ชุมนุมเทวดา

ทำไมต้องสวด ชุมนุมเทวดา ก่อนสวดมนต์บทอื่น ๆ

ทำไมต้องสวด ชุมนุมเทวดา ก่อนสวดมนต์บทอื่น ๆ

ไม่ว่าจะในหนังสือสวดมนต์ก็ดี ในศาสนพิธี หรือพิธีมงคลต่าง ๆ บ่อยครั้งที่จะมีการสวด ชุมนุมเทวดา ก่อนเป็นประการแรก แต่เคยสงสัยไหมว่า ทำไมต้องสวดชุมนุมเทวดา หรือบทอัญเชิญเทวดาก่อน วันนี้ซีเคร็ตหาคำตอบมาให้ค่ะ

เรื่องของเทวดามีปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาอยู่หลายเรื่อง เทวดามีความสัมพันธ์กับพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่อดีตพระชาติ เช่น นางมณีเมขลา เทพธิดาผู้รักษามหาสมุทร อุ้มพระมหาชนกหลังจากทรงแหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทรเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน หรือครั้งเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร พระอินทร์ได้ช่วยให้พระเวสสันดรได้กลับกรุงสีพีตามที่ขอพร หรือบางพระชาติเคยเสวยพระชาติเป็นเทวดา เช่น เป็นพรหมช่วยให้ท้าวเอกราชกลับมามีสัมมาทิฐิอีกครั้งในเรื่องนารทกัสปปพรหมชาดก เป็นต้น

และอีกพุทธกิจของพระพุทธเจ้าคือ การตอบปัญหา หรือสนทนาธรรมกับเทวดา ดังปรากฏในมงคลสูตรที่เทวดาสงสัยว่ามงคลคืออะไร พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่ามงคลมีทั้งหมด 38 ประการ ดังที่เรารู้จักกันใน “มงคลชีวิต” นั่นเอง

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรัมรังสี กล่าวว่าเทวดาชอบฟังเสียงสวดมนต์ไว้ครั้งไปแสดงธรรมเรื่อง “อานิสงส์แห่งการสวดมนต์” ที่เรือนของเจ้าพระยาสรรเพชรภักดีว่า ” เหล่าพรหมเทพที่ชอบฟังเสียงในการสวดมนต์มีอยู่จำนวนมาก ก็จะมาชุมนุมฟังกันอย่างมากมาย เมื่อมีเหล่าพรหมเทพเข้ามาล้อมรอบตัวของผู้สวดอยู่เช่นนั้น ภัยอันตรายต่าง ๆ ที่ไหนก็ไม่สามารถกล้ำกลายผู้สวดมนต์ได้ตลอดจนอาณาเขต และบริเวณบ้านของผู้ที่สวดมนต์ ย่อมมีเกราะแห่งพรหมเทพและเทวดา ทั้งหลายคุ้มครองภัยอันตราย ได้อย่างดีเยี่ยม “

ก่อนสวดมนต์จะสังเกตว่ามักมีบทอัญเชิญเทวดา หรือเรียกอีกอย่างว่า “ชุมนุมเทวดา” ขึ้นก่อนเสมอ อาจมาจากเหตุการณ์ที่เทวดาฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า การสวดมนต์เท่ากับเป็นการนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาสาธยายอีกครั้ง โดยเฉพาะบทสวดมนต์ที่เป็นพระปริตร จะเห็นได้ว่า พอเริ่มสวดบทชุมนุมเทวดาจะขึ้นต้นว่า

สะรัชชัง สะเสนัง สะพันธุง นะรินทัง  ปะริตตานุภาโว สะทา รักขะตูติ  ผะริต๎วานะ เมตตัง สะเมตตา ภะทันตา  อะวิกขิตตะจิตตา ปะริตตัง ภะณันตุ “

แปลว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้มีเมตตา จงแผ่ไมตรีจิต ด้วยคิดว่าขออานุภาพพระปริตร จงรักษาพระราชาผู้เป็นเจ้าแห่งนรชน พร้อมด้วยราชสมบัติ พร้อมด้วยราชวงค์ พร้อมด้วยเสนามาตย์ แล้วอย่ามีจิตฟุ้งซ่าน ตั้งใจสวดพระปริตรเถิด

ปรากฎคำว่า “พระปริตร” อยู่สองจุดด้วยกันคือ “ขออานุภาพพระปริตร” และ “ตั้งใจสวดพระปริตรเถิด” แสดงว่าบทสวดชุมนุมเทวดาเหมาะสำหรับเป็นบทสวดนำก่อนสวดบทพระปริตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น 7 ตำนาน หรือ 12 ตำนาน

