การบวช

ตามหาการบวชที่แท้จริง

ตามหา การบวช ที่แท้จริง

เสียงโห่ร้องดังมาแต่ไกล ขบวนแห่นาครอบโบสถ์สร้างสีสันให้กับวัดได้ไม่น้อย ทุกคนสนุกสนานด้วยเสียงดนตรี สาว ๆ รำและเต้นหน้านาคเพื่อหวังว่าจะได้เกิดเป็นนางฟ้าบนสวรรค์ ขวดสุราตั้งบนโต๊ะจีนในงานฉลองพระใหม่ก็ดี หรือแม้จะถือกรอกปากกันในงานบวชก็ดี สิ่งที่เราเห็นสิ่งที่เราพบเจอจะใช่ตามพระเจตนารมณ์ของพระศาสดาหรือไม่ แล้ว การบวช ที่แท้จริงนั้นควรเป็นอย่างไร

ก่อนที่จะก้าวไปสู่หัวใจสำคัญของการบวชที่แท้จริงเป็นอย่างไร ควรเริ่มจากการเข้าใจความหมายของการบวชเสียก่อน

 

ความหมายของการบวช

บวช หรือ “บรรพชา” มีความหมายง่าย ๆ ว่า เว้น หรือ สละ หมายความว่า สละสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม หรือ ละจากการทำอกุศลกรรม การบวชจึงเป็นการฝึกฝนพัฒนาตนเอง เพื่อขจัดกิเลส ละจากความเห็นแก่ตัวที่หลงใหลอยู่กับกิเลส จะเห็นได้ว่าวิถีชีวิตของพระภิกษุตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาจะไม่เบียดเบียนสิ่งต่าง ๆ เพราะยึดพระวินัยและคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นระเบียบ

พระพุทธเจ้าทรงอุปมาชีวิตของพระภิกษุไว้เหมือนนกที่มีบินโบยบินไปที่ไหนก็ได้ ดังนั้นการบวชจึงเป็นอิสระ… อิสระจากสิ่งผูกมัดคือกิเลส

คำว่า “อุปสมบท” เป็นอีกคำหนึ่งที่ใช้แทนคำว่า บวช มีความหมายว่า การเข้าถึงภาวะที่สูงขึ้นไปคือเข้าสู่ชีวิตในชุมชนของพระภิกษุ เป็นการบวชที่สมบูรณ์เพราะได้รับการยอมรับจากหมู่สงฆ์

 

0

คุณสมบัติของผู้บวช

ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาจะตั้งบัญญัติคุณสมบัติไว้ว่า ผู้บวชต้อง (1) ไม่เป็นคนที่ฆ่าพระอรหันต์  (2) ไม่ทําร้ายภิกษุณี (3) ไม่เป็นคนลักเพศ  (4) ไม่เป็นภิกษุที่ไปเข้ารีตเดียรถีย์ (5) ไม่เป็นภิกษุที่ต้องปาราชิกละเพศไปแล้ว (6) ไม่เป็นภิกษุผู้ทําสังฆเภท (7) ไม่เป็นคนที่ทําร้ายพระศาสดาจนห้อพระโลหิต (8) ไม่ทำร้ายบุพการี และ (9) บัณเฑาะก์ หรือคนสองเพศ ซึ่งเรียกคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ว่า “อภัพบุคคล” อภัพ ตรงกับคำในภาษาไทยว่า “อาภัพ” เป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงพระนิพพานได้

นอกจากกลุ่มคนที่เป็นอภัพบุคคลแล้ว ยังมีกลุ่มคนที่ไม่สามารถบวชได้ มีลักษณะตรง 8 ประการด้วยกันดังนี้

