จากตาย

“จากตาย” เรื่องที่ไม่มีใครในโลกหนีพ้น โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

Secret สนทนาถึงเรื่อง “จากตาย” กับพระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ ได้แง่คิดเตือนสติมากมายดังนี้ค่ะ

คำกล่าวที่ว่า “จิตดวงสุดท้ายไม่ควรเข้าไปรบกวน” เป็นเรื่องจริงหรือไม่คะ แล้วถ้าคนที่เรารักกำลังจะจากไป แต่ทุกคนในบ้านยังคงทำหน้าที่ของตัวตามปกติ เช่น ไปเรียน ไปทำงาน และถ้าวินาทีสุดท้ายไม่มีใครอยู่กับเขา แบบนี้จะถือว่าเห็นแก่ตัวหรือเปล่าคะ

เวลาใครจะจากไป เราควรปล่อยให้เขาได้อยู่ส่วนตัว มีบรรยากาศสงบ ๆ ตามสมควร เพราะจิตทุกดวงมีความสามารถในการช่วยตัวเองได้อยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นชาวพุทธ เราคงเคยได้ยินได้ฟังคำสอนการปฏิบัติมาบ้าง ส่วนใหญ่มีร่องจิตกันมาอยู่แล้ว ถ้าเราพูดมากไป เขาจะรำคาญเปล่า ๆ

ถ้ามั่นใจว่าเราทำดีที่สุดแล้วก็ไม่ต้องคร่ำครวญ เพราะการคร่ำครวญทำให้ใจเขาพลอยเศร้าหมองไปด้วย ลึก ๆ เรารู้คำตอบในใจอยู่แล้วว่าเราทำดีพอแล้วหรือยัง ไม่ต้องไปแคร์ความคิดคนภายนอกว่าจะคิดอย่างไร หันมาเช็กที่ใจของเราเองดีกว่า

พระอาจารย์คิดอย่างไรกับคำพูดที่ว่า “สิ่งที่เจ็บกว่าการจากลาคือการจากทั้งที่ยังไม่ได้ลา”

ก็ลาสิ…ลาเลย เจอใครก็บอก “ลาแล้วนะ ซาโยนาระ” (หัวเราะ) ไม่อย่างนั้นจะมาเสียดายทีหลังว่าไม่ได้ลา อาจารย์ไม่ได้พูดเล่นนะ เราทุกคนควรลากันให้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

คนส่วนใหญ่มองว่าการพูดเรื่องการจากลาไม่เป็นมงคล ทั้งที่บางทีจากกันวันนี้ ยังไม่รู้ว่าจะได้กลับมาเจอกันหรือเปล่า เช่น ไปทำงาน ต้องฟันฝ่ามาก ขึ้นทางด่วนเจอรถปาดไปมา ระหว่างทำงานเจอเพื่อนร่วมงานร้อยแปด ทะเลาะกันตีกันจนบาดเจ็บ ขับรถกลับบ้านเจอรถจี้ตูด…ออกจากบ้านทีเหมือนออกสงคราม (หัวเราะ) ยิ่งในยุคต่อ ๆ ไปที่คนไม่เป็นคน แค่เหยียบเบรกนิดหน่อย เฉี่ยวกันเล็กน้อยก็มีเรื่องกันแล้ว แบบนี้ยิ่งต้อง “ลา” กันก่อนจะไม่มีโอกาสได้ลา

เพราะเหตุนี้พระท่านจึงสวดทุกวันว่า “เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความเจ็บไปได้…เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความตายไปได้” ดังนั้นพอเจ็บจริง ๆ ใจก็ไม่ไหวตาม เพราะเป็นของธรรมดาอย่างที่ตรึกตรองอยู่ทุกวัน

แต่ปัญหาคือ เวลาคนที่เรารักจากไป ไม่ว่าจากเป็นหรือจากตาย เราจะรู้สึกเคว้งคว้าง ไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิตดี

ถึงควรมีตัวสำรองไว้เยอะ ๆ ไง (หัวเราะ) การไม่มีตัวสำรอง ท่านว่าประมาทเกินไป เพราะถ้าไม่มีสำรองไว้ พอเขาหายไป จากไปทุกอย่างก็จบสิ้น

คำว่าสำรองในที่นี้ หมายถึง ให้มีที่พึ่งทางใจสำรองไว้บ้าง อย่างลูก สามี ภรรยา แม้จะพึ่งได้ แต่ก็ต้องมีพลัดพรากเป็นธรรมดา ไม่สามารถพึ่งได้ตลอดไป เราต้องหาที่พึ่งที่แท้จริงสำรองไว้ในใจ เช่น พระรัตนตรัย กรรมฐาน อานาปานสติ สติปัฏฐาน 4 ฯลฯ เมื่อใจมีที่พึ่ง ที่ยึดเหนี่ยวแล้ว ถึงจะพลัดพรากจากคนอื่นสิ่งอื่น ใจก็จะไม่เคว้งคว้าง เหงาเปล่าเปลี่ยว เพราะใจมีหลัก บางคนจึงบอกว่า เมื่อปฏิบัติธรรมแล้ว ไม่มีคำว่า “เหงา” อีกต่อไป

บางคนพอสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่อยู่ เช่น ลูกหลานไม่อยู่ ใจจะเวิ้งว้าง เอ๋อ เหม่อ นั่งจุมปุ๊กอยู่อย่างนั้น ไป ๆ มา ๆ เลยฆ่าตัวตาย เพราะคิดว่าไม่มีใครให้คุณค่าความสำคัญ สามีไม่รักเรา ลูกไม่รัก นี่คือสัตว์โลกที่ไม่ได้สดับพระธรรม ใจมีอวิชชาปรุงไปปรุงมา

ดังนั้นท่านจึงว่า เธอจงมีที่พึ่งเถิด อย่าอยู่โดยไม่มีที่พึ่งเลย เช่น มีลมหายใจเป็นที่พึ่ง เป็นเพื่อนตายที่จะไปส่งเราจนถึงจิตสุดท้ายให้ดี ไม่ให้ส่ายแส่ซ่านไปที่อื่น

ทุกคนมีของดีอยู่ในตัวอยู่แล้ว จงนำมาใช้ เวลาจากเป็นหรือจากตายจะได้ไม่ต้องเจ็บอีกต่อไป

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

เรียบเรียง  ณัฐนภ ตระกลธนภาส

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.