพรหมจรรย์

การประพฤติพรหมจรรย์ (พรัหมะจะริยัญจะ) อีกหนึ่งมงคลชีวิตอันประเสริฐ

มงคลชีวิต 38 ประการ : มงคลที่ 32 การประพฤติพรหมจรรย์ (พรัหมะจะริยัญจะ)

คําว่า พรหมจรรย์ แปลตามศัพท์หมายถึง ความประพฤติอันประเสริฐ

ในพระไตรปิฎกท่านแยกแยะพรหมจรรย์ เป็น 10 อย่าง ได้แก่

1. การให้ข้าวน้ํำ และปัจจัยใช้สอยแก่การดํารงชีวิตแก่มนุษย์ และสัตว์เดรัจฉาน จะเป็นผู้ให้ตามกาล หรือให้เป็นนิตย์ก็ตามที

2. การช่วยขวนขวายจัดทําช่วยเหลือกิจการอันเป็นกุศลของผู้อื่น ให้เจริญก้าวหน้าสําเร็จลุล่วงด้วยความชุ่มชื่นโสมนัสไม่เบื่อหน่ายท้อถอย

3. การรักษาศีล 5 เพื่องดเว้นจากการล่วงบาปกรรม 5 ประการ

4. การแผ่พรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไปในสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง

5. การไม่เสพกามอันเป็นความกําหนัดยินดีในแนวทางของสามี ภรรยา

6. ความสันโดษมักน้อยในวัตถุข้าวของเครื่องใช้ ไม่ทะเยอทะยานมักมากในวัตถุกาม กิเลสกาม รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ยินดีในผัวเดียวเมียเดียว

7. การที่มีความเพียรกล้าแข็งไม่ย่อท้อต่อการกุศลต่าง ๆ แม้มีความยากลําบากด้วยความหนาวความร้อน เป็นต้น

8. การสมาทานรักษาศีลอุโบสถ ตามวาระโอกาสต่าง ๆ

9. ปัญญาพิจารณาเห็นแจ้งในอริยสัจทั้ง 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

10. ข้อปฏิบัติในทางศาสนาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา

พรหมจรรย์ทั้ง 10 นี้ บุคคลใดยินดีรักษาแม้แต่อันใดอันหนึ่งย่อมเป็นที่พึ่งแก่บุคคลนั้น เป็นปัจจัยแก่ทางสวรรค์นิพพาน และการประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมเป็นที่สรรเสริญของนักปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ว่าเป็นกุศลอันวิเศษใหญ่หลวง เป็นเครื่องระงับกิเลสทั้งปวง คือ ราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลงจากขันธสันดาน เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานดับเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์ เป็นปรมัตถสุขอันอุดม เป็นที่ยินดีชื่นชมของพระอริยเจ้า เป็นที่สละกองทุกข์ทั้งหลาย พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบสิ้นในภพน้อยภพใหญ่ จนได้ถึงซึ่งพระนิพพานอันเป็นบรมสุข

บัดนี้จะได้แนะนําการประพฤติพรหมจรรย์อย่างหนึ่งคือ การเจริญอานาปานสติ อานาปานสติเป็นกรรมฐานกองหนึ่ง กําหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นอารมณ์ ตั้งสติกําหนดรู้เวลาหายใจเข้าและออก เวลาหายใจเข้าลมหายใจกระทบที่จมูก หน้าอก และท้องตามลําดับ เวลาหายใจออกลมหายใจกระทบท้อง หน้าอกและจมูกตามลําดับ กําหนดไป อย่างนี้ 100 หน 1,000 หน จนกว่าจิตจะสงบ แต่ถ้าจิตฟุ้งซ่านมากไม่สงบ ท่านสอนให้ฝึกนับลมหายใจครั้งละ 10 คู่ คือ

หายใจเข้านับ 1 หายใจออกนับ 1

หายใจเข้านับ 2 หายใจออกนับ 2

หายใจเข้านับ 3 หายใจออกนับ 3

หายใจเข้านับ 4 หายใจออกนับ 4

หายใจเข้านับ 5 หายใจออกนับ 5

หายใจเข้านับ 6 หายใจออกนับ 6

หายใจเข้านับ 7 หายใจออกนับ 7

หายใจเข้านับ 8 หายใจออกนับ 8

หายใจเข้านับ 9 หายใจออกนับ 9

หายใจเข้านับ 10 หายใจออกนับ 10

ตั้งใจไว้ว่า ภายใน 10 คู่ จะไม่วอกแวกไปคิดเรื่องอื่นสิ่งอื่น ถ้าหากยังนับไม่ครบ 10 คู่ แล้วจิตส่งออกไปคิดเรื่องภายนอกให้ลงโทษตนเองโดยนับ 1 ใหม่ ถ้าหากเรานับจนถึง 10 คู่โดยจิตไม่วอกแวก ก็ชื่อว่าจิตเราเป็นสมาธิอยู่ 10 คู่ลมหายใจแล้ว ถ้าจะทําสมาธิต่อก็เริ่มนับเลข 1 ใหม่ ครูบาอาจารย์ท่านแนะนําว่าอย่านับเลขเกิน 10 เพราะจิตใจจะไปหมกมุ่นกับตัวเลขเกินไป ฉะนั้นพอเรานับครบ 10 ให้เริ่มต้นมานับ 1 ใหม่ เราตั้งสติ กําหนดจิตให้มั่นคงไม่วอกแวกชุดละ 10 คู่ลมหายใจอย่างนี้ จะทําให้เราสามารถทรงสมาธิได้นานขึ้นเรื่อย ๆ ไปเอง

อานิสงส์การเจริญอานาปานสตินั้นย่อมจะช่วยให้จิตเป็นสมาธิดีขึ้น ตัดความวิตกกังวลฟุ้งซ่าน สามารถช่วยให้ทํากรรมฐานกองอื่นสําเร็จง่าย โดยการทํากรรมฐานกองนั้นพร้อมกับการกําหนดลมหายใจเข้าออก เป็นกรรมฐานที่ให้ความสุขอันละเมียดละไม ฉะนั้นพระอรหันต์และพระพุทธเจ้าจึงทรงอานาปานสติอยู่เสมอ นอกจากนี้อานาปานสติยังจะเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนาได้อย่างดี

ดังที่ข้าพเจ้าบรรยายขยายความมา เพื่อจะแสดงให้ท่านสาธุชนทั้งหลายรื่นเริงในธรรมที่ว่าด้วย การประพฤติพรหมจรรย์ เป็นมงคลอันประเสริฐด้วยประการฉะนี้

 

ที่มา  พุทธมงคลอานิสงส์ โดย พระชุมพล พลปญฺโญ

Photo by Zoltan Tasi on Unsplash

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

ชีวิตดีเมื่อกล่าว วาจาอันเป็นสุภาษิต มงคลที่ 10 ในมงคลชีวิต 38 ประการ

การสงเคราะห์บุตรทั้งในทางโลกและทางธรรม คือมงคลอันประเสริฐ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.