  1. เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เช่น โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู แต่ถ้ารักษาให้หายเป็นปกติแล้วสามารถบวชได้
  2. มีอวัยวะบกพร่อง ได้แก่ มือขาด เท้าขาด ทั้งมือและเท้าขาด หูขาด จมูกขาด (จมูกแหว่ง) ทั้งหูและจมูกขาด คนนิ้วมือนิ้วเท้าขาด คนง่ามมือง่ามเท้าขาด และคนเอ็นขาด
  3. อวัยวะไม่สมประกอบ ได้แก่ คนมีมือเป็นแผ่น คนค่อม คนเตี้ยกว่าปกติ คนคอพอก คนเท้าปุก คนแปลกเพื่อน เช่น มีรูปพรรณสัณฐานสูงเกินไป ต่ำเกินไป ผอมเกินไป อ้วนเกินไป ผิวพรรณดําเกินไป หรือขาวเกินไป เป็นต้น ถ้าแก้ให้หายสามารถบวชได้
  4. พิการ ได้แก่ คนบอดตาใส คนง่อยคือมือหงิก เท้าหงิก นิ้วหงิก คนกระจอก คือมีเท้าหรือขาพิการเดินไม่ปกติ คนตาบอดมืด คนใบ้ คนหูหนวก คนทั้งบอดและใบ้ คนทั้งใบ้ทั้งหูหนวก คนทั้งบอด-ใบ้และหูหนวก
  5. เป็นคนทุรพล ได้แก่ คนแก่ง่อนแง่นที่ทํางานไม่ไหว คนมีอิริยาบถขาด คือคนเปลี้ย เส้นประสาทพิการ
  6. มารดาบิดาไม่อนุญาต คนเป็นราชภัฏ คือข้าราชการที่พระราชาเลี้ยง คนมีหนี้สิน คนเป็นทาส คนจําพวกนี้หากได้รับอนุญาตจากมารดาบิดา พระราชาหรือเจ้าหน้าที่เหนือตน ใช้หนี้เสร็จแล้ว และได้รับการปลดแอดเป็นไทจึงสามารถบวชได้
  7. เคยถูกอาชญาหลวง ได้แก่ คนถูกเฆี่ยนหลังลาย คือมีรอยแผลเป็นที่หลัง คนถูกสักหมายโทษ
  8. คนประทุษร้ายความสงบ ได้แก่ โจรผู้ร้ายที่ขึ้นชื่อโด่งดัง คนโทษหนีเรือนจํา คนผู้ถูกเขียนไว้ คือมีประกาศบอกว่าถ้าพบเข้าที่ใดให้ฆ่าเสีย

ในปัจจุบันจะยึดตามคุณสมบัติ 8 ข้อนี้ รวมไปถึงข้อกำหนดใหม่ เช่น ต้องเป็นชายที่มีอายุ 20 บริบูรณ์ ไม่เป็นเลือดบวก เป็นต้น

 

วิธีบวชในสมัยพุทธกาล

การบวชในสมัยพุทธกาลจะพิเศษกว่าในปัจจุบันเนื่องจากพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่จึงมีวิธีการบวชแบบ “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” คือการบวชกับพระพุทธเจ้าโดยตรง พระพุทธเจ้าจะทรงประกาศขึ้นในหมู่สงฆ์ว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด  ธรรมอันเราผู้ตถาคตกล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด”  ถ้ากรณีที่ ให้สงฆ์ทั้งหลายยอมรับ หากยอมรับผู้นั้นสามารถบวชได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น  2  แบบ คือ (1)  ผู้อุปสมบทสําเร็จอรหัตตผลแล้ว พระพุทธเจ้าจึงทรงประกาศถามความเห็นจากหมู่สงฆ์ (2) ผู้อุปสมบทยังไม่สําเร็จอรหัตตผล

ต่อมาเมื่อผู้อุปสมบทเป็นพระภิกษุมีจำนวนมากขึ้น ได้เดินทางเผยแผ่คำสอนไปในสถานที่ต่าง ๆ พระสาวกสามารถบวชให้กับผู้อุปสมบทแทนพระพุทธเจ้าได้ ดังนั้นการบวชในสมัยพุทธกาลจึงมี 2 แบบคือ บวชกับพระพุทธเจ้าโดยตรง กับ บวชกับพระสาวก หรือเรียกว่า “ติสรณคมนูปสัมปทา”