อีกข้อสังเกตหนึ่งซึ่งธนิต อยู่โพธิ์ได้กล่าวไว้ใน “อานุภาพพระปริตต์” ว่า บทชุมนุมเทวดา หรือ คาถาเชิญชวนสวดพระปริตต์ เห็นได้ว่า สำหรับใช้กล่าวชักชวนในการสวดพระปริตต์ถวายพระมหากษัตริย์ เพื่อถวายความคุ้มครองแด่พระมหากษัตริย์ พระประยูรญาติและราชสมบัติ ตลอดทั้งเสนามาตย์ราชบริพาร แสดงว่าการสวดพระปริตร นอกจากเป็นการสาธยายคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังเป็นการสวดมนต์ถวายพระราชาและเชื้อพระวงศ์อีกด้วย การสวดพระปริตรอาจใช้ในพิธีหลวงมาก่อน และผู้ที่สวดหรือสาธยายมนต์ก็เพื่อถวายความจงรักและภักดีที่มีต่อราชสำนัก

สำหรับในศาสนพิธีและพิธีมงคลต่าง  ๆ จะตัด “สะรัชชัง สะเสนัง สะพันธุงฯ” ออก แล้วเริ่มสวดที่ “สัคเค กาเม จะ รูเปฯ” เลย แต่อย่างไรก็ตามบทอัญเชิญเทวดาที่ขึ้นต้นด้วย สัคเค พอดูคำแปลของบทสวดแล้วก็เป็นเรื่องของการเชิญเทวดามาฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ซึ่งยังตรงกับพุทธกิจและเรื่องเล่าในคัมภีร์พระพุทธศาสนาอยู่ แม้กระทั่งโอปปาติกที่เป็นทิพย์ เช่น ยักษ์ ครุฑ นาค และคนธรรพ์ ก็ถูกเชิญมาฟังธรรม ล้วนมีความสัมพันธ์กับพระพุทธเจ้า โดยการยกย่องพระองค์เป็นบรมครู  ยักษ์ ได้แก่ “เวสสุวรรณ” หนึ่งในเจ้าสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ทั้งยังถวายมนต์ “อาฏานาฏิยปริตร ” ซึ่งเป็นหนึ่งในพระปริตรที่มีความเชื่อว่าสามารถป้องกันภูตผีปีศาจได้ แด่พระพุทธเจ้า ครุฑ ไม่ค่อยมีบทบาทในพระพุทธศาสนา นาคจะมีบทบาทมากกว่า แต่พระพุทธศาสนาก็เชื่อการมีอยู่ของครุฑ ดังปรากฏในภูริทัตตชาดก ที่ครุฑสอนมนต์จับนาคให้กับฤษี นาค ได้แก่ “มุจจลินนาคราช” ซึ่งขึ้นจากสระมุจจลินมาแผ่พังพานป้องกันพระวรกายของพระพุทธเจ้ามิให้ถูกฝน คนธรรพ์ที่นับถือพระพุทธเจ้าคือ “ปัญจสิขร” คนธรรพ์ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสชมว่าบรรเลงพิณได้ไพเราะยิ่ง

ไม่เท่านั้นเรายังได้รู้จักเทวดาประเภทต่าง ๆ แบ่งตามลักษณะของที่สถิต เช่น ฉกามาพจรสวรรค์ หมายถึงสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น และ โสฬสมหาพรหม คือพรหมในพรหมโลก 16 ชั้น ไม่ผิดที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ พรัมรังสี เรียกว่า “เทพพรหม” ซึ่งหมายถึงเทพและพรหมจริง ๆ เทวดาที่สถิตตามภูเขา (เจ้าเขา) บ้านเรือน (ภุมมเทวดา หรือเทวดารักษาบ้านเรือน ตรงกับพระภูมิ) พระราชวัง (มณเฑียร) หนอง คลอง บึง แม่น้ำ ป่า (เจ้าป่า) เกาะ ในเมืองหลวง เมืองใหญ่ (พระหลักเมือง)

บทชุมนุมเทวดา หรือ บทอัญเชิญเทวดา

(ถ้าจะสวดเจ็ดตำนานใช้)


สะรัชชัง สะเสนัง สะพันธุง นะรินทัง ปะริตตานุภาโว สะทา รักขะตูติ ผะริต๎วานะ เมตตัง สะเมตตา ภะทันตา อะวิกขิตตะจิตตา ปะริตตัง ภะณันตุ 

-ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้มีเมตตา จงแผ่ไมตรีจิต ด้วยคิดว่าขออานุภาพพระปริตร จงรักษาพระราชาผู้เป็นเจ้าแห่งนรชน พร้อมด้วยราชสมบัติ พร้อมด้วยราชวงค์ พร้อมด้วยเสนามาตย์ แล้วอย่ามีจิตฟุ้งซ่าน ตั้งใจสวดพระปริตร

 

(ถ้าจะใช้สิบสองตำนานใช้)

 

สะมันตา จักกะวาเฬสุ อัตราคัจฉันตุ เทวะตา

-เทพยดาในรอบจักรวาลทั้งหลายจงมาประชุมกันในสถานที่นี้


สัทธัมมัง มุนิราชัสสะ สุณันตุ สัคคะโมกขะทัง

-จงฟังซึ่งสัทธรรม อันให้สวรรค์และนิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งมุนี