จะสังเกตได้ว่าการบวชในสมัยพุทธกาล หากบวชกับพระพุทธเจ้าจะไม่มีศาสนพิธี เพียงพระพุทธเจ้าทรงเห็นชอบแล้วประกาศในหมู่สงฆ์ แล้วสงฆ์ทั้งหลายยอมรับถือว่าผู้อุปสมบทได้บวชแล้ว ถ้าหากเป็นการบวชกับพระสาวกจะมีศาสนพิธีหรือขั้นตอนคือ  ผู้บวชปลงผม นุ่งผ่มจีวร ประนมมือขึ้นไหว้ภิกษุทั้งหลาย  แล้วสอนให้ว่าตามไปว่า  “ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง  ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเจ้าเป็นที่พึ่ง  ข้าพเจ้าถึงพระสงฆเจ้าเป็นที่พึ่ง” เป็นภาษาบาลีว่า  “พุทฺธํ  สรณํ  คจฺฉามิ  ธมฺมํ สรณํ  คจฺฉามิ  สงฺฆํ  สรณํ  คจฺฉามิ” เมื่อสําเร็จแล้ว  เป็นอันว่าได้เป็นองค์ภิกษุในพระพุทธศาสนา ต่อมาวิธีบวชแบบนี้นิยมใช้บวชกับสามเณร คือบวชโดยการขานพระไตรสรณคมภ์ คือการเข้าถึงที่พึ่งทั้ง 3

สำหรับการบวชของพระสงฆ์ในปัจจุบันสำหรับชายวัย 20 ปีบริบูรณ์เรียกว่า “ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา” คือการบวชโดยมีพระสงฆ์ครบ 5  รูป  รวมทั้งพระอุปัชฌาย์บวชให้ด้วยการสวดญัตติ 1  ครั้ง  อนุสาวนา  3 ครั้ง  รวมเป็น  4  ครั้ง ในสมัยพุทธกาลพระภิกษุรูปแรกที่บวชแบบนี้คือ พระราธเถระ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์  พระอุบาลีเป็นพระกรรมวาจาจารย์  พระอานนท์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

การบวชในพระพุทธศาสนา เป็นศาสนพิธีเพื่อเปลี่ยนสถานะจากบุคคลธรรมดาที่ยังมีกิเลส ไปสู่บุคคลที่ไร้กิเลส หากยึดในพระธรรมวินัย ประเพณีการบวชเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเถรวาทในปัจจุบันแตกต่างไปจากการบวชในอดีต เกิดจากความเชื่อการที่จะได้เป็นญาติกับพระพุทธศาสนาคือการให้กุลบุตรบวชในพระพุทธศาสนา และความเชื่อเรื่องการบวชเป็นการทดแทนพระคุณของบิดามารดา ทำให้บิดามารดาเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ ทำให้การบวชเพื่อสละกิเลสเพื่อเข้าสู่หนทางแห่งพระนิพพาน กลายเป็นประเพณีแห่งการทดแทนพระคุณ หวังให้บุพการีได้ขึ้นสวรรค์จากอานิสงส์ที่บวชให้ลูก

 

ที่มา :

สอนนาค-สอนฑิต ชีวิตพระ-ชีวิตชาวพุทธ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

การศึกษาการอุปสมบทในพระพุทธศาสนาเถรวาท: ศึกษากรณีตําบลหัวขวาง โดย พระใบฎีกาอินถนอม  มหาวีโร (ศรีหาตา)

การบวชในพระพุทธศาสนา โดย อํานาจ ปักษาสุข

ความหมายของอภัพบุคคล

ภาพ : https://pixabay.com


บทความน่าสนใจ

ลูกทุ่งสาว ต่าย-อรทัย พักงานร้องเพลงเพื่อลาบวช

ปู-อนุวัฒน์ นิวาตวงศ์ พบความสงบจากการบวชที่เมียนมา

True Story : บวชสามที หนีสามหน ติดเหล้า ขอทาน…ลื้อก็ยังเป็นหลานอั๊ว!

การบวช ไม่ใช่หนทางเดียวสู่ มรรคผล นิพพาน ธรรมะจาก ท่าน ว.วชิรเมธี

อานิสงส์ของการบวช – สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.