 

(ต่อด้วยสัคเค ได้ทั้ง 7 ตำนาน และ 12 ตำนาน)

0

สัคเค 

-ข้าพเจ้าขออัญเชิญฝูงเทพยดา ซึ่งสิงสถิตอยู่ในฉกามาพจรสวรรค์

 

กาเม 

– อยู่ในกามภพ

 

จะ รูเป 

-อยู่ในรูปภพ คือ โสฬสมหาพรหม

 

คิริสิขะระตะเฏ 

-อีกทั้งเทพยเจ้าซึ่งสิงสถิตอยู่ในภูผาห้วยเหว และคูหายอดคีรี

0

จันตะลิกเข วิมาเน 

-อยู่ในอากาศวิมานมาศมณเฑียรทอง

ทีเปรัฏเฐ จะ คาเม 

-สิงสถิตอยู่ในเกาะแก้วเมืองหลวง และพระนครใหญ่น้อย

 

ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมหิ เขตเต 

-สิงสถิตอยู่ในเคหะสถานบ้านน้อยและเมืองใหญ่ทั่วทุกชนบท

 

ภุมมา 

-ซึ่งสิงสถิตปรากฎในโรงศาลพระภูมิเจ้าที่

จายันตุ เทวา 

-ข้าพเจ้าขออัญเชิญให้เร่งรีบเข้ามาในเวลาวันนี้ ให้พร้อมกัน

0

ชะละถะละวิสะเม 

-อีกทั้งเทพยเจ้า ซึ่งสิงสถิตอยู่ในห้วยหนองคลองบึง บางแม่น้ำใหญ่ ไพรพฤกษาทุกหย่อมหญ้าลดาวัลย์ ที่เสมอกันก็ดี ที่ไม่เสมอกันก็ดี

 

ยักขะคันธัพพะนาคา 

-ใช่แต่เท่านั้นเมื่อไร มีอีกทั้งยักษาคนธรรพ์ ครุฑ นาคา

 

ติฏฐันตา 

-อีกทั้งเทพยเจ้าซึ่งสิงสถิตอยู่ในสถานใดๆ

0

สันติเก ยัง มุนิวะระจะนัง 

-ข้าพเจ้าขออัญเชิญเข้ามายังสำนักแห่งนักปราชญ์ อาจสำแดงธรรม

 

สาธะโว เม สุณันตุ ฯ 

-ดูก่อนสัปบุรุษพุทธบริษัททั้งหลายเอ๋ย ถึงเวลาฤกษ์งามยามดี

 

ธัมมัสสะวะนะกาโล 

-ข้าพเจ้าขออัญเชิญให้เข้ามาสดับตรับฟังพระธรรมพร้อมกัน

 

อะยัมภะทันตา 

-ดูก่อนท่านผู้ประเสริฐยอดยิ่งกว่ามนุษย์และเทวดา ข้าพเจ้าขออัญเชิญมาประชุมให้พร้อมเพรียงกันในสถานที่นี้เถิด

 

ธัมมัสสะวะนะกาโล 

-ข้าพเจ้าขออัญเชิญให้เข้ามาสดับตรับฟังพระธรรมพร้อมกัน

 

อะยัมภะทันตา 

-ดูก่อนท่านผู้ประเสริฐยอดยิ่งกว่ามนุษย์และเทวดา ข้าพเจ้าขออัญเชิญมามั่วสุมประชุมให้พร้อมเพรียงกันในสถานที่นี้เถิด

0

ธัมมัสสะวะนะกาโล 

-ข้าพเจ้าขออัญเชิญให้เข้ามาสดับตรับฟังพระธรรมพร้อมกัน

 

อะยัมภะทันตา 

-ดูก่อนท่านผู้ประเสริฐยอดยิ่งกว่ามนุษย์และเทวดา ข้าพเจ้าขออัญเชิญมามั่วสุมประชุมให้พร้อมเพรียงกันในสถานที่นี้เถิด

 

ที่มา

www.tnews.co.th

www.watpamahachai.net

www.trueplookpanya.com

6 พระสูตร ที่เทวดาฟังแล้วบรรลุธรรมมากที่สุด

ภาพ

https://pixabay.com


บทความน่าสนใจ

เทวดานุสสติ การระลึกถึงผลบุญของเทวดา ทำไมต้องระลึกถึง และมีผลานิสงส์อย่างไร

ลางบอกเหตุและสาเหตุการตายของเทวดาในพระพุทธศาสนา

เทวดาในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เทวดาที่อยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์ที่สุด ที่เราควรรู้จัก

พระพุทธเจ้ากับบัลลังก์ทั้ง 3 พระองค์คือผู้ครอง บัลลังก์แห่งเทวดา พรหม และพระอริยะ

เจอ เทวดา ประสบการณ์จากการเดินธุดงค์

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.